21 ต.ค. 2020 เวลา 03:00 • กีฬา
" ตำนานเบลเยี่ยมยุค80s "
ปัจจุบัน ทีมชาติเบลเยี่ยม เต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีมากมาย ผู้เล่นแต่ละคนกลายเป็นเป้าหมายที่สโมสรใหญ่ทั่วยุโรปต้องการคว้าตัวไปร่วมทีม
แรงกิ้งของฟีฟ่า พวกเขากลายเป็นทีมอันดับ 1 ของโลก หากจะยังขาดอยู่ก็คือก้าวสุดท้ายที่จะไปถึงการเป็นแชมป์ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่เป็นทางการให้ได้สักครั้ง
จริงๆ แล้ว เบลเยี่ยม เคยมีทีมที่ดี นักเตะเก่งมากมายในยุค 80s จนถึงปลายยุค 90s
น่าเสียดายที่ตอนพวกเขาได้เป็นเจ้าภาพ ยูโร 2000 รวมกับ ฮอลแลนด์ เป็นช่วงที่เบลเยี่ยม อยู่ในช่วงขาลงพอดี
หลังจากตกรอบแรกใน ยูโร 2000 พวกเขาเลยยกระดับพิมพ์เขียวของการปั้นนักเตะขึ้นมาใหม่ ใช้เวลากว่า 10 ปี กว่านักเตะที่ได้รับการปั้นมาด้วยวิธีการใหม่ จะผลิดอก ออกผล มาอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
ลองย้อนไปในยุค 70s ต่อ80s ยุคที่ทีมชาติเบลเยี่ยมแข็งแกร่ง และสโมสรในเบลเยี่ยมก็แข็งแกร่ง นำมาโดย อันเดอร์เลชท์ และ คลับ บรูช ที่ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศ ฟุตบอลยุโรปหลายครั้งในช่วงนั้น
 
ในช่วงกลางยุค 80s นั้น คลับ บรูช กำลังไล่ล่าแชมป์ลีกเบลเยี่ยมอย่างบ้าคลั่ง โดยตลอด 4 ฤดูกาลตั้งแต่ปี 1984-1988 พวกเขาใช้มิดฟิลด์ตรงกลางเป็นคู่หู "ฟาน เดอ เอลส์ท"
 
หนึ่งคือ เลโอ ฟาน เดอ เอลส์ท คนที่ 2 คือ แฟรงกี้ ฟาน เดอ เอลส์ท แต่ด้วยการอำลาทีมของ เลโอ ที่ย้ายไปเล่นให้เม็ทซ์ ในฝรั่งเศสทำให้ทั้งคู่ไม่ได้เล่นร่วมกันอีกในระดับสโมสร
 
อย่างไรก็ดี ทั้ง เลโอ และ แฟรงกี้ ไม่ได้เป็นพี่น้องกันเลย ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดด้วยซ้ำ แค่เล่นในทีมเดียวกัน อายุใกล้กัน แฟรงกี้ เกิดก่อน เลโอ 1 ปี
แฟรงกี้ นั้น กลายเป็นหนึ่งในนักเตะเบลเยี่ยมที่ลงรับใช้ชาตินานสุดและมากนัดที่สุด ตั้งแต่ปี 1984-1998 รวมทั้งสิ้น 86 นัดด้วยกัน แต่ทำได้แค่ 1 ประตูเท่านั้น
 
แฟรงกี้ ฟาน เดอ เอส์ท เปรียบไปก็คือ ไมเคิ่ล คาร์ริค, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, เนมานย่า มาติช ในยุคใหม่ เป็นกองกลางที่เน้นเกมรับ และอาศัยการเปิดบอลคุมแดนกลางด้วยสายตายอดเยี่ยม
ตอนที่ เปเล่ ลิสต์รายชื่อ Top 125 greatest living footballers หรือ 125 นักเตะยิ่งใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อปี 2004 แฟรงกี้ ฟาน เดอร์ เอลส์ท อยู่ในลิสต์นี้ด้วย
 
เขาเกิดในปี 1961 เริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพนัดแรกกับ โมเลนเบค ในปลายปี 1978/79 ทว่า การเปลี่นตัวกุนซือทำให้เขาไม่ได้ลงสนามอีก กระทั่ง โยฮัน โบสคัมพ์ ตำนานของทีมที่เคยเล่นด้วยกันกับเขา ก้าวมารับตำแหน่งเทรนเนอร์ นั่นคือต้นกำเนิดให้เขาได้ลงสนามและโชว์ศักยภาพของการเป็น มิดฟิลด์ตัวโฮลด์บอล ดึงดูดสายตาทีมใหญ่
 
คลับ บรูช ดึงเขาไปร่วมทีมในปี 1984 ซึ่งตอนนั้นเขาไม่รู้ว่า มันจะเป็นสโมสรสุดท้ายของเขา สโมสรที่ แฟรงกี้ จะกลายเป็นตำนาน
 
ตอนนั้น คลับ บรูช กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ เลโอ คู่หูแดนกลาง ร่วมนามสกุลเดียวกันก็ย้ายมาพร้อมกันจาก รอยั่ล อันท์เวิร์ป
แถมพวกเขายังมีสตาร์ดัง เบอร์ 1 ของเบลเยี่ยมอย่าง ยาน คูเลอมันส์ อยู่ในทีมอีก มิหนำซ้ำ คลับ บรูช ยังคว้า ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง ดาวยิงฝรั่งเศสเข้ามาเสริมเกมรุกอย่างน่าตื่นเต้น
 
