24 ต.ค. 2020 เวลา 00:23 • สุขภาพ
24 ตุลาคม วันโปลิโอโลก
โปลิโอหมดไปจากโลกนี้แล้ว??นี่ ยังต้องมีวันโปลิโออีกเหรอ เพื่อนคนหนึ่งพูดหลังจากได้พูดคุยกันเรื่องโรคโปลิโอ
1
ผู้ติดเชื้อโปลิโอ ในประเทศเซียรา ลีโอน
ทราบหรือไม่ว่าขณะที่ปัจจุบันมีการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 และทำให้มีการติดเชื้อไปทั่วโลกแล้ว 42,418,340 คน เสียชีวิต 1,148,057 คน ใน 215 ประเทศ (24 ตค. 2563 ) ภายในห้วงเวลาสั้นๆตั้งแต่ปลายธันวาคม ค.ศ.2019 นั้นมนุษยชาติ ก็ยังอยู่ในสงครามต่อสู้กับเชื้อไวรัส อีกสายพันธุ์หนึ่งที่คุกคามความอยู่รอดของมนุษย์อยู่อย่างเข้มข้น ยาวนาน มากกว่า 100ปี เช่นเดียวกัน
ไวรัสโรคอะไรหรือ จับฉ่ายจะขออนุญาตเล่าเรียงเรื่องราวให้ฟัง
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเมื่อ 126 ปีก่อน
มีรายงานการโรคๆหนึ่งในปี ค.ศ.1894 ที่ เมืองVermont สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิต 18 รายและพิการขาลีบ อีก 132 คน ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร หลังจากนั้นโรคนี้ก็กระจายไปทั่วโลก ต่อมาจึงทราบว่าโรคนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ ทำให้เกิดโรคดังกล่าวเมื่อรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของมนุษยชาติกับเชื้อโรคนี้เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ มนุษย์
โปลิโอ โรคที่คนรุ่นอายุ40-50ปี. ขึ้นไปคงเคยได้เห็นผู้ติดเชื้อจริงๆแต่คนรุ่นหลังไม่มีโอกาศได้เห็นผู้ป่วยรายใหม่ เป็นเพียงจากรูปภาพว่าโรคนี้เป็นอย่างไรหรือผู้เคยติดเชื้อแล้วมีความพิการถาวรติดตัวหลงเหลืออยู่ให้เห็นบ้าง เพราะโรคนี้กำลังจะหมดไปจากโลกใบนี้ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ประเทศที่ยังมีรายงายโรคโปลิโออยู่เท่านั้น
เบื้องหลังการต่อสู้กับไวรัสโปลิโอกันมาอย่างหนักหน่วง มียุทธศาสตร์ เขาทำกันอย่างไร ทำอะไรกันไปบ้างใช้ทรัพยากรความรู้ความสามารถ ความร่วมมือกันทั้งโลก อย่างไร มาติดตามกันต่อไป
24 ตุลาคม. ของทุกปี. ถูกประกาศเป็นวันโปลิโอโลก เพื่อเป็นเกียรติแก่ นักวิทยาศาสตร์(virologist)ชาวอเมริกัน ชื่อ Jonas Edward Salk ซึ่งได้พัฒนาวัคซีน โปลิโอสำเร็จเป็นคนแรกในปีคศ. 1955 หลังจากใช้เวลาทุ่มเทศึกษาถึง7ปี
( เอกสารอ้างอิง:ใช้วันที่24ตุลาคมเพื่อเป็นเกียรติเนื่องจากเป็นวันเกิดของ Jonas Salk แต่วันเกิดจริงของDr. Jonas Edward Salkคือวัน ที่28 ตุลาคม 1914) โดยวัคซีนที่Salk ผลิตได้นั้นเป็นวัคซีนชนิดฉีด ที่ทำจากเชื้อโปลิโอที่ตายแล้ว
Dr. Jonas Edward Salk ผู้พัฒนาวัคซีน โปลิโอ ครั้งแรกของโลก ค.ศ. 1955 เป็นวัคซีน ชนิดฉีด(IPV)
ก่อนที่จะมีการค้นพบวัค ซีนในสมัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประชากรทั่วทั้งโลกมีความตื่นตระหนกและกลัวกับปรากฏการหนึ่งที่ทำให้มีการเสียชีวิตและพิการเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวสิ่งที่ชาวอเมริกันกลัวมากที่สุดรองลงมาจากระเบิดปรมาณูคือโปลิโอ
โปลิโอคืออะไร
โปลิโอคือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ สาย Enterovirus(ต่างจากCOVID-19 ที่เป็นcorona virus)สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วผ่านทางการปนเปื้อนน้ำและอาหาร ติดเชื้อไปที่ระบบประสาทโดยเฉพาะไขสันหลังถูกทำลายกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจหายใจเองไม่ได้ขาอ่อนแรง พิการหรือเสียชีวิต
ข้อเท็จจริงของโปลิโอ
_เกิดจากเชื้อไวรัส โปลิโอ(poliovirus ) มี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Type 1 (WPV1),Type 2 (WPV2)และType 3.(WPV3)ทำให้เกิดอาการของโรคเหมือนกัน แต่มีพันธุกรรมที่ต่างกัน
_มักจะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5ปี
_รักษาไม่หาย แต่ป้องกันได้โดยวัคซีนโปลิโอ ซึ่งปัจจุบันได้มีการให้วัคซีนโปลิโอกับเด็กทั่วโลกกว่า2500 ล้านคน และจากการติดตามศึกษาในชาว เอสกิโม พบว่ามีภูมิคุ้มกันตรวจพบนานถึง40ปี
_ปัจจุบันเหลือประเทศที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ 2ประเทศคือ ปากีสถานและอัฟกานิสถาน
_ปัจจุบัน สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อโปลิโอในโลกนี้ไปได้กว่า 99.9% นับแต่เริ่มมีการรณรงค์ให้วัคซีนมาตั้งแต่ ปี 1988
_เด็กจะปลอดภัยจากโรคโปลิโออย่างถาวรถ้าเราสามารถกำจัดโปลิโอให้หมดไปจากโลกนี้ได้
หลังจากที่ได้รู้จักโรคนี้ในยุคสมัยใหม่แล้ว จากการศึกษา พบว่าประวัติศาสตร์เส้นทางโรคโปลิโอ นั้นเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ยุค โบราณ มีหลักฐานบันทึกมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ ช่วง 1570-1342 BC จากภาพวาดและหลักฐานจากมัมมี่
ค.ศ.1894 รายงานการระบาดครั้งแรก ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ค.ศ.1905 แพทย์ชาวสวีเดน ชื่อ Ivan Wickman รายงานว่าเป็นโรคที่สามารคติดต่อกันได้ระหว่างคนสู่คน
ค.ศ.1909 แพทย์ชาวออสเตรีย 2คน ชื่อ Karl LandsteinerและErwin Popper ได้พบว่าสาเหตุของการเกิดโรคเกิดจากเชื้อไวรัส และสามารถแยกเชื้อไวรัส ได้เป็นครั้งแรก
ค.ศ.1916 เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโปลิโอ ในอเมริกามีผู้เสียชีวิตกว่า2000 คน พิการมากกว่า 6000 คน
ค.ศ.1929 มี การประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยผู้ป่วยโปลิโอที่กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรงหายใจเองไม่ได้ โดยPhillip Drinker และมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
ค.ศ.1955 Dr. Jonas Edward Salk ได้พัฒนาวัคซีน โปลิโอชนิดเชื้อตายจากไตของลิงแล้วสกัดเชื้อไปทำให้ตายด้วยฟอร์มัลดีไซน์ เป็นวัคซีนชนิดฉีด(IPV)ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรก
ค.ศ.1960 Dr.Albert Bruce Sabin ได้พัฒนาวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อยังมีชีวิต (OPV)โดยทำให้เชื้ออ่อนแอไม่ทำให้เกิดโรค หลังจากพบว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบฉีดของSalk ไม่สามาถกำจัดเชื้อโปลิโอในลำไส้ได้ (จากการผ่าศพผู้เสียชีวิตจากโปลิโอ)
Dr. Albert Bruce Sabin ผู้พัฒนาวัคซีน โปลิโอชนิด หยอด(OPV)
ค.ศ.1979 โรตารี่สากล ได้เริ่มโครงการกำจัดโปลิโอ โดยทำโครงการ 5 ปี ในปี 1980_1985 โดยทำโครงการต่อเนื่อง 5 ปีใช้วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด ของ Sabinแก่เด็กชาวฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ จำนวน 6ล้านคน
