21 ต.ค. 2020 เวลา 07:48 • อาหาร
จากเซียงจาถึงถังหูลู่ - ตำนานขนมเลื่องชื่อของจีน
ขนมเซียงจา
วันก่อนน้องชายเอาขนมที่เคยชอบสมัยเด็กมาให้ห่อใหญ่ เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคน
คงเคยลิ้มรสชาติของมันสมัยเด็ก ๆ โดยส่วนตัวเราเรียกมันว่า “หนมเหรียญ” เพราะ
รูปร่างมันกลม ๆ แบน ๆ สีน้ำตาลแดงขนาดเท่าเหรียญห้า ขนมจะห่อด้วยกระดาษสี
เหลืองกับชมพูแป๊ด ! ดูเผิน ๆ คล้ายห่อประทัดหรือถ่านไฟฉายมากกว่าที่จะเป็นขนมที่กินได้จริง ๆ จำได้ว่าเมื่อตอนเด็กเราชอบเอามาอมเล่นทีล่ะแผ่น รสชาติมันออก
หวานอมเปรี้ยวอร่อยลิ้นนักแล...
ผลเซียงจา (Hawthorn)
ขนมชนิดนี้มาจากประเทศจีน เป็นขนมที่เด็กยุค 70 - 80 น่าจะรู้จักกันดี มันทำมาจากผลไม้ตะกูลเบอร์รี่ชนิดหนึ่ง จีนเรียกว่า “เซียงจา / ซานจา” ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า “Hawthorn Berry” ภาษาไทยที่ค้นได้ คือ พุทราป่า
(อิหยังว่ะ ! ระหว่างเบอร์รี่กับพุทราตกลงเป็นอะไรกันแน่ ?) ช่างมันเถอะ เอาเป็นว่ามันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งก็แล้วกัน ดังนั้นเจ้าขนมจึงใช้ชื่อว่า “เซียงจา / ซานจา” ชื่อเดียวกับผลไม้ที่เป็นส่วนผสมหลักของขนมชนิดนี้
ในปี พ.ศ. 2557 มีข่าวน่าตกใจเกิดขึ้นเกี่ยวกับขนมเซียงจา สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารของจีนสั่งห้ามจำหน่ายขนมนี้บางยี่ห้อ เพราะพบว่ามันใส่สีมากเกินไปจนอาจทำให้ก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้มันยังเคยถูกแบนในอเมริกาด้วย เนื่องจากเหตุผลเดียวกัน แต่ผ่านไปได้ไม่กี่ปีก็เห็นว่าเอากลับมาขายกันใหม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่าแฟนคลับของเซียงจานี่เหนียวแน่นดีจริง ๆ
เซียงจาตากแห้ง
เซียงจาตัวที่เป็นผลไม้ ถือว่ามีสรรพคุณทางยาตามการแพทย์แผนจีน มีสรรพคุณ
ช่วยย่อยสลายไขมัน ลดไขมันในเลือด ช่วยในการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เวลาจะนำมาใช้ทางยาก็จะเอามาหันเป็นแว่น ๆ ตากแดดให้แห้ง เอามาชงกินกับน้ำคล้ายน้ำชา
นอกจากจะเอามาตากแห้งทำเป็นยา ยังมีการเอามาทำเป็นของหวาน ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อ
มาคอนิยายจีนหลายคนต้องร้องอ๋อ ! ขนมยอดฮิตอีกชนิดหนึ่งที่ทำมาจากผลเซียง
จา เรียกว่า “ถังหูลู่”
ถังหูลู่
ขนมถังหูลู่ ก็คือการเอาผลเซียงจามาเสียบไม้แล้วเคลือบน้ำเชื่อม ถังหูลู่ถือว่าเป็นขนมในตำนานของจีนมีประวัติยาวนานไปถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง หรือ ซ้อง เลยที่เดียว (ค.ศ. 960 - 1279)
เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยจักรพรรดิกวงจง มีพระสนมโปรดนางหนึ่งเกิดเป็นโรคเบื่ออาหาร ร่างกายก็เลยผอมแห้งทรุดโทรม หมอหลวงหลายคนพยายามมาช่วยกันรักษาอาการก็ไม่ดีขึ้น จนวันนึงมีหมอจากนอกวังอาสาเข้ามารักษาอาการของพระสนม เค้าแนะนำให้ห้องเครื่องนำผลเซียงจามาเคี่ยวกับน้ำเชื่อมให้พระสนมเสวยก่อนมื้ออาหารทุก ๆ มื้อ ๆ ล่ะ
4 -5 ลูก พอห้องเครื่องทำตามที่หมอนอกวังบอก อาการของพระสนมก็ดีขึ้นตามลำดับ กลับมาเสวยได้ตามปกติ หลังจากนั้นมาการเอาผลเซียงจามาเคลือบน้ำเชื่อมก็กลายเป็นที่นิยม แล้วก็เลยแพร่หลายจากวังสู่ชาวบ้านร้านตลาด กลายเป็นขนมที่ชาวบ้านเอามาเสียบไม้ขายเป็นของกินเล่นของชาวบ้านทั่วไป
คำว่า “ถังหูลู่” นั้นแปลตามตัวอักษรได้ความหมายว่า “น้ำเต้าเคลือบน้ำตาล” เพราะ
ในสมัยก่อนเวลาที่เค้าเอาผลเซียงจามาเสียบไม้ขายเค้าจะเสียบแค่ 2 ลูก โดยเอาลูกใหญ่ไว้ข้างล่างลูกเล็กไว้ข้างบน ทำให้ดูเผิน ๆ คล้ายผลน้ำเต้า (ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า “หูลู่” ) เสร็จแล้วค่อยเอาไปจุ่มในน้ำเชื่อมแล้วผึ่งให้แห้ง จะทำให้ได้ขนมที่มีเปลือกนอกสวยมันวาว รสชาติออกเปรี้ยวอมหวานถือเป็นขนมหวาน หรือ ของกินเล่นของชาวบ้านทั่วไป
คำว่า “หูลู่” เป็นคำที่ฟ้องเสียงกับคำเรียกเทพเจ้า ฮก ล๊ก ซิ้ว ของชาวจีน ดังนั้นถังหูลู่จึงถือว่าเป็นขนมมงคลอีกอย่างของชาวจีนด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ จาก “หนมเหรียญ” หรือ เซียงจาที่เราคุ้นเคยในวัยเด็ก พอสืบไปสืบมาทำให้รู้เรื่องราวคุณสมบัติทางยา ตลอดจนเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ที่เป็นตำนานของขนมอีกชนิดหนึ่ง ไม่น่าเชื่อเลยว่าขนมห่อเล็ก ๆ ห่อหนึ่งจะอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวมากมายขนาดนี้ อย่างนี้น่าจะเข้ากับสำนวนไทยที่ว่า “เล็กพริกขี้หนูได้ไหม
เอ่ย ? “
แหล่งข้อมูล
ซานจา ขนม หรือ ผลไม้
เรื่องราวขนมเจียงซา จาก เพจเจาะเวลาหาอดีต
แหล่งรูปภาพ
#ซานจา #เซียงจา #ขนมซานจา #ขนมเซียงจา #ถังหูลู่ #ขนมในตำนานของจีน
โฆษณา