27 ต.ค. 2020 เวลา 01:00
"ลอสแองเจลลิส" เมืองทูตสวรรค์แห่งอเมริกา
แม้ผังเมืองดีแค่ไหน ก็ไม่รอดติดอันดับเมืองรถติดโลก
1
ในบรรดารายชื่อของเมืองที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด "ลอสแองเจลลิส" หรือ "แอลเอ" คงเป็นหนึ่งในเมืองที่ต้องเคยเห็นผ่านตาหรือได้ยินชื่อเข้าหูมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก เทียบเท่ากับ นิวยอร์ก ชิคาโก หรือซานฟรานซิสโก เพราะภาพของเมืองเหล่านี้จะถูกฉายให้ผู้คนทั่วโลกมองเห็นผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูดดังๆ ที่ทรงอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของโลก ซึ่งก็มีต้นกำเนิดจากแอลเอนี่เอง ดังป้าย Hollywood ที่ตั้งเด่นอยู่บน Mount Hollywood ซึ่งสะท้อนตัวตนของเมืองนี้ได้อย่างชัดเจน
อย่างที่รู้กันคือ แอลเอเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดติดอันดับท็อบ 3 ของสหรัฐฯ เมืองที่มีประชากรที่รวมทั้งในเขตตัวเมืองและพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบรวมกันมากกว่า 18 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 12,562 ตารางกิโลเมตร นับเป็นเขตพื้นที่เมืองที่กว้างที่สุดของสหรัฐฯ เมื่อมีขนาดของเมืองที่กว้างใหญ่และประชากรจำนวนมากขนาดนี้ ปัญหาที่แอลเอต้องเผชิญมาเป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษก็คือ การจราจรติดขัด
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Inrix บริษัทวิเคราะห์ด้านคมนาคมเปิดเผยว่า ปี 2019 ที่ผ่านมา ผู้คนในนครลอสแองเจลิสใช้เวลาอยู่บนท้องถนนช่วงเร่งด่วนเฉลี่ย 102 ชั่วโมงต่อปี มากกว่าทุกเมืองในโลก โดยเวลาที่ใช้ไปกับการเดินทางที่เป็นระยะทางปกติในช่วงเร่งด่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 44 นาทีต่อวัน และช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า ผู้ขับขี่ต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนานขึ้น 67% ส่วนช่วงเวลาเร่งด่วนตอนค่ำ ผู้ขับขี่ต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนานขึ้น 84%
ทำไมแอลเอ เมืองที่มีการจัดผังเมืองแบบกริด หรือแบบตารางที่เป็นรูปแบบของผังเมืองที่นิยมในสหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรูปแบบผังเมืองที่ดีที่สุดในโลก กลับไม่ช่วยให้แอลเอรถไม่ติด มิหนำซ้ำยังครองอันดับเมืองรถติดอันดับต้นๆ ของโลกไม่ต่างกับเมืองใหญ่ต่างๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
หากวิเคราะห์ทางกายภาพของเมืองตามพื้นที่ตั้งแล้ว แอลเอตั้งอยู่บนพื้นที่ราบแอ่งกระทะขนาดใหญ่ที่ชื่อเดียวกับเมืองห้อมล้อมด้วยเทือกเขาต่างๆ ล้อมเมืองเอาไว้ ซึ่งภายในเขตเมืองทั้งหมดมีการจัดรูปแบบการใช้ประโยชน์ของที่ดินคล้ายๆ กับเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ คือ เขตศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและธุรกิจ จะถูกจัดสรรพื้นที่ไว้ที่ใจกลางของเมือง ซึ่งเป็นเขตที่ให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ได้ หลังจากนั้นกฎหมายผังเมืองจะค่อยๆ ลดขีดจำกัดในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ลงมาเรื่อยๆ จากศูนย์กลาง