นั่นคือปฐมบทแรกที่มนุษย์เริ่มวางแผนต่อสู้กับโรคร้ายโปลิโอที่แพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนั้นที่มีติดเชื้อกว่า350,000 ราย โดยมีความคิดว่าถ้าเด็กทุกคนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโปลิโอได้ นั่นแปลว่าจะไม่มีการติดเชื้อเป็นโรคโปลิโอที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิต เกิดขึ้นอีกต่อไป
ค.ศ.1984 ในงานประชุมโรตารี่สากลที่แคนซัส อเมริกา ที่ประชุมได้ประกาศให้รางวัลแก่ Dr.Albert Sabin ผู้พัฒนาวัคซีนโปลิโอชนิดหยอดได้สำเร็จและมีข้อดี เหมาะสม ใช้ในโครงการรณรงค์หยอดวัคซีนกำจัดโปลิโอทั้งโลก
ค.ศ.1980-1985 เด็กในประเทศฟิลิปปินส์ 6,000,000 คนได้รับวัคซีนโปลิโอ
โรตารี่ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัด โปลิโอให้หมดไปจากโลกภายในปี ค.ศ.2005 ซึ่งเป็นปีที่โรตารี่มีอายุครบ 100ปี(โรตารี่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1905) เป็นความอหังการ์ของมนุษย์ที่จะกำจัดเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้มายาวนาน อย่างน้อยก็เกือบ3600 ปีจากหลักฐานที่มีมาตั้งแต่อียิปต์โบราณ
ฤา ชาติพันธุ์ของไวรัสโปลิโอจะต้องถูกกำจัดให้หมดไปจากโลกโดยมนุษย์ครานี้แล้ว
ค.ศ.1987 โรตารี่ได้เริ่มโครงการกำจัดโรคโปลิโอภายใต้ชื่อ โปลิโอพลัส(polio plus) เพื่อทำงานทั้งด้านป้องกันการเกิดโรคโปลิโอและการดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องอันเป็นผลจากการติดเชื้อโปลิโอเช่นความพิการ อาชีพ ความยากจน เป็นต้น
มีการรณรงค์ให้สมาชิกสโมสรของโรตารี่ทั่วโลกจำนวนกว่า 1.22 ล้านคน ใน 35,000สโมสร จาก 120ประเทศ ขับเคลื่อนร่วมกับฝ่ายสาธารณสุขเพื่อหยอดวัคซีนโปลิโอสำหรับเด็กทุกคนในพื้นที่รับผิดชอบ
ค.ศ.1988 ประธานโรตารี่สากลในปีค.ศ.1978-1979 ชาวออสเตรียชื่อ Sir Clem Renouf. ได้รณรงค์ให้นานาชาติได้ร่วมมือกันให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กทุกคน จนเกิดเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ขององค์กรต่างๆ คือWHO UNICEF US-CDC และโรตารี่สากล เป็นโครงการ Global Polio Eradication Initiative(GPEI)
ค.ศ.1988 เป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้กับโปลิโอ ซึ่งระบาดกระจายไปทั่วโลก125ประเทศมีผู้ติดเชื้อกว่า 350,000 คน โดยมีพันธมิตรเข้าร่วมกันทำงาน เกิดความก้าวหน้าในการกำจัดโปลิโอในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก จนสามารถประกาศพื้นที่ ประเทศ ที่สามารถกำจัดโรคโปลิโอ(polio free ) หมดไปจากพื้นที่ต่างๆ เป็นลำดับ
ค.ศ.1994 WHO region of America ประกอบด้วยอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ทั้งหมด ประกาศ ชนะสงคราม ไม่มีผู้ติดเชื้อโปลิโอในพื้นที่ โดยมีรายงานผู้ป่วยโรคโอลิโอรายสุดท้ายที่ประเทศเปรูในปี 1991
ค.ศ.1999 มีรายงานพบเชื้อโปลิโอ WPV2 ครั้งสุดท้ายที่เมือง Aligarh ทางตอนเหนือของอินเดีย
อีก16ปีต่อมาทางคณะกรรมการ Global Commission for the Certification of Poliomyelitis Eradication (GCC)ได้ประกาศว่าโลกได้ขจัดเชื้อโปลิโอ 1 ใน 3 สายพันธุ์ได้สำเร็จ คือสายพันธ์ WPV2 ประกาศชัยชนะเหนือไวรัสร้ายในวันที่ 20 กันยายน 2015 ในที่ประชุมที่บาหลี อินโดนีเซีย
