27 ต.ค. 2020 เวลา 13:29 • ประวัติศาสตร์
• ใครเป็นใครในสงครามกลางเมืองจีน 🇨🇳🇹🇼
มาทำความรู้จักกับเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของจีน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai Revolution) เพื่อล้มล้างราชวงศ์ชิงในปี 1911, การสถาปนาสาธารณรัฐจีน, ช่วงสมัยยุคขุนศึก และสงครามกลางเมืองจีน ที่นำไปสู่การสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน
• ซุนยัตเซ็น (Sun Yat-sen : 孫中山)
เขาคือผู้ก่อตั้งขบวนการปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ย (Tong Meng Hui) กลุ่มปฏิวัติสำคัญในเหตุการณ์ปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai Revolution) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม 1911 อันเป็นการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง และระบอบฮ่องเต้ของจีน โดยในเดือนธันวาคม 1911 ซุนยัตเซ็นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกของจีน
ในที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ 1912 การปฏิวัติซินไฮ่ประสบความสำเร็จ ระบอบฮ่องเต้ของจีนที่ยาวนานกว่า 3,000 ปีถึงกาลล่มสลาย พร้อมกับการสถาปนาสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ปกครองแผ่นดินนับแต่นั้นมา
ทว่าหลังจากนั้น ซุนยัตเซ็นได้มอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับหยวนซื่อข่าย (Yuan Shikai) ตามข้อตกลงที่ทำกันในช่วงปฏิวัติ ซุนยัตเซ็นจึงเดินทางกลับไปยังภาคใต้ของจีน ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิมของเขา
ต่อมาในปี 1917 รัฐบาลเป่ยหยางเกิดความแตกแยกและแย่งชิงอำนาจกัน ก่อให้เกิดเป็นยุคสมัยขุนศึก (Warlord Era) ทำให้ซุนยัตเซ็นตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang : หรือขบวนการถงเหมิงฮุ่ยเดิม) มีอำนาจอยู่ทางใต้ของจีน
ท้ายที่สุดในปี 1925 ซุนยัตเซ็นได้เสียชีวิตลง ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขาก็คือ เจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek) ซึ่งต่อมาเขาจะรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกแยกจากยุคขุนศึกให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ซุนยัตเซ็นกลายเป็นบุคคลสำคัญ ที่ชาวจีนล้วนให้ความเคารพในฐานะบิดาผู้สร้างชาติจีน มาจนถึงปัจจุบัน
• หยวนซื่อข่าย (Yuan Shikai : 袁世凱)
เขาคือผู้บัญชาการแห่งกองทัพเป่ยหยาง (Beiyang Army)ซึ่งเป็นกองทัพที่มีความสำคัญที่สุดในช่วงปลายราชวงศ์ชิง คนส่วนใหญ่มักจะมองหยวนซื่อข่ายว่าเป็นพวกตีสองหน้า และไว้ใจไม่ได้ นั้นก็เพราะเบื้องหน้าเขาทำตัวจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง แต่ลับหลังเขากลับกระหายอำนาจและเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติเสียเอง
เมื่อเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ในปี 1911 กองทัพเป่ยหยางของหยวนซื่อข่าย ก็ทำศึกต่อสู้กับฝ่ายปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ย ทว่าต่อมาทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาต่อกัน โดยหยวนซื่อข่ายตกลงที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ โดยมีข้อแม้ว่าซุนยัตเซ็นจะต้องมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับเขา หลังสิ้นสุดการปฏิวัติ
ในที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ 1912 หยวนซื่อข่ายก็บีบบังคับให้ยุวฮ่องเต้ปูยี (Pu Yi) สละบัลลังก์ได้สำเร็จ เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ชิง ต่อมาหยวนซื่อข่ายจึงขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน และจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่กรุงปักกิ่งเรียกว่า รัฐบาลเป่ยหยาง (Beiyang Government)
