30 ต.ค. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (Siamese revolution of 1932) การปฏิวัติที่เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ไทย” ตอนที่ 2
“คณะราษฎร”
เมื่อรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ไม่ได้ทรงอยู่เฉย
1
รัชกาลที่ 7 นั้นไม่ได้ทรงคิดเลยว่าพระองค์จะต้องขึ้นรับราชสมบัติ เนื่องจากถึงแม้จะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นเอก หากแต่ก็เป็นพระราชโอรสองค์เล็ก ไม่มีใคร แม้แต่พระองค์เองจะทรงคิดว่าจะได้ขึ้นครองราชย์
เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ในขณะที่เงินแทบจะหมดท้องพระคลัง อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายในรัชกาลก่อน รัชกาลที่ 7 จึงไม่ทรงอยู่เฉย หากแต่ต้องทำทุกวิถีทางให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
3
พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในราชสำนัก และเสด็จไปทั่วประเทศ เยี่ยมเยียนพสกนิกร และออกงานต่างๆ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้นิ่งเฉย
4
รัชกาลที่ 7 ขณะทรงเยี่ยมประชาชน
แต่ถึงจะพยายามปรับตัว หากแต่คนหนุ่มผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะเหล่านักเรียนนอก ซึ่งมองเห็นปัญหาและความล้าหลังของประเทศ ต่างรู้สึกไม่พอใจ
2
คนหนุ่มเหล่านี้ เป็นบัณฑิตที่เรียนจบจากต่างประเทศ พวกเขาเห็นความเจริญของต่างประเทศ และเมื่อนำมาเทียบกับประเทศของตนแล้ว ช่างแตกต่างกันลิบลับ อีกทั้งยังมีเรื่องของการขาดโอกาสต่างๆ ความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้บัณฑิตเหล่านี้เริ่มจะคิดอะไรบางอย่าง หากแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
3
หากเป็นคนธรรมดา ผมคงพูดว่าซวยจริงๆ ซึ่งกับรัชกาลที่ 7 ก็เรียกได้ว่าท่านขึ้นครองราชย์ในเวลาที่มีแต่ปัญหา
ในยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่ม และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ.2469 ก่อนจะค่อยๆ ลามไปทั่ว แม้แต่ไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
1
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเสนอให้เก็บภาษีรายได้และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแบ่งเบาภาระของชาติ หากแต่สภาไม่เห็นด้วยเลย เนื่องจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ย่อมต้องกระทบถึงพวกตนแน่นอน
1
สภาได้แก้ปัญหาด้วยการลดเงินค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณทางทหารแทน ซึ่งทำให้เหล่าข้าราชการและทหารไม่พอใจมาก
1
ความไม่พอใจนี้ ได้ทำให้ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเป็นพระญาติกับรัชกาลที่ 7 ได้ทรงตัดสินพระทัยลาออก ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดช จะเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทพระองค์หนึ่ง หลังการปฏิวัติ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในบทต่อๆ ไป
1
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
ในเวลาเดียวกัน รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงมุ่งมั่นในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้านายพระองค์อื่น รวมทั้ง “เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์ (Raymond Bartlett Stevens)” ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ในการร่างรัฐธรรมนูญ
แต่หลายฝ่ายก็ได้ทูลทัดทานพระองค์ว่าชาวไทยยังไม่พร้อมต่อประชาธิปไตย หากแต่พระองค์ก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ราชวงศ์จักรีในปีพ.ศ.2475 หากแต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ถูกสภา ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายหลายพระองค์ตีตกไป
แต่ถึงรัชกาลที่ 7 จะทรงตั้งพระทัยจะมอบรัฐธรรมนูญ หากแต่ก็มีข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงโปรดประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เนื่องจากพระองค์เคยตรัสในทำนองที่ไม่เห็นด้วย หากจะให้ประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตย
9
ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จไปประทับพักผ่อนที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมอบหมายให้ “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ทรงทราบเลยว่า การเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เมื่อเสด็จกลับ ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม
4
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
ทางด้านเหล่าคนหนุ่ม หัวสมัยใหม่กลุ่มหนึ่ง พวกเขากำลังวางแผนจะทำอะไรบางอย่าง
1
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 (บางแหล่งบอกว่าปีพ.ศ.2469) ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในโรงแรมแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ในกองทัพไทยและนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่ง กำลังจับเข่า พูดคุยกันถึงเรื่องการหาทางเปลี่ยนแปลงสยาม
1
พวกเขาอยากจะตั้งกลุ่มหรือพรรคที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สยาม
ที่ผ่านมา กบฏ ร.ศ.130 เป็นตัวอย่างความพยายามเปลี่ยนแปลง หากแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า พวกเขาจึงต้องระมัดระวัง ไม่ซ้ำรอยกบฏ ร.ศ.130 จะต้องไม่พลาด
