26 ต.ค. 2020 เวลา 10:17 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดยุคน้ำแข็งเมืองไทย ปฐมบทกิจการ… “ปั้นน้ำเป็นตัว”
เล่าและเรียบเรียงโดย : รัฐพล ศรีวิลาศ (นายโปส)
โรงน้ำแข็งนายเลิศ เมื่อยุคเริ่มแรกกิจการ ราวปี พ.ศ.2465 มีป้ายติดว่า น้ำแข็งสยาม THE SIAM ICE WORKS ภาพจาก www.facebook.com/nailertparkheritagehome
เมื่ออุณหภูมิความร้อนระอุของเมืองไทย ไม่เคยผ่อนคลายปรานี..
แค่เพียงน้ำดื่ม น้ำอัดลม เติมน้ำแข็งก้อนเย็นเจี๊ยบชื่นใจสักแก้ว ดื่มซัดล่วงผ่านลำคอลงไป ก็กลายเป็นกรรมวิธีดับร้อน แก้กระหาย ที่รวดเร็วทันใจยิ่งนัก
ทุกวันนี้ น้ำแข็ง หาใช่ของใหม่ และแปลกประหลาดอีกต่อไปแล้ว แต่ยุคสมัยที่
น้ำแข็ง ในเมืองไทยยังไม่ถือกำเนิด และพี่ไทยเราก็ยังไม่เก่งกาจพอขนาด เสกน้ำ
ให้เป็นก้อนแข็งๆ ได้ หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ‘พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์’
คือบุคคลแรกที่นำเอา น้ำแข็งก้อนแรก จากต่างแดนมาให้คนไทยได้รู้จักกัน
เมื่อราว 150 ปีที่ผ่านมานี่เอง..
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ชาวบ้านล้อมวงดื่มเหล้า โดยวิธีทำให้เหล้าเย็น ด้วยการเอาขวดไปตั้งแช่ไว้ในน้ำ ที่ใส่เกลือ และดินประสิว ซึ่งช่วยทำให้อุณหภูมิน้ำลดลง ภาพจาก www.today.line.me/th/v2/article/Dkx28B
ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 4 ราว ปี พ.ศ. 2410 หรือเก่าก่อนหน้านี้
‘พระยาพิสนธ์สมบัติบริบูรณ์’ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ผู้ริเริ่มขุดคลองภาษีเจริญ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระภาษีสมบัติบริบูรณ์’ ในเวลานั้น เขาคือเจ้าของเรือกลไฟในตำนาน
ลำแรกของคนไทย มีนามว่า “เจ้าพระยา” ซึ่งเป็นเรือเพียงลำเดียว ที่ดำเนินกิจการ
เดินเมล์รับส่งสินค้าระหว่าง กรุงเทพฯ กับ สิงคโปร์ โดยแต่ละเที่ยวต้องใช้ระยะเวลาแล่นล่องนาน ราว 15 วัน
ในบรรดาสินค้า ที่บรรทุกระวางมาจาก สิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่เปิดรับ
อารยะธรรมจากตะวันตก เข้ามาสู่เอเชีย ทั้งของใช้ ของหรูหราจากยุโรป หนังสือ
พิมพ์ต่างประเทศแล้ว ยังมีของแปลกใหม่ในเวลานั้นอย่าง “น้ำแข็ง” ถูกส่งเข้ามา
ด้วย..
