21 ต.ค. 2020 เวลา 13:29 • ธุรกิจ
ผาปัง ...
จากชุมชนไร้ความหวัง ...
สู่ชุมชนที่มีภาพอนาคตสุดปัง
ชุมชนผาปัง แห่งตำบลแม่พริก จังหวัดลำปาง กำลังเปลี่ยนจากชุมชนที่ไร้โอกาสและขาดทางเลือกในอดีต ไปสู่ชุมชนที่มีอนาคต มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของชุมชน “สุขภาพดี มีตังค์ ยั่งยืน”
บทความนี้จะเล่าให้ฟังว่าชุมชนนี้สร้างภาพอนาคตของตัวเองขึ้นมาอย่างไร และสามารถขับเคลื่อนชุมชนสู่ภาพอนาคตนั้นได้อย่างไร
ผาปังเป็นชุมชนที่มีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 980 คนโดยร้อยละ 58 เป็นผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่อุดมสมบูรณ์นักสำหรับการเกษตร เนื่องจากเป็นที่ดอนและค่อนข้างแห้งแล้ง เป็นชุมชนที่อยู่เขตชายป่าห่างไกลจากเมือง
ด้วยสภาพที่ดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ชุมชนรุ่นแรกส่วนใหญ่จึงอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำการเกษตรในพื้นที่อื่น ชุมชนรุ่นที่สองถูกส่งให้ออกไปเรียนหนังสือนอกพื้นที่ มีการสร้างครอบครัวใหม่และตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่อื่นๆ ชุมชนรุ่นที่สามซึ่งเป็นกำลังแรงงานและเยาวชนในปัจจุบันจึงเริ่มไม่รู้จักและขาดความผูกพันกับพื้นที่
ชุมชนผาปังจึงเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ มีบ้านที่ถูกทิ้งรกร้างมากขึ้น และค่อนข้างไร้โอกาสในอาชีพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทิศทางการพัฒนาสำหรับอนาคต
ผู้สูงอายุในชุมชนผาปังที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจจัดเลี้ยงของชุมชน
การเปลี่ยนผ่านจากชุมชนที่ไร้ความหวังสู่ชุมชนที่เต็มไปด้วยความหวังและพลัง เริ่มต้นจากกลุ่มคนรุ่นที่สองของชุมชนที่มีปฏิญญาร่วมกันว่าจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตน
ชาวผาปังรุ่นสองเหล่านั้นได้ตัดสินใจลาออกจากงานในช่วงที่ตัวเองมีอายุประมาณ 40-50 ปี นำทั้งความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางกลับมาใช้เพื่อสร้างอนาคตให้กับบ้านเกิดของตัวเอง
การพัฒนาผาปังของกลุ่มคนรุ่นที่สองมีฐานคิดที่สำคัญ คือการเน้นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นหลัง การเลือกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเริ่มต้นจากการสำรวจ วิเคราะห์ และทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาด ก่อนทำการผลิตจริง หลีกเลี่ยงการผลิตสินค้าที่ยังไม่ทราบความต้องการที่ชัดเจนของตลาดหรือขาดความเป็นไปได้ทางการตลาด
ผาปังเป็นชุมชนที่ราบสูงที่ติดกับเขตป่า
นอกจากนี้ชุมชนผาปังยังมีการปรับรูปแบบการบริหารชุมชนเพื่อไม่ให้ติดกับดักของการบริหารการพัฒนาชุมชน 3 ประการคือ
ประการแรก การเปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” คือ การเปลี่ยนจากการทำงานตามโครงการต่างๆที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดทิศทางและกิจกรรมในแต่ละปีงบประมาณเป็นการดำเนินการตามแนวทางและทิศทางระยะยาวที่ชุมชนรวมพลังกันขับเคลื่อน
ประการที่สอง การเปลี่ยน “หน้าที่” เป็น “น่าทำ” คือการเปลี่ยนจากกิจกรรมที่ชุมชนต้องทำตามหน้าที่หรือกิจกรรมเดิมๆที่ทำอยู่โดยอาจไม่เข้าใจถึงเป้าหมายและผลลัพธ์ มีมูลค่าเพิ่มที่ไม่สูง เป็นกิจกรรมหรืองานที่ชุมชนมีความสนใจ มีความถนัด มีความชำนาญ มีความภาคภูมิใจ และมีคุณค่าสูง
บริเวณทางเข้าศูนย์เรียนรู้ของชุมชนผาปัง
และประการที่สาม การเปลี่ยน “กิจกรรม” เป็น “กิจการ” คือการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาที่เน้นทำกิจกรรมตามโครงการต่างๆเป็นครั้งคราวเป็นการบริหารกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆในรูปแบบกิจการเพื่อให้สมาชิกชุมชนมีฐานคิดความเป็นผู้ประกอบการหรือ Entrepreneurial Mindset และคำนึงถึงความยั่งยืนทางธุรกิจของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆที่ตนรับผิดชอบ
สาขาเศรษฐกิจแรกที่ชุมชนผาปังให้ความสำคัญเป็นอนาคตของชาวผาปัง คือ ไม้ไผ่ โดยมีการสร้างคุณค่าจากไม่ไผ่ผ่านกิจการที่สมาชิกกลุ่มต่างๆของชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ เช่น การเพาะกล้าไม้ไผ่ การตัดกิ่งไผ่เพื่อนำมาเผาเป็นถ่านที่ให้พลังงานสูง การผลิตระบบเตาเผาถ่านกิ่งไผ่ให้เป็นพลังงานแก๊ส PBG (Phapung Bamboo Gas) เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงสะอาด การผลิตถ่านไม้ไผ่ประเภทต่างๆ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านไม่ไผ่
คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง กับเครื่องสูบน้ำการเกษตรที่ใช้เชื้อเพลิงจากแก๊สที่ได้จากการเผาถ่านไม้ไผ่
ไม่ไผ่ ถูกเลือกเป็นเศรษฐกิจแห่งอนาคตของชุมชนผาปัง เนื่องจาก
(1) เป็นพืชที่ให้ค่าพลังงานสูงเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ
(2) ถ่าน(กิ่ง)ไม่ไผ่ที่ผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูงสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอาง ยารักษาโรค เป็นต้น
ตัวอย่างการสร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้ไผ่และถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูง
(3) เป็นพลังงานที่สะอาดปราศจากมลพิษ
(4) มีความยั่งยืนทางธุรกิจ เนื่องจากไม้ไผ่เป็นพืชโตเร็วและชุมชนมีปฏิญญาว่าจะไม่ตัดไม้ไผ่ในช่วงที่ยังสามารถแตกหน่อได้คือในช่วง 3 ปีแรก และการลงทุนปลูกไม้ไผ่กระจายตามพื้นที่ต่างๆในชุมชนที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น
(5) ชุมชนและสังคมมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้นเนื่องจากไม้ไผ่เป็นพืชที่ปลูกได้ในพื้นที่และในประเทศ ทำให้ชุมชนมีพลังงานใช้ได้อย่างต่อเนื่องแม้ในยามที่มีภัยพิบัติ ในยามที่ราคาพลังงานมีความผันผวน และในยามที่แหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านระงับการส่งมอบให้กับประเทศไทย
ระบบการผลิตและบริหารไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างแหล่งผลิตจากแสงอาทิตย์และแหล่งผลิตจากก๊าซที่ได้จากการเผาถ่านไม้ไผ่
สภาพแวดล้อมในชุมชนที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพดีอย่างยั่งยืนของสมาชิกชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถูกออกแบบและพัฒนาผ่านกูศโลบายและกลยุทธ์ที่หลากหลาย
เช่น การไม่มีร้านสะดวกซื้อหรือตลาดสดในพื้นที่ชุมชน ทำให้ชุมชนไม่จำเป็นต้องมีถังขยะ รถขยะ และไม่มีขยะตกค้างในพื้นที่ การมีปฏิญญาร่วมกันในการรักษาผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมถึงการไม่ใช้สารเคมีในการเกษตร ระบบการตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมของบ้านแต่ละหลังซึ่งมีการปักธงแดงสำหรับบ้านหลังที่มีการใช้สารเคมี หรือมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของชุมชนและปลดธงแดงเมื่อผ่านมาตรฐานดังกล่าว การแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่ป่าชุมชนที่ชุมชนร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืน
ส่วนป่าไผ่ : แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งผลิตไผ่ที่ยั่งยืนของชุมชน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดภาพอนาคตที่ชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมายของชุมชน การขับเคลื่อนที่เป็นระบบบนฐานการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีของชุมชนในหลายประการ
อาทิเช่น อายุขัยที่ยืนยาวของประชากรในชุมชน (หญิง 83 ปี ชาย 80 ปี) การที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันในโซ่อุปทาน (เช่น ธุรกิจที่พัก ธุรกิจจัดเลี้ยง ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจทอผ้า เป็นต้น) การเป็นชุมชนเกษตรออแกนิคที่ปราศจากสารเคมีและขยะตกค้าง การเพิ่มขึ้นของแรงงานกลับถิ่น ตำแหน่งงาน และโอกาสทางธุรกิจสำหรับเยาวชนในพื้นที่ การเป็นจุดหมายที่ต้องการมาพำนักของผู้สูงอายุจากต่างประเทศ การเป็นจุดหมายที่เยาวชนจากต่างประเทศต้องการมาพำนักและเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชุมชน การเป็นชุมชนที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การมีสภาพแวดล้อมทางนิเวศที่สมบูรณ์และสภาพอากาศที่บริสุทธิ์
กลุ่มเยาวชนจากสหรัฐอเมริการและออสเตรเลียที่มาพำนักเพื่อเรียนรู้ที่ชุมชนผาปังทุกปี (ขอบคุณภาพจาก https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_1565795 )
ชุมชนผาปังจึงเป็นตัวอย่างของชุมชนเจ้าของพื้นที่ที่สามารถจัดทำภาพอนาคตที่ปรารถนาของชุมชนเอง กำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาสู่เป้าหมายในอนาคตด้วยตัวเอง
การกลับคืนถิ่นของบุคลากรของชุมชนภายหลังจากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีประสบการณ์สูง มีเครือข่ายที่กว้างขวาง และมีจิตสำนึกเพื่อการพัฒนาบ้านเกิด เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างโอกาสการพัฒนาให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
FuturISt@NIDA
สถาบันบัณฑฺิตพัฒนบริหารศาสตร์
โฆษณา