18 ต.ค. 2020 เวลา 08:11 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดขนมคู่ “ปาท่องโก๋” จากความคับแค้น แปรเปลี่ยนเป็นความอร่อย
โดย : รัฐพล ศรีวิลาศ (นายโปส)
ภาพ ปาท่องโก๋ แสนอร่อย ที่ทุกคนคุ้นเคย จาก www.thousandreason.com/
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ 'ปาท่องโก๋ ฟีเวอร์' จากกระแสของ
ปาท่องโก๋ สูตรเจ้าจำปีการบินไทย ที่กลายเป็น Talk of The Town เป็นที่กล่าวขวัญถึง ชนิดมาแรงแซงทุกโค้งเลยทีเดียว
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ปาท่องโก๋ นั้นมีสถานะเป็นของกินสุดแสนธรรมดา
สามัญ ที่สามารถเสาะแสวงหากินได้ในทุกตลาด และทุกย่อมย่านหัวมุมถนน
จนกระทั่ง สายการบินแห่งชาติ ได้ฝ่าวิกฤตนำเอา เมนูปาท่องโก๋ สูตรจิ้มสังขยามัน
ม่วงของตัวเอง ที่เคยโบยบินอยู่บนฟากฟ้า เหนือยอดเมฆ แลนดิ้งลงมาเสิร์ฟให้ คนธรรมดาทั่วไป ได้ลองลิ้มชิมกันนี่แหละ
วงการปาท่องโก๋ จึงกลับมาคึกคักโครมครามกันอีกคราว ถึงขนาดมีคลื่นมหาชน
หลั่งไหลกันไปเข้าคิวซื้อ ปาท่องโก๋สูตรเจ้าจำปี กันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง และขายหมดเกลี้ยงกระทะ กันภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
กระแสปาท่องโก๋ฟีเวอร์ ในครั้งนี้เอง ได้จุดประกาย ทำให้ ตำนานจุดกำเนิดของ
ปาท่องโก๋ จากความคับแค้นเมื่อครั้งโบราณของชาวจีน ได้ผุดพรายขึ้นมา จนอยากนำมาปัดฝุ่น บอกเล่าเท้าความ ถึงความสนุกกันอีกครั้งครับ..
แม่ทัพงักฮุย หรือ เย่เฟย วีรบุรุษแห่งแผ่นดินจีน ภาพจาก www.epochtimes.com
เมื่อย้อนธารประวัติศาสตร์ความคับแค้น ไปหาจุดกำเนิดของ ปาท่องโก๋ ซึ่งมีชื่อเรียกดั้งเดิมจริงๆ ว่า ‘อิ่วจาก้วย’ นั้น ก็ต้องทวนเวลากลับไปหา แผ่นดินจีน ในสมัยราช
วงศ์ซ่งใต้ ยุคพระเจ้าซ่งเกาจง (ค.ศ.1127 - 1279) กันเลยทีเดียว
แผ่นดินจีน เมื่อเกือบ 900 ปีที่แล้วเวลานั้น มีวีรบุรุษลือนามผู้หนึ่ง นั่นคือ
‘แม่ทัพงักฮุย’ ข้าราชการทหารผู้ซื่อสัตย์ รักชาติ มากด้วยอุดมการณ์ และเก่งฉกาจในการรบ จนสร้างวีรกรรมการต่อสู้ ขับไล่ข้าศึกชนเผ่าต่างๆ ที่เข้ามารุกรานแผ่นดิน จนแตกพ่ายไปหมดสิ้น รวมไปถึงวีรกรรมการตีทัพราชวงศ์กิม เผ่าแมนจู ที่เข้า
รุกรานจีนจนถอยร่นแตกทัพไป จนทำให้ประชาชนแห่แซ่ซ้องสรรเสริญ แม่ทัพงักฮุย ไปทั่วสารทิศ
1
ภาพเขียนวีรกรรมการรบอันกล้าหาญของ แม่ทัพงักฮุย จาก www.zh.wikipedia.org/wiki/岳飞
ถึงขนาดที่ในยุคสมัยต่อๆ มา แม่ทัพงักฮุย ได้รับการยกย่อง ขนานนามให้เป็นเทพ
เจ้าแห่งความจงรักภักดีต่อองค์ฮ่องเต้ ได้รับพระราชทินนามในทุกรัชกาล แทบจะอยู่เหนือกว่า เทพเจ้ากวนอู ด้วยซ้ำไป แต่ คำกล่าวที่ว่า…
การทำตัวโดดเด่นเหนือเกินใคร ภัยอาจจะมาถึงตัว ก็สามารถใช้ได้กับทุกยุคสมัย
จริงๆ…
เพราะความสามารถ แกล้วกล้าโดดเด่นของ ท่านแม่ทัพใหญ่งักฮุย กลับไปสะกิด
ต่อมความอิจฉาริษยาให้กับ ขุนนางกังฉิน ผู้มีตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดีในเวลานั้นอย่าง ‘ฉินฮุ่ย’ หรือ ฉินข้วย ที่กำลังวางแผนคิดกบฏ ขายชาติ และกระทำทุกวิถี
ทางเพื่อโค่นล้มกองทัพของท่านแม่ทัพ ให้จงได้
ฉินข้วย อัครมหาเสนาบดี ผู้วางแผนกำจัด แม่ทัพงักฮุย ภาพจาก www.zh.wikipedia.org/wiki/秦桧
ในที่สุดความอิจฉา ก็แปรเปลี่ยนเป็นการลงมือกระทำ...