แท่งน้ำแข็งที่ถูกส่งมาทางเรือจาก สิงคโปร์ นั้นถูกบรรจุอยู่ภายในหีบไม้ปิดมิดชิด ที่กลบด้วยขี้เลื่อยและแกลบ เพื่อช่วยเก็บรักษาอุณหภูมิความเย็น ให้คงอยู่ได้นานๆ
ไม่ละลายไปเสียก่อน
เรือกลไฟเจ้าพระยาของ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ภาพจาก www.siammanussati.com
เมื่อของวิเศษอย่าง น้ำแข็ง ได้ถูกนำขึ้นถวายแด่ รัชกาลที่ ๔ พระองค์จึงได้พระราชทาน แจกจ่ายให้กับกลุ่มคนแรกๆ อย่าง ข้าราชบริพาร ให้ได้ลองลิ้มชิมรส แต่ความที่น้ำแข็งในสมัยนั้นก้อนใหญ่มาก เมื่อจะทานก็ต้องใช้ค้อนทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ จนเกิดกระแสความตื่นเต้นกันยกใหญ่ในหมู่ราชสำนัก
โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์เวลานั้น ได้ทรง
บันทึกความทรงจำไว้ว่า…“พวกเด็กๆที่ได้เห็นน้ำแข็งนั้น ชื่นชอบกันมาก มักเอามา
ต่อยออกเป็นก้อนเล็กๆ แล้วนำมาอมเล่นเย็นเฉียบ แต่กลุ่มผู้ใหญ่ มักไม่ชอบใจ
เหมือนเด็ก เพราะบ่นกันว่ากินน้ำแข็งแล้วปวดฟัน ไปตามๆ กัน…”
 
“ส่วนพวกคนแก่ที่ได้ยินว่าแจกน้ำแข็ง ก็ไม่เชื่อหูตัวเอง กระซิบกันว่า “จะปั้นน้ำเป็น
ตัวได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคำสุภาษิต บ่งความหมายถึง การมดเท็จ หลอกลวง ที่ได้ยิน
ชินหูมาตั้งแต่โบราณนั้นเอง”
‘นายเลิศ เศรษฐบุตร’ ผู้บุกเบิกกิจการโรงน้ำแข็งแห่งแรกในสยาม ภาพจาก www.nailertgroup.com/th/about/nai-lert-legacy
ด้วยความที่เป็นของนำเข้าราคาสูง น้ำแข็งจึงถูกใช้เป็น ‘ของพิเศษ’ ที่ รัชกาลที่ 4
พระราชทานให้แก่บุคคลผู้ทำความดีความชอบ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อผู้ที่ได้รับ จากนั้น น้ำแข็ง จึงเริ่มแพร่กระจายความนิยมไปในหมู่เจ้านาย และข้าราช
การชั้นผู้ใหญ่ ในเวลาต่อมา..
ในอีกสถานะหนึ่ง.. น้ำแข็งที่ถูกสั่งนำเข้ามาเพื่อใช้ถนอมอาหาร และแช่เครื่องดื่ม
แบบตะวันตกนั้น ยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญของสยามที่ใช้ในการรับมือ
กับชาติตะวันตก ที่แสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของประเทศ ที่ไม่ใช่บ้านป่าล้าหลัง แต่อย่างใดอีกด้วย..
ซึ่งหลักฐานได้ปรากฏในปี พ.ศ.2411 เมื่อเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่
หว้ากอ รัชกาลที่ 4 ทรงเชิญนักปราชญ์จากยุโรป พร้อม เซอร์แฮรี่อ็อต ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์ มาเป็นพระราชอาคันตุกะ เป็นสักขีพยานในการชมสุริยุปราคา มีการบันทึกไว้ว่า การจัดเลี้ยงอาหารแขกเหรื่อต่างแดนเวลานั้น พร้อมสรรพด้วยแบบอย่างของ
อารยประเทศ ทั้งอาหารคาวหวานพิถีพิถัน สุรานอก ไวน์ชั้นดี และที่ขาดไม่ได้ก็คือ
น้ำแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความอิ่มเอมประทับใจให้แก่ ท่านเซอร์ผู้ว่าการฯ เมือง
สิงคโปร์ เป็นอย่างมาก
มุมมองคลองผดุงกรุงเกษม จากหน้าวัดมหาพฤฒาราม ซึ่งมองเห็นตึกเจ็ดชั้น และโดมหลังคาห้างนายเลิศ รวมทั้งปล่องควันโรงน้ำแข็งนายเลิศ อย่างชัดเจน ภาพจาก www.facebook.com/nailertparkheritagehome
ถึงแม้ว่า น้ำแข็ง จะเดินทางมาถึงเมืองไทยตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 แล้วก็ตาม แต่น้ำ
แข็ง ก็มีสถานะเป็นของหายาก ราวกับก้อนทองคำราคาแพง ใช่ว่าใครจะได้สัมผัส
ความเย็นของ น้ำแข็ง กันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ใช่บุคคลระดับเจ้านาย เชื้อพระวงศ์