แม้ว่าแชมป์ลีกจะยังไม่มา ทีมที่สดห้าวในตอนนั้นก็ซิวแชมป์ เบลเยี่ยม คัพ 1986 ก่อนที ปาแป็ง จะเบื่อและย้ายกลับบ้านเกิดไปสร้างชื่อกับ โอลิมปิก มาร์กเซย
อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นที่ดาวเตะต่างชาติย้ายออกไป ก็ทำให้เกิดประกายความหวังใหม่ นักเตะหนุ่มของเบลเยี่ยม ค่อยๆ แกร่งขึ้นโดยมี แฟรงกี้ เป็นหัวใจ
 
ในปี 1988 คลับ บรูช ก็กลับมาทวงแชมป์ลีกคืนได้สำเร็จ โดยบทบาทของ แฟรงกี้ ไม่ได้หวือหวา เขาทำงานปิดทองหลังพระอยู่กลางสนาม แต่ทุกคนรู้ดีถึงความสำคัญของเขา โดยเฉพาะการปัดกวาดอันตรายก่อนถึงแนวรับ และการเข้าตัดบอลในจังหวะสำคัญได้แม่นยำเสมอ เซนส์ในเกมรับของเขาไม่เป็นรองใคร รวมถึงการเป็นคนเปิดบอลแม่นยำจากกลางสนาม
 
อีก 2 ปีต่อมา คลับ บรูช ทำดับเบิลแชมป์ และทั้งฟอร์มทั้งความเป็นผู้นำของเขาทำให้ แฟรงกี้ ฟาน เดอ เอลส์ท รับรางวัลนักเตะแห่งปี ถือว่ายากมากสำหรับนักเตะในตำแหน่งของเขาหากจะได้รับ
 
ในปี 1992 ยาน คูเลอมันส์ แขวนสตั๊ด ปลอกแขนจึงตกมาอยู่กับแฟรงกี้ ที่รับภาระหนัก เนื่องจากในช่วงเริ่มเข้าสู่ต้นทศวรรษที่ 90s ตัวหลักหลายรายอำลาทีม เช่น มาร์ก เดอกรีส ไปอันเดอร์เลชท์
อย่างไรก็ดี คลับ บรูช ยังมีผู้เล่นเลือดใหม่เข้ามาเสริมทัพได้อย่างยอดเยี่ยมโดยมี แฟรงกี้ เป็นศูนย์กลางของทีม ไม่ว่าจะเป็น เกิร์ต แวร์เฮเย่น, ดาเนียล อโมคาชี่, ลอเรนโซ่ สตาเลน, พอล โอค่อน, มาริโอ สตานิช
ภายใต้การนำของ แฟรงกี้ คลับ บรูช ยังคว้าแชมป์เบลเยี่ยม โปร ลีก ได้ 2 สมัย และ เบลเยี่ยม คัพ อีก 2 สมัย และเบลเยี่ยม ซูเปอร์ คัพ อีก 3 สมัย
ส่วนไฮไลท์ในนามทีมชาติ แฟรงกี้ ฟาน เดอ เอลส์ท เป็นผู้เล่นที่ติดทีมชาติไปลุยฟุตบอลโลกถึง 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มใน เม็กซิโก 1986, อิตาเลีย 1990, ยูเอสเอ 1994 และ ฟร้องซ์ 98 ซึ่งในหนสุดท้ายที่ฝรั่งเศส เขาอายุ 37 ปีแล้ว และประกาศเลิกเล่นทีมชาติหลังทัวร์นาเมนต์นั้น
แฟรงกี้ ค้าแข้งต่ออีก 1 ปี และแขวนสตั๊ดไปในปี 1999 ด้วยวัย 38 ปี ลงสนามให้ คลับ บรูช ไปกว่า 500นัด เล่นให้ทีมชาติเบลเยี่ยมไปถึง 86 นัด
*****************************
อ่านบทความย้อนหลัง
" แอฟริกันคนแรกในเซเรีย อา " : นักเตะแอฟริกันคนแรกที่ได้บัลลง ดอร์ อย่าง จอร์จ เวอาห์ เล่นให้กับ เอซี มิลาน และสโมสรดังของอิตาลีต่างมีผู้เล่นจากกาฬทวีปมากมายเคยมาค้าแข้ง แต่นี่คือเรื่องราวของแข้งแอฟริกันคนแรก ที่แผ้วถางทางบนเวที กัลโช่ เซเรีย อา
" โรงละครแห่งความฝันของ เซร์คิโอ ตอร์เรส " : จากนักเตะสมัครเล่นในอาร์เจนติน่า หอบความฝันข้ามน้ำข้ามทะเลมาอังกฤษ ต้องอดทนเพื่อต้องการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ไม่ได้สัมผัสแชมป์แต่จุดมุ่งหมายปลายทางมันเรียบง่ายกว่านั้น และเรื่องราวที่คล้ายกับบทภาพยนตร์นี้ อาจทำให้คุณผู้อ่านเกิดรอยยิ้ม
" โชคลางก่อนเกม " : นักเตะหลายคนต้องทำบางอย่างก่อนลงสนาม โดยเชื่อว่าจะทำให้มีผลการแข่งขันที่ดี แม้ฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่ในเมื่อมันได้ผลใครจะแคร์
" ดีลวันสุดท้ายของเบอร์บาตอฟ " : เดดไลน์ตลาดหน้าร้อนปีนี้ แมนฯ ยูไนเต็ด วิ่งวุ่น แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาต้องออกแรงเหนื่อยในวันสุดท้ายก่อนที่ร้านค้าจะปิดตัวลง ย้อนไปดูหนึ่งในปฏิบัติการช่วงชิงเป้าหมายสุดคลาสสิกเมื่อปี 2008
โฆษณา