ชัยชนะยกที่หนึ่งของมนุษย์ต่อเชื้อโปลิโอ มีลายเซ็นต์แพทย์ไทยในฐานะกรรมการ GCC ด้วย
เมื่อไม่มี เชื้อ ไวรัส WPV2 แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีน ที่ใช้หยอดจากเดิมมีทั้งสามสายพันธ์(Trivalent OPV)คงเหลือแค่ 2สายพันธุ์คือ WPV1และWPV3 (Bivalent OPV) ซึ่งเรื่มใช้หยอดกันตั้งแต่. เมย.2016เป็นต้นไป
มีเหตุผลอะไรที่ต้องยกเลิกวัคซีนที่มีเชื้อสายพันธุ์ WPV2 ไหนๆให้ไว้ก็ไม่น่าเสียหายเผื่อมีหลุดมาอีกจะได้มีภูมิคุ้มกันครบถ้วน ประธานโปลิโอ โรตารี่ภาค3330 ปี 2020-2021 จะเล่าให้ฟัง
ค.ศ.2000 พื้นที่ WHO western pacific region ประกอบไปด้วย ประเทศและเกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก รวม27ประเทศ ไม่รวมประเทศไทย ได้รับการรับรองว่าไม่มีโรคโปลิโอในพื้นที่
ค.ศ.2002 พื้นที่ WHO European region สามารถประกาศไม่มีโรคโปลิโอในพื้นที่ รายงานผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายที่ประเทศตุรกี ในปี1998
ค.ศ.2005 ครบ 100ปีของโรตารีสากล เรายังไม่สามารถขจัดโปลิโอให้หมดไปจากโลกนี้ได้ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ยังคงมีโรคโปลิโอในเขตเอเชียส่วนที่ไม่ใช่ western pacific region และในทวีปแอฟริกา
ค.ศ.2011 ประเทศอินเดียประสบความสำเร็จ ได้รับการรับรองให้อินเดียไม่มีโรคโปลิโอในพื้นที่อีกต่อไป
ค.ศ.2012 ปีที่WHO ตั้งเป้าที่จะขจัดโปลิโอให้หมดไปจากโลก ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังคงมีผู้ป่วยติดเชื้อโปลิโอ อยู่ในอีก 3. ประเทศที่ยังเป็นพื้นที่การระบาดของโรคคือ ไนจีเรีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน
แต่ยังมีข่าวดีกับการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโปลิโอ คือเป็นปีที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่เป็นโรคโปลิโอจากเชื้อสายพันธุ์ที่ 3(WPV3)จากประเทศไนจีเรีย เมื่อ11พฤศจิกายน2012.
ต่อจากนี้เป็นต้นไป เราก็เหลือคู่ต่อสู้เพียงสายพันธุ์เดียวแล้ว คือ เชื้อโปลิโอสายพันธุ์ ที่ 1 (WPV1) เท่านั้น
แต่ยังก่อน เราพบว่าขณะที่เรากำลังเดินหน้ากำจัดโปลิโอโดยการหยอดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นซึ่งค้นพบโดย Dr. Sabin นั้น พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนโปลิโอเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโปลิโอ(wind polio)จนในที่สุดพบว่าเกิดจากวัคซีนที่ใช้หยอด ซึ่งมีทั้งสามสายพันธุ์ เราเรียกว่า circulating vaccine-derived poliovirus(cVDPV) แต่ส่วนมากเกิดจากสายพันธุ์ที่ 2 (WPV2) แต่จำนวนการเกิดน้อยมาก จนเป็นที่มาของการเลิกการใช้วัคซีนหยอดชนิด3สายพันธุ์(trivalent)เหลือเพียง ชนิด2สายพันธุ์(bivalent) ในเดือนเมษายน 2016 มีโอกาศ จะมาเล่าเรื่องนี้กันอีกที
ค.ศ.2013-2018 WHO ได้วางเป้าหมายที่จะระดมสรรพกำลังเพื่อจะปิดเกม( polio eradication and end game strategic plan )ภายในปี ค.ศ.2018 ต้องขจัดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่ 1(WPV1) ให้หมดไป