เมื่อภรรยาของฉินฮุ่ยได้เสนอแนะแผนการแก่สามี ให้ยุยงองค์ฮ่องเต้ซ่งเกาจง
ให้เกิดความเคลือบแคลง ระแวงสงสัยในตัวแม่ทัพ ในข้อหาไม่จงรักภักดี
กระทั่งมีการเรียกตัว งักฮุย กลับมาจากแนวหน้าชายแดนอย่างเร่งด่วน เมื่อนั้น
กระบวนการใส่ร้ายป้ายสี คนดี จึงเดินหน้าทำลายล้าง จนท่านแม่ทัพ กลายเป็นผู้มี
มลทินในสายพระเนตรขององค์ฮ่องเต้ และถูกตัดสินประหารชีวิต อย่างน่าสลดใจในที่สุด
หากแต่ความตายของ งักฮุย ซึ่งทำให้ผืนแผ่นดินจีน ต้องสูญสิ้นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ไปอย่างไม่มีวันคืนกลับ ส่งผลให้ เหล่าราษฎรผู้มีใจรักชาติ รักความยุติธรรม บังเกิด
ความคับแค้น ขึ้นมาอย่างเหลืออด เหลือกำลัง
รูปหล่อของ ฉินข้วย และภรรยา หน้าสุสานแม่ทัพงักฮุย ในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง จาก www.kknews.cc/history/9o9522q.html
เมื่อข่าวการสูญเสียท่านแม่ทัพ ล่วงรู้ไปถึงหูประชาชน แต่ไม่อาจกระทำการใดๆ ได้ ชาวประชา จึงพากันบรรเจิดไอเดีย นำเอา แผ่นแป้งสาลีมาปั้น แล้วประกบเป็นคู่เข้าด้วยกันสองชิ้น นำลงไปทอดน้ำมันในกระทะร้อนๆ เป็นสัญลักษณ์ในการสาปแช่ง
สาปส่งขุนนางกังฉิน ฉินฮุ่ย และภรรยา ให้เสมือนว่าเป็น ขนมแป้งทอดคู่
พอทอดจนพองแล้วก็ต้องฉีกให้ขาดออกจากกัน แล้วค่อยเคี้ยวกิน อย่าง
เอร็ดอร่อยสาแก่ใจ ถือเป็นการระบายแค้นต่อคนโฉดชั่วขายชาติ ซึ่งขนมที่ว่านี้ถูก
เรียกว่า “อิ่วจาก้วย” ตามสำเนียงของชาวจีนแต้จิ๋ว หมายถึง น้ำมันทอดฉินข้วย
นั่นเอง
นอกจาก ขนมอิ่วจาก้วย จะถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ผู้คนในยุคสมัยต่อมา ยังได้สร้าง
รูปปั้นของ ฉินข้วย และภรรยา ในท่านั่งคุกเข่าต่อหน้าสุสานของแม่ทัพงักฮุย ที่ริม
ทะเลสาบซีหู เมืองหังโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการสาปแช่ง ให้ผู้คนได้พากันมาถีบกระทืบ กระทั่งถ่มน้ำลายรด รูปปั้นทั้งสอง
กันอย่างไม่ว่างเว้น
แล้วเหตุใดกันที่ อิ่วจาก้วย ได้กลายร่างมาเป็น ปาท่องโก๋ จนทุกวันนี้…
หน้าตาของ ขนมน้ำตาลทรายขาว ปาท่องโก๋ตัวจริง ที่ถูกเข้าใจผิด และลบเลือนหายไปภาพจาก www.reurnthai.com/
ว่ากันว่า คนไทยเรา เริ่มรู้จักกับ ขนมแป้งทอดสัญชาติจีนชนิดนี้เป็นครั้งแรก ก็เมื่อ
ครั้งที่ คนจีนแต้จิ๋ว จากมณฑลกวางตุ้ง ได้อพยพเข้ามาสู่สยาม ในช่วงรัชกาลที่ 6
หากแต่คนจีนในเมืองไทย เหล่าตึ่งหนั่งเกี้ย ก็ยังเรียกขานกันว่า อิ้วจาก้วย หรือ