แต่ต่อมา หยวนซื่อข่ายก็แสดงถึงความกระหายอำนาจของเขา เขากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐบาลและปกครองแบบเผด็จการ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของเขาถึงขั้นที่ว่า ในต้นปี 1916 หยวนซื่อข่ายตั้งตัวเองเป็นฮ่องเต้ และพยายามทำให้จีนกลับมาเป็นระบอบฮ่องเต้อีกครั้ง
แต่นั้นก็เพียงไม่นานนัก เพราะเกิดกระแสต่อต้านจากคนทั้งแผ่นดิน ท้ายที่สุด หยวนซื่อข่ายทนกระแสต่อต้านไม่ไหว และยอมยกเลิกการตั้งตัวเองเป็นฮ่องเต้ แต่เขายังคงไม่ยอมวางอำนาจจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่ในเดือนมิถุนายน 1916 หยวนซื่อข่ายจะล้มป่วยลงและเสียชีวิตในท้ายที่สุด
• ต้วนฉีรุ่ย (Duan Qilui : 段祺瑞)
หลังการเสียชีวิตของหยวนซื่อข่าย ได้ทำให้รัฐบาลเป่ยหยางเกิดความแตกแยก แผ่นดินจีนแตกออกเป็นหลายก๊กแย่งชิงอำนาจกัน ยุคสมัยขุนศึก (Warlord Era) จึงเริ่มต้นขึ้น
ภายในรัฐบาลเป่ยหยางเกิดการแตกแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอันฮุย (Anhui Clique) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีต้วนฉีรุ่ย (Duan Qilui) และกลุ่มจื่อลี่ (Zhili Clique) ภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีเฝิงกั๋วจาง (Feng Guozhang) ทว่าในตอนนั้นอำนาจอยู่ในมือกลุ่มอันฮุยมากกว่า
ผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลเป่ยหยางภายใต้การนำของต้วนฉีรุ่ยและกลุ่มอันฮุย ก็คือการนำจีนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจให้กับกลุ่มจื่อลี่และนักปฏิวัติสายซุนยัตเซ็น (เพราะกลุ่มเหล่านี้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเยอรมัน และนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ซุนยัตเซ็นตั้งรัฐบาลก๊กมินตั๋งอยู่ทางใต้ของจีนอีกด้วย)
อีกหนึ่งผลงานสำคัญของกลุ่มอันฮุย ก็คือการกู้ยืมเงินจากญี่ปุ่น (เงินกู้นิชิฮาระ Nishihara Loans) โดยกลุ่มอันฮุยอ้างว่าเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศจีน และใช้ในการสงคราม แต่จริง ๆ แล้วนำไปใช้เป็นบำเหน็จ และเลี้ยงดูกลุ่มอันฮุยด้วยกันเอง
แต่สิ่งที่เลวร้ายก็คือ ผลของการกู้เงินได้ทำให้จีนต้องยกดินแดนซานตงให้กับญี่ปุ่น ผลคือก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่โดยกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนชาวจีน เรียกว่าเหตุการณ์ การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม (May Fourth Movement) เมื่อปี 1919 เพื่อขับไล่รัฐบาลขายชาติของกลุ่มอันฮุย
ท้ายที่สุดต้วนฉีรุ่ยและกลุ่มอันฮุยก็หมดสิ้นอำนาจลง เมื่อพ่ายแพ้ในสงครามกับกลุ่มจื่อลี่ (Anhui-Zhili War) ในปี 1920
• เฝิงกั๋วจาง (Feng Guozhang : 馮國璋)
กลุ่มจื่อลี่ (Zhili Clique) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่แย่งชิงอำนาจภายในรัฐบาลเป่ยหยาง กลุ่มจื่อลี่มีผู้นำคือ เฝิงกั๋วจาง ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีภายหลังการเสียชีวิตของหยวนซื่อข่าย
กลุ่มจื่อลี่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับกลุ่มอันฮุยของต้วนฉีรุ่ยมาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับชัยชนะในปี 1920 กลุ่มจื่อลี่เข้ามามีอำนาจในรัฐบาลเป่ยหยาง ภายใต้การร่วมมือกับกลุ่มเฟิ่งเทียน (Feng Tian) อีกหนึ่งกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจในดินแดนแมนจูเรียทางตอนเหนือของจีน
ท้ายที่สุดเกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มจื่อลี่กับกลุ่มเฟิ่งเทียน จนทำให้กลุ่มเฟิ่งเทียนก่อรัฐประหารที่กรุงปักกิ่ง (Beijing Coup) ในปี 1924 อันเป็นจุดสิ้นสุดของกลุ่มจื่อลี่ในรัฐบาลเป่ยหยาง
• จางจั้วหลิน (Zhang Zuolin : 張作霖)
เขาเป็นผู้นำของกลุ่มเฟิ่งเทียน (Feng Tian Clique) อีกหนึ่งกลุ่มอิทธิพลในยุคขุนศึกของจีน โดยอำนาจของกลุ่มนี้ จะอยู่ในบริเวณดินแดนแมนจูเรีย (Manchurian) ทางตอนเหนือของจีน นอกจากนี้กลุ่มเฟิ่งเทียนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นอีกด้วย
กลุ่มเฟิ่งเทียนร่วมมือกับกลุ่มจื่อลี่ ทำการโค่นล้มอำนาจของกลุ่มอันฮุยในปี 1920 โดยสมาชิกกลุ่มเฟิ่งเทียนบางส่วน ได้เข้ามามีอำนาจภายในรัฐบาลเป่ยหยางของกลุ่มจื่อลี่อีกด้วย