ซึ่งกว่าที่ ผู้คนระดับรากหญ้าสามัญชน จะได้รู้จักความเย็นผ่านก้อนน้ำแข็ง ก็ล่วง
ผ่านแผ่นดินรัชกาลที่ 5 มาถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว
เมื่อ ‘นายเลิศ เศรษฐบุตร’ หรือ ‘พระยาภักดีนรเศรษฐ’ นักธุรกิจนักบุกเบิกระดับแถวหน้าของประเทศ ผู้โด่งดังจากกิจการเรือเมล์รถโดยสาร ได้กระโจนลงสู่ธุรกิจ
‘ปั้นน้ำเป็นตัว’ เต็มรูปแบบ ด้วยการก่อตั้ง โรงงานน้ำแข็งที่ผลิตจำหน่ายแบบอุตสา
หกรรมเป็นรายแรกของสยาม ขึ้นที่สะพานเหล็กล่าง ถนนเจริญกรุง ในชื่อว่า
‘น้ำแข็งสยาม’ SIAM ICE WORKS ในปี พ.ศ. 2454 แต่ชาวบ้านกลับเรียกกันคุ้นปากว่า ‘โรงน้ำแข็งนายเลิศ’ เรื่อยมา
คนงานเตรียมตัดน้ำแข็งก่อนใส่รถเข็นให้กับผู้ซื้อ ในยุคที่ยังต้องจัดส่งน้ำแข็งเป็นก้อนใหญ่ เนื่องจากระบบจัดเก็บความเย็นยังไม่ดีพอ ภาพจาก www.facebook.com/nailertparkheritagehome
ว่ากันว่า เมื่อมีการเปิดเดินเครื่องทำน้ำแข็ง ชาวบ้านชาวเมืองก็จะฮือฮาอย่างมาก
พากันแห่แหนมามุงดูการ “เปลี่ยนน้ำให้เป็นน้ำแข็ง” กันอย่างตื่นเต้น แม้ในช่วงแรก
ยังไม่ค่อยมีใครกล้ากินนัก เพราะชาวบ้านไม่เชื่อกันว่าน้ำจะสามารถแข็งตัวได้
จนเดือดร้อนถึงฝ่ายราชการ ที่ต้องนำเอาน้ำแข็งมาใส่ถาด ตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑสถานให้ราษฎรได้ดู ได้พิสูจน์ให้เห็นกันด้วยตา กระนั้น หลายคนยังอุตสาห์ขอก้อนน้ำ
แข็งที่ต่อยไว้แล้วเป็นก้อนเล็กๆ นำกลับไปฝากคนทางบ้านเป็นที่ระลึกอีกต่างหาก
กิจการ..น้ำแข็งสยามของนายเลิศ ทำการจัดส่งน้ำแข็งที่ตัดเป็นก้อนใหญ่ๆ ไปตาม
บ้านเรือนประชาชน ร้านค้าทั่วทุกหนแห่งในเมืองหลวง รวมถึงยังได้ส่งน้ำแข็งขึ้น
ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหมู่เจ้านายในรั้วในวังอย่างต่อเนื่อง อีกด้วย
จนกระทั่ง รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้ นายเลิศ เป็นผู้ส่งน้ำแข็ง
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2456 เป็นต้นมา
เมื่อเมืองหลวง มีโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ผลิตอย่างเป็นกิจจะลักษณะเกิดขึ้นแล้ว
ความนิยมของน้ำแข็งก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ รอบนอก
กรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
ภาพการตัดน้ำแข็งส่งให้ลูกค้าในสมัยก่อน ภาพจาก www.facebook.com/fiftyplusthailand
เมื่อราษฎร ประชาชนเริ่มคุ้นชินกับการบริโภคน้ำแข็ง เพื่อดับกระหายคลายร้อนอย่างแพร่หลาย
ในยุคสมัยต่อมาจึงเกิดอาชีพยอดนิยมขึ้นมาใหม่ ที่ชาวบ้านชาวเมืองนิยมเรียกว่า
‘เจ๊กน้ำแข็ง’ โดยเหล่าพ่อค้าชาวจีน จะนำน้ำหวานมาขายคู่กับน้ำแข็ง ชนิดที่ขายดี
เป็นเทน้ำเทท่า ที่พัฒนาต่อยอดกลายมาเป็น ‘น้ำแข็งไส’ ของหวานดับร้อนประจำ
ชาติยอดนิยมนั่นเอง
จากนั้นมาเมื่อ ถึงยุคที่กิจการเครื่องดื่มน้ำอัดลม ได้เปิดตัวตั้งโรงงานสายการผลิต ก็กลายเป็นกระแสทำให้ น้ำอัดลมใส่น้ำแข็ง เป็นเครื่องดื่มสุดฮิตแปลกใหม่ ที่สามารถดื่มดับกระหาย กลายเป็นสัญลักษณ์ที่จับคู่เข้ากับบรรยากาศเมืองร้อนแบบไทยๆ ไปโดยปริยาย
ส่วนสำนวน 'ปั้นน้ำเป็นตัว' ที่ถือกำเนิดมาคู่กับยุคแรกเริ่มของการก่อตั้ง โรงน้ำแข็ง
สยาม ก็กลายมาเป็นสำนวนอมตะ คู่สังคมไทยมาจนทุกวันนี้ครับ...
อ้างอิงจาก :
ภาพเก่าในอดีตการขนส่งน้ำแข็งก้อนใหญ่ ด้วยรถจักรยาน ภาพจาก www.facebook.com/fiftyplusthailand
โฆษณา