29 ต.ค. 2020 เวลา 08:56 • อาหาร
‘วิเชียรบุรี’ ชื่อนี้นุ่มดีที่ ‘ไก่ย่าง’
ภาพจาก www.cheechongruay.smartsme.co.th/content/24178
‘เรื่องเก่าเล่าสนุก จากทุกยุคสมัย’ โดยนายโปส บทความนี้ จะขอฉีกสไตล์ หลุด
จากกรอบประวัติศาสตร์ ยุคเก่าแก่เดิมๆ ดูบ้าง
ลองไปรับรู้ความเป็นมาของ หนึ่งในอาหารการกินสุดยอดอร่อย และคลาสสิก ที่แพร่หลายไปทั่วไทยอย่าง 'ไก่ย่างวิเชียรบุรี' กันดูครับ..
ถึงแม้ทุกวันนี้ ไก่ย่างวิเชียรฯ จะผุดสาขา สูตรความอร่อย ไปแทบทุกริมถนนทาง
หลวง ของเมืองไทยไปแล้ว จะขับรถไปภูมิภาคไหน ก็ต้องผ่านเห็น ทั้งแผงริมทาง และร้านอาหารติดแอร์ อยู่เกลื่อนไปทั่ว แต่ของดั้งเดิมจริงก็ยังต้องยกให้กับตำนาน
หน้าแรก ของ ไก่ย่างวิเชียรบุรี ที่เพชรบูรณ์ อยู่นั่นเอง
แม้ฟังดูจะเป็นแค่เรื่องของไก่ย่าง แต่ ไก่ย่างวิเชียรฯ นี่แหละก็มีหน้าประวัติศาสตร์
เป็นของตัวเองเช่นกันนะครับ…
ภาพจาก www.osothoonline.com/phetchabun
ชื่อ ‘วิเชียรบุรี’ ที่นักชิมไก่ย่างทั้งหลายคุ้นเคย คือชื่ออำเภอหนึ่งของ
จังหวัดเพชรบูรณ์ ดินแดนมะขามหวาน และทะเลภูเขา ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก นั่นเอง
ช่วงปี 2503 – 2504 วิเชียรบุรี มีอาณาเขตปกครองที่มโหฬารมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีสภาพเป็นดงทึบรกชุม ด้วยความร้ายกาจของ ไข้มาลาเรีย มีถนนสายหลักเส้นเดียว ที่ใช้ในการคมนาคม ตัดพาดผ่าน คือ ถนนสายวิบูรณ์ หรือทางหลวงหมายเลข 21
จากสระบุรี ถึงหล่มสัก
ในยุคเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ถนนเส้นดังกล่าวยังมีสภาพเป็นถนนดินลำลอง ที่ทั้งขรุขระ
เป็นหลุมบ่อ หน้าแล้งเป็นฝุ่นกระจาย หน้าฝนก็กลายเป็นหล่มโคลน ใครที่มีธุระติด
ต่อราชการอำเภอ หรือค้าขายในตลาด ล้วนต้องอาศัยการเดินเท้า หรือใช้ล้อเกวียน ในการเดินทางกันทั้งนั้น
ชาวบ้านที่สัญจรผ่าน จึงมักใช้บริเวณ สามแยกวิเชียรบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 122 ที่
เรียกว่า 'บ้านสามแยกวิเชียรบุรี' ตำบลสระประดู่ ที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มตระหง่าน เป็นจุดแวะพักหลบร้อน ระหว่างเดินทางมาชั่วนาตาปี
นายทรวง ซึ่งจ่าย หรือ ตาแป๊ะ ตำนานไก่ย่างวิเชียรฯ ภาพจาก www.dooasia.com/trips
เมื่อย่านนี้กลายเป็นชุมทางพักผ่อนที่คึกคัก ชาวบ้านในละแวกนั้น ก็สบช่องทางทำ
กิน พากันทำอาหารของกิน ประเภทต่างๆ มาบริการ วางขายให้คนเดินทาง ทั้งขนม ของแห้ง ส้มตำ ข้าวเหนียว และที่ขาดไม่ได้คือ ไก่ย่าง ซึ่งมีรสชาติถูกปากคนทาน