ค.ศ.2014 Sounth East Asia region ประกอบด้วย11 ประเทศ คือ บังคลาเทศ ภูฐาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย ติมอร์เลสเต ได้รับการประกาศให้ปลอดจากโปลิโอหลังจากอินเดียได้กำจัดโรคโปลิโอสำเร็จเป็นประเทศสุดท้าย
ประเทศไทยประกาศปลอดจากโรคโปลิโอตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540 (ค.ศ. 1997)เป็นเวลา17 ปีก่อนที่พื้นที่ในเขต Sounth East Asian Region นี้จะได้รับการรับรอง โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายที่จังหวัดเลย แต่ประเทศไทยก็ยังดำเนินการหยอดวัคซีนโปลิโอมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับคำชมเชยจาก WHO
มาดูกันต่อว่าเราจะเอาชนะเชื้อโปลิโอได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้มั๊ย
ค.ศ.2015 มีรายงานผู้ป่วย โปลิโอ จาก WPV1 74 ราย ใน 2ประเทศ คือ อัฟกานิสถาน 20 รายและปากีสถาน 54 ราย
ค.ศ.2016 มีรายงานผู้ป่วย โปลิโอ จาก WPV1 37 ราย ใน 3ประเทศ คือ อัฟกานิสถาน 13รายปากีสถาน 20 ราย ไนจีเรีย 4ราย
ค.ศ.2017 มีรายงานผู้ป่วย โปลิโอ จาก WPV1 22 ราย ใน 2ประเทศ คือ อัฟกานิสถาน 14รายและปากีสถาน 8 รายมีความหวังว่าปี2018 อาจจะประกาศชัยชนะได้
ตลอดปี ค.ศ.2017-2018 สโมสรโรตารี่ทั่วโลก ที่มีสมาชิก 1.22ล้านคน จาก 35,000 สโมสร ใน กว่า122 ประเทศ ได้รณรงค์ทำงานกันอย่างหนักเพื่อที่จะ จบเกม polio ให้ได้ มีกิจกรรมหลากหลาย ผมและโรตารี่แอนน์ในฐานะสมาชิกสโมสรโรตารี่ทุ่งคา D 3330 ก็ได้มีโอกาศไปร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานรอบประเทศไต้หวันในเดือน ตุลาคม 2017 เป็นความร่วมมือร่วมใจกันของมนุษยชาติที่ต่อสู้เพื่อเอาชนะ เชื้อโรคตัวเล็กๆ เป็นความประทับใจที่ได้อยู่ในบรรยากาศร่วมต่อสู้
ค.ศ.2018 มีรายงานผู้ป่วย โปลิโอ จาก WPV1 33 ราย ใน 2ประเทศ สุดท้ายคือ อัฟกานิสถาน 21 ราย ปากีสถาน 12 ราย
เราไม่สามารถขจัดโปลิโอให้หมดไปตามแผนที่วางไว้
แต่ก็ยังมีข่าวดี WHO ประกาศรับรองว่าสามารถกำจัดเชื้อโปลิโอ สายพันธุ์ที่3(WPV3) หมดไปจากโลกสำเร็จ วันที่ 17 ตุลาคม 2019 ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอแลนด์ (หลังจากที่พบเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่3รายสุดท้ายที่ไนจีเรีย เมื่อปี ค.ศ.2012)
ชัยชนะยกที่สองของมนุษย์ต่อเชื้อโปลิโอWPV3 ลงนามโดยผู้แทนWHO ทั้ง6 region
ค.ศ.2019-2023 GPEI ได้วางแผนโครงการกำจัดโปลิโอต่ออีก5ปี (The Polio Endgame Strategy)
ค.ศ.2019 มีรายงานผู้ป่วย โปลิโอ จาก WPV1 เพิ่มขึ้นเป็น 175 ราย ใน 2ประเทศ สุดท้ายคือ อัฟกานิสถาน 29 ราย ปากีสถาน 146 ราย
ค.ศ.2020 ข้อมูลถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2020 มีรายงานผู้ป่วย โปลิโอ จาก WPV1 132 ราย ใน 2ประเทศ สุดท้ายคือ อัฟกานิสถาน 53 ราย ปากีสถาน 79 ราย
ซึ่งการทำงานด้านกำจัดโปลิโอได้ชลอไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.2020 นับแต่มีโรค COVID-19 ระบาด ทำให้ทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะปากีสถานซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19 กว่า300,000 คน อยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่ต้องเผชิญทั้งสองโรคระบาดในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เดือน กรกฎาคม2020 ทางปากีสถานก็กลับมาทำงานโปลิโอต่อหลังสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น