แต่ท้ายที่สุดเกิดความแตกแยกของทั้ง 2 กลุ่ม จนำไปสู่สงครามและการรัฐประหารในปี 1924 ส่งผลให้กลุ่มเฟิ่งเทียนขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาลเป่ยหยาง
ท้ายที่สุดกลุ่มเฟิ่งเทียน ก็ถูกโค่นล้มโดยกองทัพของเจียงไคเช็ค เมื่อปี 1928 เป็นอันสิ้นสุดรัฐบาลเป่ยหยาง และยุคขุนศึกของจีน
• เจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek : 蔣中正)
เขาเป็นขุนศึก และทายาททางการเมืองคนสำคัญของซุนยัตเซ็น เจียงไคเช็คครองอำนาจต่อจากซุนยัตเซ็นในปี 1925 โดยเขามีเป้าหมายสำคัญที่จะจัดการกับกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ภายในรัฐบาลเป่ยหยาง รวมถึงกลุ่มขุนศึกในมณฑลต่าง ๆ เพื่อยุติยุคขุนศึกและรวมแผ่นดินจีนอีกครั้ง
และนั้นได้นำไปสู่การยกทัพครั้งใหญ่ของฝ่ายก๊กมินตั๋งในการรวมแผ่นดินจีนหรือ การยกทัพสู่ภาคเหนือ (Northern Expedition) ในปี 1926 ซึ่งการยกทัพครั้งนี้ ฝ่ายก๊กมินตั๋งยังได้ร่วมมือกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China) ในการทำศึกครั้งนี้อีกด้วย
ท้ายที่สุดกองทัพก๊กมินตั๋ง ก็สามารถรวมแผ่นดินได้สำเร็จในปี 1928 เจียงไคเช็คได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐจีน มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งใหม่อยู่ที่นครนานจิง (Nanjing)
แต่ต่อมาฝ่ายก๊กมินตั๋ง (หรือฝ่ายชาตินิยม) ได้ทำการกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์จีน จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองจีน (Chinese Civil War) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1927 จนถึง 1949 (แต่ในช่วงปี 1935-1945 ทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจา และร่วมมือกันต่อสู้กับญี่ปุ่นที่รุกรานจีน)
ท้ายที่สุดสงครามกลางเมืองจีน ก็สิ้นสุดลงในปี 1949 ด้วยชัยชนะของกองทัพฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนและเจียงไคเช็ค จึงเดินทางลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวัน และจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่นั้นจวบจนถึงปัจจุบันนี้
• เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong : 毛泽东)
เหมาเจ๋อตุงเริ่มต้นเข้าสู่แวดวงการเมือง ในเหตุการณ์การเคลื่อนไหว 4 พฤศภาคม 1919 เพื่อขับไล่รัฐบาลของกลุ่มอันฮุย ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1921 และเริ่มสร้างชื่อเสียงขึ้นมาหลังจากนั้น
ในช่วงปี 1926 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายชาตินิยมของเจียงไคเช็ค แต่ทว่าไม่นานนัก กลุ่มคอมมิวนิสต์กลับถูกกวาดล้างโดยฝ่ายชาตินิยม จนก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองจีน
ในช่วงปี 1929 จนถึง 1934 เหมาเจ๋อตุงมีอำนาจอยู่ในเขตปกครองโซเวียตเจียงซี (Jiang Xi Soviet) ซึ่งเป็นเขตการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในมณฑลเจียงซี ก่อนที่จะถูกกองทัพฝ่ายชาตินิยมบุกล้อมและโจมตี
ส่งผลให้เหมาเจ๋อตุงทำการอพยพผู้คนนับหมื่นคน เพื่อหลบหนีฝ่ายชาตินิยม เหตุการณ์ในครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ การเดินทัพทางไกล (The Long March) ซึ่งมีระยะทางมากกว่า 9,000 กิโลเมตร ในที่สุดพวกเขาก็สามารถอพยพได้สำเร็จ และตั้งศูนย์อำนาจอยู่ที่มณฑลซ่านสี
ในช่วงปี 1935 จนถึง 1945 ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลชาตินิยมได้ตกลงสงบศึก และร่วมมือกันต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ารุกรานแผ่นดินจีน ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของจีน
แต่ทว่าหลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็กลับมาทำสงครามกันอีกครั้ง และจบลงที่ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 เหมาเจ๋อตุงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา