20 ต.ค. 2020 เวลา 14:11 • ความคิดเห็น
แด่คุณแม่ยุคGen XและGen Y ที่มีลูกๆของพวกเราเกิดอยู่ในยุคGen Z
ซึ่งเป็นเด็กดิจิทัลของแท้ คือเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี
มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มากๆ
มีความคิดสร้างสรรค์
ที่สำคัญคือชอบความท้าทาย
และนี่คือที่มาของเรื่องนี้
ฉันสังเกตุว่า...เรื่องที่ลูกสาวของฉันชอบโพสต์ในเฟสบุ๊คบ่อยๆช่วงหลังนี้
มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของเยาวชนซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยใกล้เคียงกันกับเธอ
ที่ไปร่วมชุมนุมกันตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ... "เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย"
ดูเหมือนว่าเธอและเพื่อนจะอินกับสถานการณ์นี้มากเป็นพิเศษ จนฉันเอะใจ
จากคนที่ไม่ชอบเสพข่าวหรือสื่ออะไรก็ตามที่ส่งผลทำให้จิตใจเศร้าหมอง เพราะเป็นคนประเภทอ่อนไหวง่ายแต่ลืมยาก
จำเป็นต้องฉีกกฎของตนเองเพื่อเข้าไปร่วมรับรู้เหตุการณ์ชุมนุมในครั้งนี้เพราะลูกสาวคนดี(คนเดียวของฉัน)
ผลคือฉันรู้สึกสลดใจกับภาพที่เห็น
นั่นคือวิธีการสลายม็อบเยาวชนในยุคGen Z
ซึ่งเป็นอนาคตของชาติหรือ ?
คำถามวนอยู่ในหัวพร้อมน้ำตาที่ไหลริน
มันจุกในอกรู้สึกแน่นในหัวใจ แม้ว่าลูกสาวของฉันจะยังไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นในวันนั้น
วันที่16ต.ค.2563 ซึ่งเป็นวันที่3 ของการชุมนุม ที่แยกปทุมวัน
ทำไมถึงรู้สึกเจ็บปวดหัวใจขนาดนี้นะ
เป็นภาพที่สะเทือนใจมากสำหรับผู้ที่เป็นแม่คนแล้วอย่างฉัน "ชีวิตทุกๆชีวิตมีคุณค่า"
หลายชีวิตที่บริสุทธิ์...ไปร่วมชุมนุมกันอยู่ตรงแยกปทุมวัน ในวันนั้น....
เพื่อจะปกป้องอนาคตของตัวเอง
เราให้พวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีเพื่อให้เขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพ
มีความคิดเป็นของตัวเองและพร้อมที่จะนำพาอนาคตของประเทศ ไปสู่ทิศทางที่ดีกว่า ตามความรู้และสติกำลังของพวกเขา
แต่กลับถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เมื่อพวกเขาพบว่า มีคนตกงานเพิ่มขึ้นเกือบทุกวัน เนื่องจากบริษัทและสถานประกอบกิจการรายย่อย ต่างทะยอยกันปิดตัวลง
หลายคนมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่าย หลายคนทำใจได้บ้างแล้ว แต่อีกหลายคนที่ยังไม่รู้จะอยู่ยังไง จะไปทางไหน
การช่วยเหลือจากภาครัฐมีอยู่ก็จริง
แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด มากกว่า
ฉันนึกไปถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17-24พ.ค. ปี2535 หรือที่เรียกกันว่าพฤษภาทมิฬ
ครั้งนั้นได้มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและฉันคือหนึ่งในนั้นด้วย
สาเหตุเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร
นำไปสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กับประชาชนผู้ร่วมชุมนุม
มีผู้เสียชีวิตกว่า500คน บาดเจ็บ1,728 คน
มีผู้ถูกจับกุมที่ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง
ย้อนเวลากลับไปอีก เมื่อวันที่14-15ต.ค.2516 หรือวันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ประท้วงบริเวณพระบรมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรง
โดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
มีผู้เสียชีวิต 77 คนบาดเจ็บ 857 คน
และจำนวนผู้เสียหายอีกมากมาย
ซึ่งพี่ชายคนที่2 ของฉันได้เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนั้นด้วย
ผลที่ได้รับคือพี่ชายของฉันถูกกล่าวหาว่าเป็น "คอมมิวนิสต์"
ครอบครัวของฉันถูกตำหนิจากญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ประมาณว่าเลี้ยงลูกยังไงให้เป็น "คอมมิวนิสต์"
แม่ของฉันเล่าให้ฟังว่าพี่ชายและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในครั้งนั้น ต่างหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อเอาตัวรอด หลายคนหนีเข้าป่ารวมถึงพี่ชายของฉันด้วย
นอกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว สิ่งที่พวกเราได้มา มันคุ้มค่าหรือเปล่า จากเหตุการณ์ชุมนุมในแต่ละครั้ง
แต่มันเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นใช่ไหม ในขั้นตอนสุดท้าย ที่เราจะพึงกระทำได้ เพื่อ
เรียกร้องคำว่า"ประชาธิปไตย"กลับคืนมา
ฉันอ่านความคิดของลูกออก จึงเปิดใจคุยกับลูก แน่นอนเธออยากไปเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมชุมนุมครั้งนี้กับเพื่อนๆของเธอ
ฉันรู้ว่าห้ามลูกไม่ได้แน่ๆ ได้แต่พูดให้เธอฟังว่า...."รู้มั้ย ลูกๆทุกคนเป็นหัวใจของพ่อแม่หากมีอันตรายใดๆเกิดขึ้นกับลูก โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถปกป้องหรือช่วยเหลืออะไร
ได้เลย มันทรมานใจมากนะคะ"
แม่ขอแค่อย่างเดียวได้ไหม ถ้าลูกยืนยันจะไปอยู่ในจุดนั้นจริงๆ.....
"ขอแม่ไปด้วยคนนะ"
ลูกสาวหัวเราะ...."ได้สิคะแม่"
เป็นบทสรุปที่สวยงาม ฉันจะพลาดช่วงเวลาสำคัญแบบนี้ไปได้อย่างไร มันน่าจะอยู่ในสายเลือดนะ...คุณว่ามั้ย ?
ฉันหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ดลใจให้คุณแม่ท่านใดท่านหนึ่งเห็นบทความนี้และได้อ่าน
ฉันอยากบอกคุณแม่ทุกคนว่า....
อย่าเสียเวลาทะเลาะกับลูกของตัวเอง
เพราะแค่ความคิดเห็นต่างกันเลย
ฉันรู้ว่าพวกเรา "เป็นห่วงลูก"
เพราะฉะนั้นอย่าพลาดทุกช่วงเวลาสำคัญ
ที่คุณควรจะได้อยู่กับลูก
ลองพูดคุยกันแบบเปิดใจ แค่บอกเขาว่า...
คุณขอมีส่วนร่วมในทุกๆกิจกรรมของพวกเขาได้ไหม ?
เชื่อว่าคุณจะได้เห็นรอยยิ้มและแววตาที่สดใสของลูกพร้อมบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัว กลับคืนมาอีกครั้ง อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากวิกิพีเดียและรูปภาพจาก BBC NEWS /ไทย (16ตุลาคม2563)
Slide Share (22พฤษภาคม2535)
Hilight Kapook (14ตุลาคม2516)
โฆษณา