27 ต.ค. 2020 เวลา 12:38 • ปรัชญา
"ความสบาย" เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ใครหลายคนอยากไปให้ถึง
แต่ถ้าพูดถึง "ความลำบาก" ล่ะก็... มันก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากจะเดินผ่านมันเท่าไร
เขาว่ากันว่า...ต้องรู้จักความยากลำบากก่อนที่จะมีชีวิตที่สบาย
แต่ด้วยยุคสมัย ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะใช้ "ทางลัด"
หลีกหนีความลำบาก แล้วเดินมุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จอันแสน "สะดวกสบาย"
เราเองก็อยากจะทำแบบนั้น
แต่วันหนึ่ง กลับเข้าใจแล้วว่า "ความลำบาก" มันสำคัญกับชีวิตเรามาก
วันหนึ่งได้เรียนรู้จาก "อาจารย์ญี่ปุ่น" ท่านหนึ่งที่สอนภาษาญี่ปุ่น
วันนั้นเป็นคาบเรียนคาบสุดท้ายของการเรียนภาษาญี่ปุ่นระดับต้น
อาจารย์ถามทุกคนในห้องว่า
"ชอบเรียนคันจิไหม"
คนกว่าครึ่งห้องส่ายหัวกันใหญ่
* "คันจิ" ก็คืออักษรญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่ง ที่ยืมจากอักษรจีนมาใช้ เขียนเหมือนอักษรจีน แต่วิธีการอ่านต่างกัน มีทั้งการอ่านแบบจีนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังต้องเรียนอักษรแบบญี่ปุ่นเองด้วย ซึ่ง "คันจิ" เป็นตัวอักษรที่ทุกคนเทใจให้เลยว่ามีความยากมากๆ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองยังออกปาก*
เล่าต่อ...
แล้วอาจารย์ก็ถามต่อไปว่า
“รู้ไหมว่า คนญี่ปุ่นมีอักษรคันจิไว้เพื่ออะไร”
ทุกคนส่ายหัวเพราะไม่รู้จริงๆ บางคนก็คงคิดในใจว่า
จะเรียนไปให้มันยุ่งยากทำไมกันนะ
อาจารย์ยกแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งขึ้นมามีตัวอักษรคำว่า 「利便性」
"ri-ben-sei หรือ ความสะดวกสบาย"
“เรามีคันจิไว้เพื่อความสะดวก” อาจารย์เฉลยคำตอบที่ถามค้างไว้เมื่อกี้
ทุกคนถึงคิ้วขมวดชนกัน ทำหน้างงกันเป็นแถว เพราะคันจิเขียนก็ยาก จำก็ยาก
ออกเสียงให้ถูกก็ยากด้วย จะมีไว้เพื่อความสะดวกได้อย่างไรกัน
อาจารย์ก็เลยยกคำที่มีอักษรฮิรากานะของญี่ปุ่นกับคันจิมาเทียบกัน
เลยทำให้เราและทุกคนในห้องเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันสะดวกอย่างไร
ภาษาญี่ปุ่นมีคำพ้องรูป พ้องเสียงอยู่ค่อนข้างเยอะ ถ้าไม่มีคันจิ
ก็จะการแยกความหมายของคำที่พ้องรูป พ้องเสียงได้ยาก
สร้างความวายป่วงในการสื่อสารได้
และสิ่งพิเศษของอักษรคันจิอีกอย่างก็คือ มันเป็น "อักษรภาพ"
แม้ว่าเราจะอ่านไม่ออก แต่ก็สามารถเดาความหมายได้
และถ้าเรารู้พื้นฐานของคันจิมาบ้าง จะสามารถเดาทิศทางความหมายของคำได้เช่นกัน เช่น
"รถ" คันจิคือคำว่า 「車」
"สถานที่" คือคำว่า 「場所」
พอไปเจอคันจิคำว่า 「駐車場」
ก็พอจะเดาออกว่ามันต้องเป็นสถานที่สำหรับให้รถทำอะไรสักอย่าง
ซึ่งความหมายที่แท้จริงของคำนี้คือ “ที่จอดรถ” นั่นเอง
“ลำบากในตอนแรก เพื่อที่เราจะได้สบายในภายหลัง”
อาจารย์ญี่ปุ่นพูดขึ้น
"เพราะว่ามีคันจิ เลยทำให้การสื่อสารของเราเป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีความผิดพลาดด้านความหมายให้ปวดหัว ลองนึกถึงวันที่ภาษาญี่ปุ่นมีแต่ตัวฮิรากานะแล้วล่ะก็ นึกไม่ออกเลยว่าจะวุ่นวายกันขนาดไหน"
"แม้รู้ว่ามันยาก มันลำบากในการจดจำ แต่เราได้ค้นพบว่า
สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสื่อสารที่สะดวกสบายในอนาคต"
บางทีความสบายที่ถาวร ย่อมมาจากการรู้ซึ้งถึงความยากลำบาก
ความลำบากนำมาซึ่งความสะดวกสบาย
แต่ความสะดวกสบายอาจทำให้เรารับมือไม่ไหวกับความยากลำบากที่เรา...
“ไม่เคยพบเจอ”
หลังจากอาจารย์พูดจบ ก็ยกแผ่นกระดาษแผ่นเดิมขึ้นมาอีกครั้ง
แม้ตัวอักษรจะเต็มไปด้วยลายเส้นมากมาย แม้ว่ามันจะดูอ่านยาก
แต่ทุกคนในห้องก็อ่านออกเสียงได้อย่างแม่นยำ
"ri-ben-sei"
"ความสะดวกสบาย"
ความลำบากที่เหมือนจะเนิ่นนาน แต่เมื่อเทียบกับความสบายที่ตามมา
มันอาจเป็นเพียงความลำบากแค่ไม่กี่อึดใจ
ที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายอย่างถาวร
ดังที่เราเคยได้ยินกันว่า
"ลำบากในวันนี้ เพื่อความสบายในวันข้างหน้า"
แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากพบเจอความลำบาก
แต่ชีวิตเราในบางจังหวะก็ไม่มีสิทธิ์เลือกได้ขนาดนั้น
แต่ถ้าเราสามารถต่อสู้กับความยากลำบากไปได้
ต่อให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ก็ไม่มีอะไรที่เราต้องกลัว
ทำนองว่า...
หนักกว่านี้ เราก็ผ่านมาแล้ว
อย่างสบายมาก.
โฆษณา