18 ต.ค. 2020 เวลา 06:30 • ประวัติศาสตร์
สรุปเรื่องราวของ “สงครามเย็น (Cold war)”
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ “สงครามเย็น (Cold war)” กันมาบ้าง หากแต่ก็อาจจะไม่ได้ทราบรายละเอียดหรือเรื่องราวทั้งหมด หรืออาจจะขี้เกียจอ่านข้อมูลยาวๆ
บทความนี้จะสรุปเรื่องราวอย่างกระชับให้ฟังครับ
สงครามเย็น (Cold war) เป็นช่วงเวลาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โดยเริ่มต้นหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และจบลงด้วยความล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สองมหาอำนาจพยายามจะขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายมีอำนาจมากเกินไป และถึงแม้ความขัดแย้งนี้จะไม่ได้บานปลายจนกลายเป็นสงครามที่มีการสู้บกันจริงๆ หากแต่ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งที่เกือบจะกลายเป็นสงครามจริงๆ
1
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้น สองชาตินี้ก็มีมุมมองต่ออนาคตของโลก ต่อระบอบการปกครองที่ถูกต้องต่างกัน
3
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้มีอำนาจเหนือดินแดนส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันออกและได้จัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในหลายๆ ประเทศ
ทางด้านสหรัฐอเมริกา ก็มีความต้องการจะหยุดยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ และได้ช่วยเหลือยุโรปตะวันตก ส่งเสริมให้เป็นอิสระ และสนับสนุนเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ
ชายแดนระหว่างภาคตะวันออกซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ กับภาคตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตย ชายแดนนี้เรียกว่า “ม่านเหล็ก (Iron Curtain)” และตัดตรงสู่ตอนกลางของยุโรป
ม่านเหล็ก
ในช่วงเวลานี้เอง ก็ได้เกิดองค์กรทางการทหารขึ้นมาสององค์กร
ในปีค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้ร่วมกันก่อตั้ง “นาโต้ (Nato)” ส่วนสหภาพโซเวียตก็ได้ตั้ง “สนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact Treaty Organization)” ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการทหารจากประเทศยุโรปตะวันออกหลายๆ ประเทศ และทั้งสองฝ่ายต่างก็หาทางป้องกันตนเอง ในกรณีที่อีกฝ่ายรุกราน
1
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เบอร์ลิน ซึ่งอยู่ในเยอรมนี ได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ
ส่วนของฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาคือเบอร์ลินตะวันตก ส่วนของสหภาพโซเวียตคือเบอร์ลินตะวันออก
สหภาพโซเวียตได้พยายามตัดเส้นทางส่งเสบียงของเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ตอบโต้ด้วยการให้เครื่องบิน บินเข้ามา และโปรยเสบียงลงมาทางอากาศ
เครื่องบินสหรัฐ เตรียมส่งเสบียงให้เบอร์ลินตะวันตก
ในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) ชาวเบอร์ลินตะวันออกหลายคนได้ย้ายไปเบอร์ลินตะวันตก เพื่อหนีจากคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลเบอร์ลินตะวันออก ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้มากนัก
ในช่วงทศวรรษนี้เอง ผู้คนนับพันได้หนีไปสู่อิสรภาพ และในปีค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) รัฐบาลเยอรมันตะวันออกก็ได้สร้างกำแพงล้อมรอบเบอร์ลิน และกำแพงนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โด่งดังของภาวะสงครามเย็น
กำแพงเบอร์ลิน
เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้งได้เกิดขึ้นในคิวบา
ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) “Fidel Castro” ผู้นำกองทัพกบฎ ได้ทำการโค่นล้มรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และในไม่ช้า สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งเสบียงและอาวุธให้คิวบา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์
ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) สหภาพโซเวียตได้ตั้งฐานจรวดมิสไซล์ในคิวบา ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกานั่งไม่ติด
คิวบาอยู่ห่างจากชายฝั่งฟลอริด้าไม่ถึง 150 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่าการที่คิวบามีจรวดมิสไซล์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาอย่างใหญ่หลวง