เอาใจช่วยปากีสถานและอัฟกานิสถานในการกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไปจากประเทศซึ่งจะหมายถึงโปลิโอจะหมดไปจากโลกนี้ด้วย
ตลอดระยะเวลา 41 ปีที่โรตารี่ได้เริ่มต้นให้ความสนใจโรคโปลิโอที่ได้ระบาดไปทั่วโลกกว่า 125 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อในช่วงแรกๆกว่า. 350,000คน โดยเริ่มจากมีความหวังที่จะกำจัดโรคโปลิโอได้ เมื่อมีการพัฒนาวัคซีนโปลิโอโดย Dr. Sabin ได้สำเร็จ ดังเช่นที่มนุษย์เคยกำจัดโรคฝีดาษให้หมดไปจากโลกได้ด้วยวัคซีนเช่นกัน และโรตารี่ได้เริ่มโครงการหยอดวัคซีนแก่เด็กๆครั้งแรกที่โรงเรียนประถมเล็กๆในเมืองAngeles ทางตอนเหนือ ของกรุงมะนิลาใน ฟิลิปปินส์ จนสามารถสร้างความร่วมมือกับองค์กรสำคัญทั่วโลกในเวลาต่อมาเพื่อกำจัดโปลิโอ ให้หมดไปจากโลก เด็กได้รับการหยอดวัคซีนไปแล้วทั่วโลกกว่า 2500 ล้านคน สามารถกำจัดโปลิโอไปได้99.9% กำจัดเชื้อโปลิโอไปได้ 2 ใน 3สายพันธุ์ เป็นโครงการความร่วมมือของมนุษยชาติทางด้านสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ใช้ทรัพยากรกำลังคน อาสาสมัคร ความรู้ความสามารถ งบประมาณเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเรายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสร้างโลกที่ปลอดจากโรคโปลิโอในขณะนี้ก็ตาม คงไม่เกินความสามารถของมนุษย์ ที่จะร่วมกันต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ต่อไป
เป็นความภาคภูมิใจขององค์กรโรตารี่ที่ได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการในการกำจัดโปลิโอมาตั้งแต่ต้น
เงินงบประมาณที่ใช้ในการทำงานเพื่อกำจัดโรคโปลิโอในระยะ33ปี (ค.ศ.1985-2019) กว่า 500,000ล้านบาท เป็นเงินบริจาคที่มาจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวทั้งมูลนิธิเอกชน
รายชื่อกลุ่มผู้บริจาคในการต่อสู้กับการกำจัด โรคโปลิโอ มาจากแหล่งต่างๆทั่วโลก
(ไม่มีรายชื่อรัฐบาลประเทศไทยบริจาค)
รายชื่อผู้บริจาค 5 อันดับแรกเพื่อโครงการกำจัดโปลิโอตั้งแต่ ปีคศ. 1985-2019
1.Bill&Melinda Gate Foundation. 3,848.56 ล้านเหรียญ
2.สหรัฐอเมริกา. 3,545.62 ล้านเหรียญ
3.โรตารี่สากล. 2,010.51ล้านเหรียญ
4.อังกฤษ. 1,617.39 ล้านเหรียญ
5.เยอรมัน. 686.10 ล้านเหรียญ
ค.ศ.2019-2023 GPEI ได้วางแผนโครงการเพื่อกำจัดโรคโปลิโอต่ออีก5ปี (The Polio Endgame Strategy) ต้องใช้เงินทุน 4.2 พันล้านเหรียญ มีผู้แจ้งความประสงค์ร่วมบริจาคไว้แล้ว 3.7 พันล้าน เหรียญ ยังคงขาดอีก500 ล้านเหรียญ
มี ผู้บริจาครายใหญ่ จาก UAE. ตะวันออกกลาง
มาครบทีมใหญ่ Bill&Melinda Gate , WHO ,UNICEF, ROTARY, US-CDC, Gavi
อีกไม่นานเราคงไม่ต้องใช้สัญลักษณ์นี้แล้ว
โปลิโอภาคสุดท้าย Polio eradication 2023 WHO goal (ภาคแรก ชื่อ Polio Eradication 2005 Rotary goal. ภาคที่2 Polio Eradication 2012. WHO goal ภาคที่3 Polio Eradication 2018. WHO goal ) ตอนนี้ ผู้สนับสนุนที่เกี่ยวข้องสำคัญให้สัญญากันว่าจะต่อสู้กันต่อจนกว่าโปลิโอจะหมดไปจากโลกใบนี้
จนกว่าเด็กๆทุกคนจะปลอดภัยจากโรคโปลิโออย่างยั่งยืน
มาติดตามกันต่อไปว่ามนุษยชาติจะสามารถกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลกนี้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้หรือไม่
Take home message
1:ทำไมถึงใช้ วัคซีนโปลิโอแบบหยอดมากกว่าแบบฉีด มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร
_วัคซีนชนิดหยอดเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนแอลง จนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ โดยการหยอดทางปากลงไปลำไส้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีการขับถ่ายออกไป กระจายสู่ชุมชน เมื่อมีการสัมผัสในชุมชน ก็สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในวงกว้างในชุมชน เหมาะสำหรับงานการสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้าง ขนส่งง่าย ดูแลง่าย แต่หลังจากมีการให้ไปหลายล้านครั้งพบว่า เชื้อที่ถูกขับออกไปบางส่วนมีเวลาที่จะปรับตัวเองให้แข็งแรงขึ้นก่อให้เกิดอาการแบบเดียวกับตัวเชื้อเดิม ขณะวัคซีนแบบฉีดผลิตจากเชื้อที่ทำให้ตายแล้ว
กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เฉพาะคนและไม่ทำให้เกิดโรค/อาการแบบวัคซีนที่ใช้หยอด
2:ทำไมต้อง เปลี่ยนวัคซีนจากแบบหยอดจากชนิด 3เชื้อ(trivalent)เป็นแบบ2เชื้อ(bivalent)หลังจากกำจัดเชื้อโปลิโอไปได้แล้ว 1 หนึ่งสายพันธุ์
_ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นที่พบอาการแบบโปลิโอในวัคซีนชนิดหยอด ส่วนใหญ่เป็นจากสายพันธุ์ที่2 ที่กำจัดได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมี่เชื้อนี้ในวัคซีนอีก
3:รับวัคซีนโปลิโอแล้วมีภูมิคุ้มกันได้นานเท่าไหร่
_มีการศึกษาในกลุ่มชาวเอสกิโมซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลพบว่า จากการติดตามหลังได้รับวัคซีน ยังพบยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ถึง 40 ปี แต่โดยเฉลี่ยพบว่ามีภูมิคุ้มกันได้นาน 18 ปี ถ้าต้องเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง แนะนำรับวัคซีนกระตุ้นก่อนเดินทาง
4.ใช้เกณฑ์ใดตัดสินว่าพื้นที่/ประเทศนั้นปลอดจากโรคโปลิโอ
_ประเทศหรือพื้นที่ใดที่จะได้รับการประกาศว่าไม่มีโรคโปลิโอแล้วจะต้องไม่พบผู้ป่วยโปลิโอในพื้นที่นั้นต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าสองปี
5.ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเชื้อโรคที่มนุษย์สามารถเอาชนะด้วยวิธีกำจัดให้สูญพันธุ์จากวัคซีนให้หมดไปจากโลกนี้ ( แต่ยังมีเก็บเชื้อไว้ในห้องlab)จนถึงปัจจุบันนี้คือ
5.1 ฝีดาษ(smallpox) พฤษภาคม 1980
5.2 เชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่2(WPV2) 20 กันยายน 2015
5.3 เชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่3(WPV3) 23 ตุลาคม 2019
6. ยุทธศาสตร์การทำงานกำจัดโปลิโอล่าสุดในปี 2019_2023 มีอะไรแตกต่างจากแบบเดิมที่ผ่านมา
_ มีการเน้นที่จะกำจัดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่1(WPV1)ร่วมกับกำจัดการเกิดโรคที่เกิดจากการใช้วัคซีน (circulatory vaccine derived polio)ไปพร้อมกัน
อ้างอิง
โฆษณา