19 ต.ค. 2020 เวลา 11:34 • การเมือง
นี่คือปรากฎการณ์สุดเข้มข้นในรอบหลายสิบปีของประเทศไทย เมื่อกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต่างพร้อมใจออกมาขับไล่รัฐบาลชนิดถึงพริกถึงขิง
ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลเริ่มขยับกลยุทธิ์ทุกอย่างที่ตนมีพื่อหยุดยั้งการชุมนุมครั้งนี้ พร้อมกับข้อโจมตีของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยว่า นี่คือม็อบ "ชังชาติ" และ "ล้มล้างสถาบัน"
แต่แท้จริงแล้ว สถานการณ์ทางความคิดของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร และการชุมนุมในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร บทความนี้จะพาคุณไปหาคำตอบกัน
นับแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหารและเข้ารับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 รวมเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าการบริหารประเทศของนายกกำลังสั่นครอน และถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มตั้งแต่นโยบายของพรรคฝ่ายรัฐบาล "พลังประชารัฐ" ซึ่งผ่านการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว แต่นโยบายที่หาเสียงของฝั่งรัฐบาลกลับถูกแช่แข็ง ไม่ทำจริงอย่างที่หาเสียงไว้สักที เช่น การผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท , ปริญญาตรีเงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะ 1.8 หมื่น , เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี 5 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ยังถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชนหลายในด้าน เช่น ปมนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร การถูกอุ้มหายของผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล การเสนอให้จีนเช่าที่ดิน 99 ปี ปมการตั้งสว.250 เสียงให้มาโหวตตัวเอง การบริหารเศรษฐกิจจน GDP ติดลบ 12.5% แรงงานในระบบล่าสุดถูกเลิกจ้างประมาณ 4.2 แสนคน และอีกสารพัดปมปัญหา คือเรียกได้ว่ายุ่งเหยิงสุดๆ
ซึ่งด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้ประชาชนและ "คนรุ่นใหม่" บางกลุ่มที่กำลังเข้าสู่สังคมในยุคต่อไป เริ่มไม่พอใจและเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น
และนี่จึงกลายเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญของประเทศ เมื่อเด็กยุคเจนใหม่ที่เคยถูกมองว่าเป็นยุคเด็กติดเกม ไม่มีระเบียบวินัย ดื้อ แต่มาในวันนี้กลับพร้อมใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง บนเส้นทางที่ถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกชังชาติ ล้มล้างสถาบัน ทำประเทศชาติเสียหาย อีกทั้งยังถูกภาครัฐสกัดกั้นอยู่ตลอดเวลา
1
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ม็อบของคนรุ่นใหม่ต้องการอะไรกันแน่ มีใครอยู่เบื้องหลัง และจะล้มล้างสถาบันจริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาวิเคราะห์กันเป็นข้อๆ กัน
- ความต้องการของคนรุ่นใหม่ -
จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่เริ่มมองถึงอนาคตของตนเองมากขึ้น ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก พวกเขาเริ่มติดแฮชแท็ก "ถ้าการเมืองดี" ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีอยู่เดิมในประเทศ เช่น ภาษีที่ประชาชนจ่ายคุ้มค่าจริงหรือไม่ ทำไมประเทศไทยยังมีทางเท้าที่ไม่เป็นระเบียบ ทำไมสวัสดิการของไทยยังเข้าถึงได้อย่างไม่เท่าเทียม ทำไมตัวเลขความเหลื่อมล้ำของประเทศถึงสูงลิ่ว และอีกสารพัดคำถามจากคนรุ่นใหม่
1
นั่นทำให้เกิดข้อเรียกร้องและการรวมตัวชุมนุมในลักษณะแฟลชม็อบของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยไปทั่วประเทศ (ในช่วงก่อนโควิดระบาด) เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระจายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในจุฬา เกษตร ศิลปากร มศว. กลุ่มมหาวิทยาลัย 3 พระจอม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วภูมิภาค และมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมไปถึงโรงเรียนมัธยมบางแห่งด้วย เป็นต้น
กระทั่งล่าสุด หลังรัฐบาลเปิดเมืองจากการล็อคดาวน์ การชุมชนก็ได้กลับมากวนใจรัฐบาลอีกครั้ง และครั้งนี้กลุ่มเยาวชนนักศึกษาและประชาชนได้เสนอข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ คือ 1.นายกประยุทธ์ต้องลาออก 2.เปิดสภาแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน และข้อเสนอที่ 3 ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ นั่นคือ "การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์"
- ม็อบคนรุ่นใหม่ล้มล้างสถาบัน ชังชาติ ? -
จากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ นี่เป็นครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์ถูกตั้งคำถามจากเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างตรงไปตรงมา คือปกติในด้านการเมืองการปกครอง หากคุณไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็สามารถตั้งข้อสงสัยได้อย่างเปิดเผย แต่กับสถาบันกษัตริย์ นี่ถือเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เยาวชนกล้าตั้งคำถามแบบนี้บนพื้นที่สาธารณะ
โดยเหตุผลพวกเขามองว่าสถาบันกษัตริย์ควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และสถาบันต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้เสรีโดยไม่ถูกจับ