ภายหลังจากขัดแย้งและหาทางตกลง ในที่สุด สหภาพโซเวียตก็ยอมที่จะถอนอาวุธออกจากคิวบา
ไม่เพียงแค่ในยุโรป แต่อิทธิพลของสงครามเย็นยังแพร่ขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก
สหภาพโซเวียตได้พยายามจะให้ประเทศในเอเชียได้รับแนวคิดคอมมิวนิสต์ โดยในปีค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) “เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong)” ได้เป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ในจีนเป็นคนแรก
เหล่าชาตินิยมในจีนถูกขับไล่ออกจากจีน ไปไต้หวัน และในไม่ช้า จีนก็ได้ขึ้นมาผงาด เคียงคู่กับสหภาพโซเวียตในโลกคอมมิวนิสต์
เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong)
สหภาพโซเวียตได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในเกาหลีเหนือและจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์
ในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) กองทัพเกาหลีเหนือได้รุกรานเกาหลีใต้ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งกำลังเข้ามาช่วย
ภายหลังจากสู้รบกันเป็นเวลากว่าสามปี สงครามเกาหลี (Korean War) ก็ได้จบลง และเกาหลี ก็ได้ถูกแบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้
ในช่วงนี้เอง สหภาพโซเวียตได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในอินโดจีน และภายหลังจากอิทธิพลของฝรั่งเศสในเวียดนามล่มสลายในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) เวียดนามก็ได้ถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยเวียดนามเหนือเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนเวียดนามใต้เป็นประชาธิปไตย
สงครามเกาหลี
แต่เวียดนามเหนือต้องการจะรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น และให้เวียดนามทั้งประเทศปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และในไม่ช้า สหรัฐอเมริกาก็เข้ามาแทรกกลางความขัดแย้งนี้ โดยสหรัฐอเมริกาอยู่ข้างเวียดนามใต้
ภายหลังจากสู้รบกับสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน ในที่สุด สหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้ก็พ่ายแพ้ และพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ยึดครองเวียดนาม
ในช่วงเวลาของสงครามเย็นนี้เอง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เร่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะสามารถส่งไปถล่มดินแดนใดก็ได้ในเวลาเพียงชั่วอึดใจ
ในยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) ทั้งสองชาติมีอาวุธนิวเคลียร์มากพอที่จะล้างโลกได้ทั้งใบ และในเวลาต่อมา ทั้งสองชาติก็ตกลงที่จะเลิกการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และจำกัดจำนวนนิวเคลียร์ที่ครอบครอง
สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้ขยายการแข่งขันเข้าไปยังเรื่องของ “อวกาศ”
ทั้งสองชาติต้องการจะแสดงถึงเทคโนโลยีในการสำรวจอวกาศที่เหนือกว่าอีกฝ่าย
ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นไปโคจรรอบโลก และในปีค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) “Yuri Gagarin” นักบินอวกาศชาวโซเวียต ก็ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ
Yuri Gagarin
การแข่งขันทางอวกาศได้จบลงในปีค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ส่งยาน Apollo 11 ขึ้นไปเหยียบบดวงจันทร์ได้สำเร็จ
Apollo 11 บนดวงจันทร์
สงครามเย็นค่อยๆ เบาบางลงในยุค 80 (พ.ศ.2523-2532)
เมื่อ “Mikhail Gorbachev” ได้ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ก็ได้แสดงเจตนาที่จะเปิดการค้าเสรี ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ
Mikhail Gorbachev
ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกหลายๆ ประเทศเริ่มจะค่อยๆ ล่มสลาย
ในปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) นี้เอง กำแพงเบอร์ลินได้ถูกโค่น และชาวเยอรมันตะวันออกก็สามารถเดินทางไปตะวันตกได้อย่างอิสระเสรี
1
ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) สหภาพโซเวียตได้ล่มสลาย และแตกออกเป็นประเทศอิสระถึง 15 ประเทศ โดยเหลือประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น
เป็นอันสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นอย่างแท้จริง
โฆษณา