มากที่สุด
ชาวบ้านถิ่นย่าน สามแยกวิเชียร รุ่นแรกที่ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้า แม่ค้าไก่ย่าง มีทั้ง ยายนวล ป้ากิมหลี และ นายทรวง ซึ่งจ่าย หรือ 'ตาแป๊ะ' ซึ่งรายหลังสุดนี่แหละคือ
เจ้าของตำนานไก่ย่างวิเชียร ตัวจริงที่ลือลั่นมาจนถึงวันนี้
ตาแป๊ะ เป็นชาวจีนอพยพ ที่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นพ่อค้าขายกาแฟอยู่ที่โรงเลื่อย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทั่งได้แต่งงานร่วมชีวิตกับ ‘นางคำเบ้า จันทร์ขัน’ จากนั้นทั้งคู่ก็ยังประกอบอาชีพขายกาแฟ และขายข้าวแกง เรื่อยมา
ก่อนจะชักชวนกันโยกย้ายถิ่นจาก หล่มสัก มาหาที่ทำกินใหม่ ณ สามแยกวิเชียรบุรี ห่างจากทางเข้าไปยังตัวอำเภอเพียง 50 เมตร ที่นี่ ตาแป๊ะ และภรรยา ยังคงประกอบอาชีพค้าขาย ปลูกผักส่งขายตลาด เลี้ยงไก่ไทยส่งขาย ก่อนที่แกจะเกิดแนวคิด
ก้าวหน้า นำไก่ที่เลี้ยงไว้มาแปรรูป เป็นไก่ย่าง ตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่
ปรากฏกิจการขายไก่ย่างในแถบนั้นมาก่อน...
รูปปั้นตาแป๊ะ ภายในร้านไก่ย่างตะแป๊ะ 2 ที่ อำเภอวิเชียรบุรี ภาพจาก www.painaidii.com/diary/diary-detail/002371/lang/th/
นายทรวง ยืนหยัดในอาชีพขายไก่ย่างเรื่อยมา สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวเล็กๆ ได้อย่างมั่นคง ขายทั้งไก่ย่างแบบไม้ ไม้ละ 5 บาท เป็นตัว ตัวละ 20 บาท
โดยร้านตำนานไก่ย่างวิเชียรฯ ของแก ใช้ชื่อร้านว่า 'ไก่ย่างตะแป๊ะ' ที่เริ่มต้นกิจการ การค้าด้วยรูปแบบของหาบเร่ ริมถนน ก่อนจะค่อยๆ ขยับพัฒนามาสู่ร้านแบบนั่งโต๊ะ เป็นกิจลักษณะ
พอถึงปี 2525 แม่ช้อยนางรำ ยอดนักชิมในยุคนั้น ก็เดินทางมาพิสูจน์ความอร่อยเด็ด เป็นที่ถูกอกถูกใจ จนมอบรางวัลการันตีให้ ร้านไก่ย่างตาแป๊ะ เป็น 1 ใน 10 ยอดอา
หารประจำปี จนทำให้สูตรไก่ย่างตาแป๊ะกลายเป็นต้นตำรับของ ไก่ย่างวิเชียรฯ
เจ้าอื่นๆ ตามมา
ด้วยชื่อเสียงความนิยมที่เกิดขึ้น กลายเป็นผลดี ทำให้ผุดเกิดอาชีพอื่นๆ อีกต่อมา
ขึ้นในละแวกนั้น ทั้งการเลี้ยงไก่ รับจ้างถอนขนไก่ ขายข้าวหลาม อาหาร และเครื่องดื่มอีกสารพัดชนิด
ความเป็นอมตะในรสชาติของ ไก่ย่างวิเชียรฯ ตาแป๊ะ คือกลิ่นหอมของ เครื่องเทศที่
ใช้หมักไก่ คิดสูตรเฉพาะตัวขึ้นมาเอง เอกลักษณ์อยู่ที่ความกรอบ เนื้อนุ่ม เคียงมา
ด้วยสูตรน้ำจิ้มที่เอร็ดอร่อย ผิดแผกไปจากน้ำจิ้มไก่อื่นๆ คือเป็นสูตรมะขาม และน้ำ
จิ้มสูตรกระเทียมดอง ที่กลมกล่อมแบบสามรส คละเคล้าทั้งหวาน เปรี้ยว เค็ม ใน
แบบฉบับของ เมืองเพชรบูรณ์แท้ๆ