อิ่วเจี่ยโก้ย กันตามบรรพบุรุษในเมืองจีน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ อิ้วจาก้วย กลายมาเป็น
ปาท่องโก๋ ไปได้นั้น เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิดโดยแท้
1
ความน่ากินของ ปาท่องโก๋ หรือ อิ่วจาก้วย ที่กำลังทอดน้ำมันจนพอง ในกระทะร้อนๆ ภาพจาก www.hatyaifocus.com
ที่แท้แล้ว ปาท่องโก๋ หรือ 'แปะถึ่งโก้' ตัวจริงเสียงจริง ก็คือ ขนมอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า 'ขนมน้ำตาลทรายขาว' ที่ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า รูปสี่เหลี่ยม มีเนื้อคล้ายกับขนมถ้วยฟู มีน้ำตาลโรยอยู่บนหน้า
ซึ่งคนจีนในเมืองไทยสมัยก่อน มักจะทำขายอยู่เคียงคู่กันในรถเข็น กับ อิ่วจาก้วย
ขนมแป้งสาลีทอดนั่นเอง แต่เมื่อคนขายป้องปากตะโกนร้องเรียกลูกค้า ด้วยสรรพสำเนียงภาษาจีนที่ไม่คุ้นหูคนไทย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปขนานใหญ่
หูคนไทยที่ฟังอย่างผิดเพี้ยน เลยทำให้ขนมแป้งทอดน้ำมัน แบบเป็นแท่งประกบติดกันอย่าง อิ่วจาก้วย ต้องกลายชื่อ จำแลงแปลงร่างมาเป็น ‘ปาท่องโก๋’ สืบมาจนถึง
ปัจจุบัน
ส่วน ขนมน้ำตาลทรายขาว ซึ่งเป็น ปาท่องโก๋ ตัวจริงเสียงจริง กลับค่อยๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โดยปริยาย
สูตรความอร่อยของ ปาท่องโก๋ จิ้มนมข้นหวาน ที่หลายคนติดใจ ภาพจาก www.cooking.kapook.com
แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่า ปาท่องโก๋ หรือ อิ่วจาก้วย จะถูกเรียกขานไปจนผิดเพี้ยน
อย่างไรก็ตาม ขนมแป้งทอดชนิดนี้ ก็กลายมาเป็น ของกินเล่นรองท้องแสนอร่อย
และเป็นอมตะ ประจำมื้อเช้า
ที่ถูกเคี้ยวเล่น ทานคู่กับเมนูอีกมากมายสารพัด ทั้งเครื่องดื่มร้อน อย่าง กาแฟ โกโก้ น้ำเต้าหู้ ไปจนถึง โจ๊ก ข้าวต้ม กระทั่งนำมาจิ้มกับเครื่องเคียงอย่าง นมข้นหวาน หรือ สังขยาสูตรต่างๆ ได้อย่างลงตัว รวมไปถึงอีกหนึ่งสูตรท้องถิ่น คือ ปาท่องโก๋จิ้มน้ำ
จิ้มใสรสหวาน สูตรคนเมืองจันทบุรี ที่อร่อยแปลก ฉีกไปอีกสไตล์
จึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเลยว่า จากความคับแค้นฝังหุ่นของชาวจีนโบราณแท้ๆ
ที่ทำให้คนรุ่นหลังได้มี ของกินที่ทรงอิทธิพล และกลายเป็นสัญลักษณ์
คู่โลกยามเช้า ที่ทั้งอร่อย และอิ่มท้องเรื่อยมาครับ...
ปิดท้ายด้วย ปาท่องโก๋ สูตรคนจันท์ ที่ทานคู่กับน้ำจิ้มใสรสหวาน หาทานได้ทุกตลาดในเมืองจันท์ ภาพจาก www.ch3thailandnews.bectero.com/news
โฆษณา