ซึ่งในกรณีของแอลเอนั้นพื้นที่ที่ถูกจัดสรรให้สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้มีความกว้างเพียงไม่กี่ช่วงถนน ทำให้เมื่อมองดูภาพของเมืองแอลเอแล้วจะเห็นว่า มีกลุ่มตึกสูงขนาดใหญ่ตั้งตระหง่าอยู่เพียงไม่กี่ตึกเท่านั้นตรงกลางเมือง หากขยับออกไปจากเขตดาวทาวน์ของเมืองแล้ว จะเป็นอาคารความสูงไม่เกินสิบชั้น และถ้ายิ่งขยับไกลออกไปเรื่อยๆ ก็จะเหลือเพียงบ้านที่ความสูงไม่เกิน 3 - 5 ชั้น แผ่ขยายล้อมรอบตัวเมืองไกลออกไปได้มากกว่า 120 กิโลเมตร จรดกับเมืองขนาดกลางที่อยู่ข้างเคียงอย่าง แอนเทรีโอ ซานเบอร์นาร์ดิโน และซานดิเอโก ที่อยู่ไกลออกไปเกือบ 200 กิโลเมตรเลยทีเดียว
1
ซึ่งการที่เมืองแผ่ขยายในแนวราบออกไปทุกทิศทุกทางไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำเกิดปัญหาการจราจรตามมา เพราะในพื้นที่รอบนอกตัวเมืองชั้นในของแอลเอ ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางเข้าและออกเมืองเพื่อไปทำงานในตัวเมืองในตอนเช้าและกลับออกจากเมืองในตอนเย็น ซึ่งแอลเอมีจำนวนรถยนต์ที่วิ่งเข้าออกเมืองในแต่ละวันมากกว่า 10 ล้านคัน บนถนนสายหลัก 4 สาย ที่เป็นระดับไฮเวย์ โดยมีถนนสายสำคัญที่ผ่านใจกลางย่านดาวทาวน์อย่างสาย Golden State Freeway หรือ ฟรีเวย์หมายเลข 5 ที่เชื่อมระหว่างทิศเหนือและใต้ของแอลเอ และสาย Sata Monica Freeway หรือ ฟรีเวย์หมายเลข 10 ที่เชื่อมระหว่างตะวันออกไปสิ้นสุดที่เมืองซานตา โมนิกาทางตะวันตกของแอลเอ นับเป็นถนนสายสำคัญของมหานครแห่งนี้ที่มีผู้คนขับรถผ่านอย่างหนาแน่นเพื่อเข้าออกเมืองทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีสาย Harbor Freeway and Transit Way สาย 110 และ สาย Santa Ana Freeway สาย 101 ที่ผ่านใกล้ย่านใจกลางแอลเอ ที่ก็มีความหนาแน่นของยวดยานพาหนะไม่แพ้กัน
ปัญหาสำคัญของการขยายตัวของแอเลที่กว้าง แต่ความหนาแน่นต่ำ ทำให้แอลเอขาดระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ การรอรถเมล์สักคันเพื่อเดินทางเข้าและออกเมืองในถนนสายรองรอบนอกเป็นเรื่องที่นานและเสียเวลาอย่างมาก เพราะรถเมล์ค่อนข้างมีน้อยแถมไม่ครอบคลุม บางย่านมีรถเมล์แค่ไม่กี่เที่ยวต่อวัน ทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวกสบายเท่ากับเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐที่มีความหนาแน่นของเมืองมากกว่า เช่น นิวยอร์ก และชิคาโก มันเลยบีบให้ผู้คนในแอลเอจำเป็นต้องซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาขับ เพราะมันสะดวกสบายในการไปไหนมาไหนมากกว่า
ส่วนระบบรถไฟและรถไฟฟ้าที่เชื่อมกันภายในเมืองก็ถือว่ามีจำนวนสายที่น้อย ไม่ครอบคลุมการให้บริการประชาชน จากการสำรวจชุมชนชาวอเมริกันในปี 2560 พบว่ามีชาวเมืองที่ทำงานในลอสแองเจลิสเพียง 9.2% เดินทางไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
ระบบรถไฟและรถไฟใต้ดินของเมืองนี้ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 สาย จำนวน 93 สถานีเชื่อมต่อพื้นที่ในเขตเมืองและปริมณฑลทุกทิศทุกทางก็จริง แต่ด้วยจำนวนสายรถไฟที่น้อย และไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรเกือบ 19 ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมหานครนิวยอร์กที่มีจำนวนสายรถไฟทั้งใต้ดินและบนดินภายในเมืองถึง 36 สาย 472 สถานี เรียกได้ว่าเดินไปแทบทักหัวมุมถนนก็จะเจอสถานีรถไฟใต้ดินดักรออยู่ ซึ่งการที่แอลเอมีระบบขนส่งมวลชนที่น้อยเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่หัวแถวเกรดเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์การเดินทางด้วยบริการรถสาธารณะได้ แม้ว่าจะมีผู้คนใช้บริการรถไฟใต้ดินของแอลเอพลุกพล่านมากที่สุดเป็นดันดับที่ 9 ของประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัด หรือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวของชาวเมืองลงได้ เพราะชาวแอลเอชอบการขับรถยนต์ส่วนตัวมากกว่านั้นเอง
ตามรายงานของ INRIX ยังพบกับข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ปัญหาการจราจรติดขัดทำให้เมืองลอสแองเจลิส เกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจไป 1,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ตัวเลขดังกล่าวประมวลออกมาโดยดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น โอกาสการสูญเสียปัจจัยด้านการผลิตจากแรงงานที่ต้องรถติดอยู่บนท้องถนน ต้นทุนด้านการขนส่งที่สูงขึ้น และเชื้อเพลิงที่ถูกเผาไหม้
ที่สำคัญคือการออกแบบโครงสร้างเมืองของแอเอถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อให้รถยนต์เป็นใหญ่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งหากเปรียบเทียบกับนิวยอร์กที่สามารถจำกัดจำนวนคนที่ซื้อรถยนต์ส่วนตัวได้ เพราะค่าจอดรถแพงและระบบขนส่งสาธารณะทั่วถึงพื้นที่ทั้งเมือง อีกทั้งยังให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่แอลเอผู้คนครอบครองรถยนต์ได้ง่ายกว่า และที่จอดสามารถหาริมถนนตรงไหนก็ได้
แต่ไม่ใช่ว่าทางการของแอลเอจะไม่พยายามหาทางแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดสะสมมายาวนาน เพราะในปี 2016 มีการอนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงไฮเวย์ทั่วเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อจะลดเวลาการเดินทางลงให้ได้ 15% ในปี 2057 แต่ถึงกระนั้นนักวิชาการด้านผังเมืองและการคมนาคมไม่เชื่อว่าการปรับปรุงถนนและไฮเวย์จะช่วยลดปัญหารถติดได้ เพราะผู้คนก็ยังต้องการใช้รถยนต์อยู่ดี เนื่องจากมันสะดวกกว่าและภาพลักษ์ดูดีกว่า
และการขยายถนนและไฮเวย์ยิ่งเพิ่มจำนวนรถยนต์ที่วิ่งในบริเวณเดียวกันและในเวลาเดียวกัน เพราะการขยายถนนจะรองรับรถยนต์ได้มากขึ้น ทุกคนก็ยิ่งนำรถออกมาขับกันมากขึ้น
ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาใหญ่ของแอลเอที่ต้องเผชิญกับรถติดต่อไปอีกยาวนาน เพราะว่าผู้คนในเมืองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการลดการใช้รถส่วนตัวแล้วมาขึ้นรถสาธารณะแทน สะท้อนให้เห็นได้ว่าต่อให้ผังเมืองจะเป็นแบบไหน ระบบขนส่งจะครอบคลุมเพียงใด แต่สุดท้ายถ้าการขับรถไปไหนมาไหนเองมันคือคำตอบของการดำเนินชีวิต ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขเรื่องการจราจรได้เลย ต่อให้จะตัดถนนเพิ่มอีกกี่สาย สร้างทางด่วนซ้อนขึ้นไปอีกกี่ชั้น ก็ไม่มีทางเพียงพอต่อจำนวนรถยนต์ที่กรูกันออกมากองบนท้องถนน ที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลงนั้นเอง
โฆษณา