24 ต.ค. 2020 เวลา 09:42 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Funny Games
Michael Haneke, 1997, Austria
ภาพยนตร์ที่ทำให้ มิคาเอล ฮาเนเก้ เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ตัวฮาเนเก้เองเป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในเรื่องของงานภาพยนตร์ที่เสียดสีชนชั้นกลาง ทั้งในรูปแบบของการเลาะโครงสร้างของภาพยนตร์ (Code Unknown, 2000) การใช้สื่อประเภทต่างๆในการแสดงอิทธิพลที่เกิดขึ้นกับผู้คน (Happy End, 2017) และจิตวิเคราะห์ตัวละครที่ถูกประกอบสร้างจากสังคมชนชั้นกลาง (The Piano Teacher, 2000 / Amour, 2012) โดยส่วนตัวผู้เขียนนั้น งานที่ถือว่าเป็นจุดตัดอันสำคัญของฮาเนเก้คือ Caché (2005) ซึ่งเป็นการควบรวมรูปแบบทั้งหมดของฮาเนเก้เองสู่จุดที่ลงตัว
มิคาเอล ฮาเนเก้อ (Michael Haneke) - ผู้กำกับ
Funny Games แบ่งเป็น 2 เวอร์ชั่น โดยมีเวอร์ชั่นแรกคือ Funny Games ในปี 1997 ซึ่งเป็นภาพยนตร์พูดภาษาเยอรมัน เวอร์ชั่นที่ 2 คือ Funny Games ในปี 2007 ซึ่งเป็นภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษอเมริกัน 2007 เป็นการก๊อปปี้วางจากเวอร์ชั่น 1997 แบบทุกรายละเอียด โดยที่ฮาเนเก้บอกว่าเขาตั้งใจนำภาพยนตร์ Funny Games ไปสู่ศูนย์กลางของภาพยนตร์โลกให้ได้ ก็คือประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็น Funny Games 2007 นั่นเอง แต่บทความนี้จะพูดถึงภาพยนตร์ Funny Games เวอร์ชั่นปี 1997 ซึ่งฮาเนเก้ก็ได้พูดถึง Funny Games (ทุกเวอร์ชั่น) ไว้ว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้สนับสนุนความรุนแรง แต่ตั้งคำถามถึงความรุนแรงของสื่อภาพยนตร์ต่างหาก
Funny Games US Version - Poster / นำแสดงโดย Naomi Watts
เนื้อเรื่องว่าด้วยครอบครัวแสนสุขอันประกอบไปด้วย แม่ – อันนา (Susanne Lothar) พ่อ – จอร์จ (Ulrich Mühe) และลูกชาย – คอร์ชี่ Schorschi (Stefan Clapczynski) ไปพักร้อนสุดสัปดาห์ที่เมืองชนบทห่างไกล ณ ที่นั้นเองที่ทำให้พวกเขาต้องพบกับชายแปลกหน้า 2 คน ที่เข้ามาในบ้านโดยไม่มีสาเหตุ พร้อมเหตุการณ์สุดสะพรึงที่จะทำให้ลืมไม่ลง โดยเฉพาะคนดู!?
เรียกได้ว่า Funny Games เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเย้ยหยันคนดู หากคนดูหวังอะไร ภาพยนตร์จะไม่เหลือความหวังนั้นโดยทุกวิธีการอันรังสรรค์ตามใจผู้สร้าง (Michael Haneke) ฮาเนเก้หลอกล่อคนดูด้วยภาพยนตร์แบบ Slasher Films ที่ไม่ว่าบทสรุปตัวละครจะรอดหรือไม่ แต่ตัวละครหลักจะถูกต่อเติมความหวังอยู่เสมอเพื่อให้คนดูรู้สึกลุ้นระทึกไปด้วย ฮาเนเก้จึงตั้งคำถามว่าสรุปแล้วเราจะสนุกกับความรุนแรง/การสร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงแบบนี้จริงหรือ? และ Funny Games ก็คือการโต้กลับของฮาเนเก้ที่กวนโอ๊ยอย่างแรงทำเอาคนดูถึงกับหน้าชา เล่ากันว่าในการจัดฉายเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 1997 มีบางคนถึงกับเดินออกกลางเรื่อง
ภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับความรุนแรงในสื่อภาพยนตร์
แม้ภาพยนตร์จะขบถขนาดไหน แต่ฮาเนเก้ก็ได้นำจุดเด่นของเขาเองในเรื่องของการออกแบบตัวละครมาใช้อีกครั้ง สิ่งที่ผู้ชมจะจดจำนั้น นอกจากสารของผู้กำกับแล้ว ยังเป็นตัวละครหัวโจกท์ของเรื่องคือพอลกับปีเตอร์ซึ่งนำแสดงโดย Arno Frisch กับ Frank Giering ที่เป็นคาแรคเตอร์เสมือน ‘ไวรัส’ ในนามของฮาเนเก้ ซึ่งมีคาแรคเตอร์อันยียวนแตกต่างจากการแต่งตัวที่นำเสนอภาพแทนของชนชั้นกลางที่สุภาพเรียบร้อย
สองตัวละคร "ไวรัส" ที่ดีทั้งการสร้างบุคลิกตัวละครและการเป็นสัญลักษณ์ของแก่นเรื่อง
การถ่ายภาพโดย Jürgen Jürges นำเสนออารมณ์ขบถต่อขนบของ Slasher Films หรือภาพยนตร์ลุ้นระทึกทั่วไป ที่มักจะใช้ภาพระยะใกล้ในการนำเสนออารมณ์อันตื่นตกใจของตัวละคร ซึ่ง Funny Games หลีกเลี่ยงงานภาพที่นำเสนออารมณ์เหล่านั้นอย่างจงใจ เช่น ซีนที่เป็นไคลแมกซ์ของเนื้อเรื่อง กล้องเลือกที่จะตั้งนิ่งเฉยเมยกับสถานการณ์ของตัวละครซึ่งขัดกับไคลแมกซ์ของเรื่องอื่นอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงการลำดับภาพโดย Andreas Prochaska ที่ตามขนบของภาพยนตร์ลุ้นระทึกทั่วไปมักจะนำเสนอภาพเพื่อสร้างเงื่อนไขในการแก้ปัญหาของตัวละครในอนาคต และภาพยนตร์ก็เล่นตลกกับเงื่อนไขของการลำดับภาพดังกล่าว ถึงกับทำให้คนดูรู้สึกเหวอไปตามๆกัน Funny Games นับเป็นตัวอย่างของงานที่แสดงความขบถของผู้กำกับที่ส่งต่อตำแหน่งอื่นๆในการทำภาพยนตร์ได้อย่างดี เช่นที่ปรากฏกับ Jürgen Jürges และ Andreas Prochaska
งานภาพแบบตั้งนิ่งเฉยไร้การเร้าอารมณ์แต่อย่างใด
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็นหนัง Slasher Films หรือโศกนาฏกรรมของชนชั้นกลางก็ไม่อาจรู้ได้ ด้วยเส้นแบ่งอันเบาบางซึ่งผู้ชมแต่ละคนก็มีสิทธิ์ที่จะนิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง เรียกได้ว่าเป็นงานอีกเรื่องที่หากไม่รักก็เกลียดไปเลย
โฆษณา