ซึ่งหากย้อนดูในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามีหลายประเทศ (เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น) ที่ประชาชนสามารถวิจารณ์สถาบันได้อย่างเสรี และตัวสถาบันเองก็ยังคงอยู่เช่นเดิม ไม่ได้มีการล้มล้างแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยมองว่า คนรุ่นใหม่มีเจตนาจะทำร้ายสถาบันอย่างชัดเจน เพราะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงสถาบันในทางเสียหาย การไม่แสดงความเคารพอย่างที่คนรุ่นก่อนๆ ทำกัน การนำรูปภาพที่ไม่เหมาะสมของสถาบันมาเผยแพร่ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ฝั่งตรงข้ามมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และถือเป็นการทำผิดอย่างร้ายแรง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฎการณ์เหล่านี้กลับสะท้อนให้เห็นว่า ความคิดของคนในสังคมกำลังเกิดการ "เปลี่ยนแปลง" คนเจนใหม่เริ่มมีทัศนคติและความเชื่อต่างจากคนเจนก่อนๆ มากขึ้น พวกเขากำลังมองสังคมในมุมที่ต่างกันออกไป
เยาวชนกล้าตั้งคำถามต่อความเชื่อ และ อำนาจเดิม ของสังคมมากขึ้น โดยสำนักข่าว BBC ไทย ได้นำเสนอว่าเยาวชนไทยเริ่มสนใจหนังสือประเภทการเมืองและกษัตริย์ศึกษา ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
แน่นอนบนโลกโซเชียล สถาบันกษัตริย์ได้ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดกรณีการจับกุมผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันผ่านมาตรา 112 รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตว่าบุคคลที่วิจารณ์สถาบันหลายคนถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย เช่น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ , วันเฉลิม เป็นต้น
ดังนั้น ในฝั่งม็อบจึงมองว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้สถาบันยังคงอยู่เช่นเดิมและเป็นจะเป็นผลดีต่อการเมืองการปกครอง ในขณะที่อีกฝั่งมองว่า สถาบันไม่ควรถูกแตะต้องและถูกดูหมิ่นโดยประชาชนหรือคนกลุ่มใดก็ตาม
- ใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้ -
นี่ถือเป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามม็อบนักศึกษาพูดถึงกันอย่างมาก พวกเขาเชื่อว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้ต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังแน่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นักเรียนนักศึกษาจะออกมาชุมนุมอย่างสุจริตตามอุดมการณ์กันขนาดนี้ แต่น่าจะมีการปั่นหัวหรือใช้กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยดังกล่าวยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน โดยเฉพาะท่อน้ำเลี้ยงที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกล เพราะยังไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันได้ เป็นเพียงข้อโจมตีของฝั่งตรงข้ามเท่านั้น
แต่ล่าสุดมีการบริจาคเงินของกลุ่มแฟนคลับเกาหลี-จีน กว่า 1.6 ล้าน เพื่อสนับสนุนม็อบบนทวิตเตอร์ รวมไปถึงช่องทางบริจาคสิ่งของต่างๆ เพื่อสนับสนุนการชุมนุมซึ่งมีการประชาสัมพันธ์บนโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง
- ม็อบผิดกฎหมาย -
เป็นที่รู้กันดีว่าในเวลาปกติ หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับภาครัฐ เราสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี แม้แต่การออกมาชุมนุมบนท้องถนน เพราะถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายตามพรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งให้ประชาชนมีสิทธิชุมนุมได้บนพื้นที่สาธารณะเพียงแค่ขออนุญาตจากสถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ ก่อน
แต่ ณ ขณะนี้ การชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพฯ ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้ว โดยห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
ประกาศนี้เกิดหลังจากการเดินขบวนบนถนนนครสวรรค์ และถนนพิษณุโลก และกรณีม็อบขัดขวาง "ขบวนเสด็จ"
1
อย่างไรก็ตาม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนี้ มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะม็อบชุมนุมอย่างสันติ ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่มีการปิดอาคารหรือทำร้ายข้าวของเสียหาย ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนตาม
โดยล่าสุด อาจารย์นิติศาสตร์ 101 คน จากหลายมหาวิทยาลัยร่วมลงชื่อคัดค้านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากรัฐบาลดังกล่าวแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ครั้งนี้ ฝั่งรัฐบาลเริ่มขยับเกมมากขึ้น เพราะตอนนี้ได้มีคำสั่งกรณีระงับการออกอากาศ หรือระงับทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของ วอยซ์ ทีวี และสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Voice TV, ประชาไท, Prachatai.com, The Reporters, THE STANDARD และเพจเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH
ซึ่งสื่อข้างต้น ล้วนนำเสนอข่าวของผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด แต่ตอนนี้กำลังถูกปิดกั้นจากรัฐบาล แม้แต่การแบนแอปพลิเคชั้นสำหรับติดต่อในการชุมนุมที่ใช้ทั่วโลกอย่าง telegram ก็ถูกสั่งแบนโดยภาครัฐด้วยเช่นกัน
รวมไปถึงแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถูกจับกุมไปหลายรายแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะไม่มีแกนนำคนสำคัญ แต่ก็ยังมีการนัดชุมนุมอยู่เรื่อยๆ ทุกวัน ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานคร แต่ลามไปถึงต่างจังหวัดที่รวมตัวกันแสดงออกทางการเมืองอย่างแพร่หลาย
สุดท้าย สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ในเมื่อฝั่งรัฐบาลยืนยันไม่ลาออก แต่ฝั่งผู้ชุมนุมก็ยืนยันที่จะชุมนุมต่อ จะมีการเปิดพื้นที่เพื่อหาทางออกร่วมกันหรือไม่ หรือจะมีฝ่ายใดยอมเลิกรา เวลาเท่านัันจะเป็นเครื่องพิสูจน์
โฆษณา