26 ต.ค. 2020 เวลา 02:22 • ธุรกิจ
‘โซเชียลแบงก์กิ้ง’พลิกเกมธุรกิจ
"ธนาคารจะอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่ธนาคาร"
คำกล่าวนี้กำลังจะกลายเป็นจริงมากขึ้น ถ้าบอกว่าวิกฤต "โควิด-19"เป็นส่วนหนึ่งของตัวเร่งสำคัญก็คงไม่ผิดนัก เพราะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาช้อปปิ้งออนไลน์ และทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือมากขึ้นมาก
ทุกวันนี้ลืมกระเป๋าสตางค์ยังไม่เป็นไร ขอแค่มี "สมาร์ทโฟน"ในมือ ด้วยว่าร้านค้าจำนวนมากให้ลูกค้าจ่ายค่าสินค้า และบริการผ่านการโอน หรือจ่ายผ่าน "อี-วอลเล็ท"แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
 
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้ธุรกิจต่างๆ รวมถึงธนาคาร และสถาบันการเงินทั้งหลายต้องเร่งโกดิจิทัลกันเต็มสตรีม ยิ่งมีโควิด-19 ยิ่งช้าไม่ได้
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่น่าสนใจ คือ การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ “LINE BK" กับบริการ "Social Banking" เต็มรูปแบบรายแรกในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย กับดิจิทัลแพลตฟอร์ม LINE (ไลน์) ในคอนเซ็ปต์ที่บอกว่า "เรื่องเงินง่ายใน LINE คุณ"
ธนา โพธิกำจร ซีอีโอ บริษัท กสิกรไลน์ จำกัด
บริการ และผลิตภัณฑ์การเงินของ "LINE BK" มีครอบคลุมตั้งแต่บัญชีเงินฝาก, บัญชีเงินออมดอกพิเศษ (สูงสุด1.5%ต่อปี), บัตรเดบิต รวมไปถึงบริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบดิจิทัล (ขอวงเงินด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา) รายได้ขั้นต่ำแค่ 7 พันบาทต่อเดือน ที่น่าสนใจก็คือ เป็น “ฟรีแลนซ์” หรือทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กก็ขอกู้ได้
“ธนา โพธิกำจร”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ "Social Banking" ในชื่อ LINE BK บอกว่าคนไทยในปัจจุบันเปิดรับบริการดิจิทัลใหม่ ๆ มากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการใช้เวลาบนโซเชียลแพลตฟอร์ม และการใช้ดิจิทัลแบงกิ้งที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จึงเป็นโอกาสของ LINE BK ในการเข้ามาเชื่อมโลกโซเชียล และโลกดิจิทัลแบงกิ้งเข้าด้วยกัน
มีเป้าหมายเพื่อยกระดับประสบการณ์การเงินออนไลน์ให้สะดวก รวดเร็ว และยังคงความปลอดภัยมาตรฐานเดียวกับธนาคารกสิกรไทย
"เคแบงก์”มีลูกค้า 16.6 ล้านคน มีโมบายแบงก์กิ้งเข้าถึง 13.5 ล้านคน มีธุรกรรมการเงินกว่า 1.7 พันล้านครั้ง ขณะที่แพลตฟอร์มไลน์ เข้าถึงลูกค้ากว่า 47 ล้านคน เรียกได้ว่า เกือบทุกคนที่เข้าถึงมือถือ และอินเทอร์เน็ตได้
“จากการเปิดเผยข้อมูลการใช้งานของไลน์พบว่าผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับไลน์มากกว่า 1 ชม. หรือ 63 นาที ต่อคนต่อวัน ทั้งไลน์ ไม่ได้มีแค่แชทแต่ยังมีบริการอื่น ๆ เช่น ไลน์ทูเดย์ ไว้อ่านข่าวต่างๆ ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 36 ล้านคนต่อเดือน”
เท่ากับว่า แพลตฟอร์มของ “ไลน์”เข้าใกล้ผู้บริโภคตลอดเวลา
การนำความเชี่ยวชาญที่ต่างฝ่ายต่างมีมาพัฒนาบริการร่วมกัน ทำให้จุดเด่นของ “LINE BK”ชัดมาก คือ เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และไว้ใจได้ โดยจะทำธุรกรรมการเงินได้อย่างรวดเร็ว เหมือนการแชทบน LINE จึงเชื่อว่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมมากขึ้น
เปรียบกับการกู้ยืมเงินทั่วไป “LINE BK”มีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงของการอนุมัติสินเชื่อที่แตกต่างออกไป โดยมีการนำข้อมูลทางการเงิน และโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์ร่วมกัน มีการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และไม่เข้าถึงเนื้อหาการสื่อสารของลูกค้า รวมถึงไม่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูล
ในแง่ความปลอดภัยจะมีขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้อย่างเป็นระบบ มีการป้องกัน และรักษาความปลอดภัยหลายชั้น ทั้งเข้ารหัสความปลอดภัยของโครงสร้างระบบเครือข่าย และบริการ รวมไปถึงการปกป้องข้อมูลด้วยการเข้ารหัสฐานข้อมูลในรูปแบบเฉพาะ
ทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลลูกค้าจะได้รับการดูแลด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด
“พัชร สมะลาภา”กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เสริมว่า การนำศักยภาพด้านโซเชียลแพลตฟอร์มของ LINE และประสบการณ์ด้านลูกค้ารายย่อยของธนาคารกสิกรไทย ไม่เพียงพลิกโฉมการให้บริการธุรกรรมการเงินของธนาคารในประเทศไทย แต่ยังตอกย้ำยุทธศาสตร์ของธนาคารในการสร้าง “Digital Lifestyle Ecosystem” ไปพร้อมกัน
“ธนาคารเชี่ยวชาญเรื่องทรานแซ็กชั่น ก็ควรทำสิ่งนั้นให้เก่งที่สุด เราคงไม่สามารถทำให้คนอยู่กับ เคพลัสได้นาน 63 นาที เหมือน LINE และถ้าบอกว่าเรายึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญ ก็คือความสะดวก เชื่อว่า LINE BK จะเป็น Social Banking ที่ตอบรับความต้องการ และไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลได้ โดยลูกค้าทำธุรกรรมการเงินด้วยตนเองได้บนแพลตฟอร์ม LINE ที่คนไทยใช้ประจำทุกวัน และตลอดทั้งวันอยู่แล้ว ไม่ต้องสลับหน้าจอ”
ไม่ใช่แค่นั้นยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากสำหรับธนาคารเองด้วย เพราะเท่ากับเป็นการบอกชัดๆ ไปเลยว่า "ธนาคารอยากไปอยู่ทุกที่ ที่ลูกค้าอยู่” ซึ่งต่างอย่างมากจากที่ผ่านมา ซึ่งการเปิดสาขาของธนาคาร คือการให้ลูกค้าเดินมาหา
“Social Banking”ของ LINE BK จะเปลี่ยนเกมธุรกิจ และพลิกโฉมการแข่งขันไปอย่างไร น่าติดตาม
 
 
 
#นอกลู่ในทาง
#มติชนรายวัน
โฆษณา