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ไก่ย่างวิเชียรฯ จะครบครันไปด้วยคุณสมบัติคือ หนังไก่แห้งกรอบ เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอม และรสชาติเค็มมันกำลังดี ภาพจาก www.mgronline.com/travel/detail/
ไก่วิเชียรฯ ที่นำมาย่างมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ไก่ไทย หรือที่เรียกว่า ไก่บ้าน
กับ ไก่พันธุ์เนื้อ ที่รับมาจาก อำเภอหนองไผ่ ใช้กรรมวิธีหมักด้วยกระเทียม น้ำปลา
เกลือ พริกไทย รากผักชี ซอสปรุงรส ใส่ถุงพลาสติกแช่น้ำแข็งทิ้งไว้ค้างคืน เพื่อให้น้ำหมักซึมเข้าไปในตัวไก่ ก่อนจะมาผ่านการย่างในวันรุ่งขึ้น
สูตรของ วิเชียรบุรี จะใช้ไฟรุม ร้อนนุ่มๆ ให้ช่วยถนอมรักษาความหอมหวานเอาไว้
ปล่อยให้เปลวร้อนแผ่ซ่านจากด้านถูกไฟ ไล่ไปจนสุกถึงด้านไม่ถูกไฟ โดยไม่มีการทาสีเนื้อไก่ ให้ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ แต่ประการใด
วิธีย่างแบบนี้ ช่วยให้เนื้อไก่ไม่ช้ำ อร่อยนุ่ม มีกลิ่นหอม หนังไก่จะแห้งกรอบ เป็นเอกลักษณ์ยิ่งนัก..
ทุกวันนี้ ริมถนนทางหลวงสาย 21 สระบุรี - หล่มสัก ตามทางแยกเข้าอำเภอวิเชียรบุรี หรือที่เรียกว่า บ้านสามแยกวิเชียรบุรี ยังคงเป็นชุมทางที่ตั้งร้านไก่ย่างเลื่องชื่อมากมาย ทั้งร้านตะแป๊ะ 1 ซึ่งเป็นตำนานเจ้าต้นตำรับ และ ร้านตาแป๊ะ 2 ที่ดำเนินกิจการ
โดยทายาทของ ตาแป๊ะ สืบต่อมา
นอกจากนี้ยังมีร้านเจ้าอื่น ที่สืบทอดความอร่อยต่อมาอีก ทั้ง ร้านบัวตอง
ร้านศาลาไทย และศรีประภา นี่ยังไม่นับรวมร้านแบบเพิงตั้งเล็กๆ เรียงรายต่อเนื่อง
กันไปยาวหลายกิโล ซึ่งต่างก็คิดค้นเคล็ดลับสูตรความอร่อยของไก่ย่าง และน้ำจิ้ม
ตามแบบฉบับเฉพาะของตน ออกมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
ไก่ย่างวิเชียรบุรี จากต้นตำรับดั้งเดิม จึงแพร่กระจาย ขจรไกลออกไปจากแค่
เพียงอำเภอเล็กๆ ไปทั่วประเทศ กระทั่งเปลี่ยนรูปโฉมไปเป็น แฟรนไชส์ไก่ย่าง ใน
ทุกวันนี้
นี่คือเกร็ด และหน้าตำนานเล็กๆ ของอาหารสามัญธรรมดาอย่าง ไก่ย่างวิเชียรฯ
ที่ใครได้กลิ่น ก็ติดใจจนอยากลิ้มลองกันทุกคน...
รับข้าวเหนียวร้อนๆ กับไก่ย่างวิเชียรฯ ซักตัวไหมครับ !!
ไก่ย่างวิเชียรบุรี เคียงมากับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะทั้ง สูตรมะขาม และกระเทียมดอง ทานกับข้าวเหนียว เข้าคู่อย่างกลมกล่อมแบบสามรส ภาพจาก www.osothoonline.com/phetchabun
เรียบเรียงและเขียนใหม่จาก คอลัมน์ Thaiheritage วารสาร Advanced Thailand
Geographic ฉบับที่ 151 ปี 2559 โดย รัฐพล ศรีวิลาศ
โฆษณา