27 ต.ค. 2020 เวลา 08:29 • การเมือง
บทบาทของรัสเซีย ในกรณีพิพาทดินแดน Nagorno-Karabakh
แม้จะมีทั้งรัสเซียและอเมริกาเข้ามาห้ามทัพ เป็นคนกลางในการเจรจาหยุดยิง แต่อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานก็ยังปะทะกันไม่เลิกเพื่อแย่งชิงพื้นที่พิพาท "นากอร์โน-คาราบัค" (Nagorno-Karabakh)
นากอร์โน-คาราบัค เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น (ถ้าจะให้ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างสองชาติจริงๆ คงต้องย้อนกลับไปมากกว่า 100 ปี)
ดินแดนพิพาทบนเทือกเขาคอเคซัสแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศอาเซอร์ไบจาน แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนีย
นากอร์โน-คาราบัคเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
ในสมัยที่โซเวียตอ่อนแอใกล้ล่มสลาย นากอร์โน-คาราบัคได้ประกาศอิสระภาพเพื่อจะเข้าร่วมกับอาร์เมเนีย ทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้น และสุดท้ายก็ได้รัสเซียเข้ามาทำหน้าที่เจรจาสงบศึกในปี 1994
หลังจากสงครามในช่วงต้นยุค 90s อาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานก็ทำสงครามเย็นกันมาตลอด และนานาชาติก็ได้เข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยทุกครั้งที่เหตุการณ์จะบานปลาย โดยมีรัสเซียเป็นหัวหอกในการเจรจา
ในทางทฤษฎีรัสเซียเป็นพันธมิตรของอาร์เมเนีย ทั้งรัสเซียและอาร์เมเนียเป็นสมาชิกของ Collective Security Treaty Organisation (CSTO) ซึ่งมีข้อตกลงว่าเมื่อประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่งถูกรุกราน ประเทศสมาชิกที่เหลือต้องเข้าไปช่วยเหลือ คล้ายกับข้อตกลงระหว่างสมาชิก NATO
นอกจากนี้ อาร์เมเนียยังอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ที่นำโดยรัสเซียด้วย
แต่ในทางปฎิบัติ นอกจากการขายอาวุธแล้ว รัสเซียก็แทบจะไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยอาร์เมเนียเลย
เหตุผลว่าทำไมรัสเซียนิ่งเฉย สามารถสรุปได้คร่าวๆดังนี้
ข้อแรก การจะเข้าไปช่วยเหลืออาร์เมเนียต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล
กองทัพของอาร์เมเนียค่อนข้างโบราณ ไม่ได้มีอาวุธทันสมัยจำนวนมากเหมือนอาเซอร์ไบจาน
นอกจากนี้อาเซอร์ไบจานยังได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากตุรกี
นานาชาติก็รับรองว่านากอร์โน-คาราบัคเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน
สิ่งเดียวที่ฝ่ายอาร์เมเนียได้เปรียบเห็นจะเป็นความคุ้นชินและเข้าใจในสภาพพื้นที่ของนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการต่อสู้ภาคพื้นดิน
การเข้าไปช่วยอาร์เมเนียที่มีความเสี่ยงว่าจะบานปลายเป็นสงครามภูมิภาค ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับรัสเซียที่กำลังตกที่นั่งลำบากจากวิกฤติเศรษฐกิจและโควิดแน่ๆ
ข้อสอง รัสเซียไม่มีความจำเป็นต้องง้ออาร์เมเนีย
อาร์เมเนียไม่ได้มีทางเลือกมากนักเพราะเป็นประเทศ landlocked ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีงบในการพัฒนาอาวุธไว้ป้องกันตนเอง
หนำซ้ำอาร์เมเนียยังอยู่ระหว่างอาเซอร์ไบจานและตุรกีผู้เป็นศัตรู
อิหร่านที่อยู่ที่กับตอนใต้ของอาร์เมเนียก็เป็นชาติมุสลิมเหมือนอาเซอร์ไบจานและตุรกี (แม้จะเป็นคนละนิกายกัน)
สรุปสั้นๆคือ ชาติอาร์เมเนียที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกล้อมรอบโดยประเทศมุสลิมซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยกองกำลังรบอย่างโดดเดี่ยว
ส่วนจอร์เจียที่อยู่เหนืออาร์เมเนียนั้น แม้จะมีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่แน้นแฟ้นต่อกัน เพราะจอร์เจียต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งอาเซอร์ไบจานและตุรกี
นอกจากนี้จอร์เจียยังนิยม EU และกลุ่มชาติตะวันตกในขณะที่อาร์เมเนียเป็นพันธมิตรกับกลุ่มยูเรเซีย
Map of Armenia (Source: BBC)
เพราะฉะนั้น แม้จะผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการที่รัสเซียนิ่งเฉย อาร์เมเนียก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหวังพึ่งรัสเซียต่อไป
ข้อสามและเป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ รัสเซียพึงพอใจกับสถานภาพที่เป็นอยู่ของนากอร์โน-คาราบัค และต้องการจะรักษา status quo นี้ไว้ เพื่อผลประโยชน์ของตน
รัสเซียไม่ได้ขายอาวุธให้กับอาร์เมเนียฝ่ายเดียวแต่ยังขายให้อาเซอร์ไบจานด้วย
อิทธิพลที่รัสเซียมีต่อประเทศทั้งสองนี้ทำให้รัสเซียสามารถ escalate หรือ de-escalate สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคคอเคซัสได้ตามต้องการ
รัสเซียอาจจะเร่งกระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่เพื่อไว้ใช้ต่อรองกับชาติตะวันตก หรือ อาจจะพยายามเพิ่มความตึงเครียดเพื่อสร้างข้ออ้างในการเพิ่มกำลังทหารของตนลงไปในภูมิภาคคอเคซัสก็ได้
รัสเซียใช้ frozen conflicts หรือกรณีความขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลายในประเทศกลุ่มสหภาพโซเวียตเก่า (Post-Soviet states) เป็นเครื่องมือในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว หลักๆคือรัสเซียต้องการกัดกร่อน European order ที่เน้นการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ และหวังจะบล๊อคไม่ให้เหล่าประเทศ post-Soviet ไปเข้าร่วมกับ NATO
ข้อสุดท้ายคือรัสเซียไม่พอใจและไม่ไว้ใจอาร์เมเนีย
Nikol Pashinyan นายกฯคนปัจจุบันของอาร์เมเนียเป็นผู้นำการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) ในปี 2018
รัสเซียไม่ชอบผู้นำที่ได้มาจากการปฏิวัติแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะการปฏิวัติในกลุ่มประเทศ post-Soviet เช่น Rose Revolution ในจอร์เจียเมื่อปี 2003 และ Orange Revolution ในยูเครน ล้วนแล้วแต่จะสร้างผู้นำที่ต่อต้านรัสเซียและมีแนวทางร่วมกับชาติตะวันตก
นายกฯ Pashinyan ยังไม่แบนสื่อที่วิจารณ์รัสเซียแถมยังมีนโยบายกวาดล้างคอร์รัปชั่นซึ่งไม่เป็นผลดีกับเหล่ามาเฟียรัสเซียที่มีอิทธิพลในอาร์เมเนียอีกด้วย
Reference List:
Batashvili, David. "Nikol Pashinyan’s Russian Problem". Rondell Foundation. https://www.gfsis.org/publications/view/2684.
BBC. "Nagorno-Karabakh conflict: US-brokered ceasefire frays soon after starting". Published October 26, 2020. https://www.bbc.com/news/world-europe-54686284.
Blank, Stephen. "Russia and the Black Sea’s Frozen Conflicts in StrategicPerspective". Mediterranean Quarterly 19, no. 3 (2008): 23-54.
International Crisis Group (ICG). Nagorno-Karabakh’s Gathering War
Clouds. Brussels: International Crisis Group, 2017.
Popescu, Nice. "A captive ally: Why Russia isn’t rushing to Armenia’s aid". European Council on Foreign Relations. Published October 8, 2020. https://www.ecfr.eu/article/a_captive_ally_why_russia_isnt_rushing_to_armenias_aid.
โฆษณา