คนหนุ่มกลุ่มนี้เห็นความเจริญในประเทศตะวันตก และรู้สึกหงุดหงิดใจที่ประเทศไทยไม่เจริญดังเช่นตะวันตก หากแต่ย่ำอยู่กับที่ รวมทั้งการที่อำนาจทางการเมืองตกอยู่เพียงกลุ่มชนชั้นปกครองในสยาม
2
คนหนุ่มกลุ่มนี้นำโดย “ปรีดี พนมยงค์” พร้อมด้วย ร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ (จอมพลป. พิบูลสงคราม ในเวลาต่อมา) , ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), แนบ พหลโยธิน ต่างประชุมกัน โดยมีปณิธานให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งต่อมาเรียกว่า "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร"
2
อันที่จริง ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2467 ปรีดีได้พูดคุยและเห็นตรงกันกับ “ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี” เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อนแล้ว
ปรีดี พนมยงค์
กลุ่มคนหนุ่ม ที่ร่วมกันประชุมและตกลงทำการณ์ใหญ่นี้ เรียกตัวเองว่า “ผู้ก่อการ”
กลุ่มผู้ก่อการ ได้วางแผนว่าเมื่อกลับสยาม พวกตนจะหาทางเผยแพร่แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ต่างก็รู้ว่าคนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย และก็ตระหนักดีว่าชนชั้นกลางต่างก็ยังต้องพึ่งพาบารมีของขุนนางและชนชั้นสูงในการได้งาน ได้โอกาสในการทำงาน
ดังนั้นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ มีเพียงการทำรัฐประหารโดยทหารเท่านั้น
1
ด้วยเหตุนี้ “คณะราษฎร” จึงได้รับการก่อตั้ง
คณะราษฎร
เมื่อสิ้นยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) คณะผู้ก่อการได้เดินทางกลับสยาม และค่อยๆ เผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังเหล่าบุคคลต่างๆ ดึงเข้ามาเป็นพวก
ปรีดีได้เป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดึงตัวคนรุ่นใหม่ราวๆ 50 คน ผู้ที่ต้องการจะเห็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ เข้ามาเป็นพรรคพวก ในขณะที่ร้อยโทแปลก ซึ่งในเวลานั้น ได้เป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ได้พยายามดึงตัวนายทหารหลายนายเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งกองทัพเรือ ก็ได้มีการหาทางขยายแนวคิดและดึงตัวบุคลากรให้เข้ามาสนับสนุน
5
สมาชิกของคณะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และภายในสิ้นปีพ.ศ.2474 สมาชิกคณะราษฎรก็มีถึงกว่า 102 คน แบ่งเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร
หลวงพิบูลสงคราม (จอมพลป. พิบูลสงคราม)
ทางด้านร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อการ ได้หาทางดึงตัวนายทหารระดับสูงในกองทัพ ซึ่งต้องการจะยุติอำนาจของกษัตริย์และราชวงศ์ ให้มาเข้าร่วม ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ
มีทหารระดับสูงที่มีอำนาจได้เข้าร่วม ให้การสนับสนุน และกลายเป็นสี่ทหารเสือของคณะราษฎร ซึ่งได้แก่
1.พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
2.พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
3.พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
4.พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
สี่ท่านนี้ ได้เข้าร่วมและกลายเป็นผู้นำกลุ่มคณะราษฎร
สี่ทหารเสือแห่งคณะราษฎร
สำหรับสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 ก็มีมากมายหลายสาเหตุ แต่ผมขอยกสาเหตุหลักๆ และพอจะอธิบายคร่าวๆ ได้ดังนี้
1.ความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ความไม่พอใจนี้คุกรุ่นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว โดยเหล่าทหารต่างรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนระหว่างเจ้ากับไพร่ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับโอกาสอย่างที่ควรจะได้
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงถูกโจมตีในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายที่ออกจะสิ้นเปลือง รวมทั้งการตั้งกองเสือป่าที่หลายฝ่ายมองว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เป็นเพียงเพื่อสนองความพอพระทัยของพระองค์เท่านั้น
ด้วยเหตุเหล่านี้ ทำให้ในรัชสมัยของพระองค์ ฐานะการคลังของประเทศ เริ่มจะไม่สู้ดีนัก แม้แต่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ก็ต้องตัดรายจ่ายบางส่วนออกไป นอกจากนั้น ขุนนางผู้มีประสบการณ์หลายท่านก็ไม่พอใจรัชกาลที่ 6 เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ทรงส่งเสริมสามัญชนที่พระองค์ทรงโปรด และแต่งตั้ง พระราชทานความดีความชอบมากมาย แทนที่จะส่งเสริมขุนนางระดับสูง
1
นอกจากนั้น ความที่พระองค์ทรงโปรดการละคร ทำให้ทหารและขุนนางหลายคนเหน็บพระองค์ว่าทรงหมกมุ่นอยู่แต่กับการละคร ไม่บริหารบ้านเมือง ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 7 กลุ่มคนที่ไม่พอใจอยู่ก่อนแล้ว จึงเริ่มคิดถึงการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง
1
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
2.การที่สามัญชนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และมีความรู้มากขึ้น
แต่เดิมนั้น การเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ที่ไปศึกษายังต่างประเทศ ก็จำกัดแวดวงในหมู่พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 รวมทั้งสามัญชนบางส่วนเท่านั้น หากแต่ในเวลาต่อมา สามัญชนจำนวนมากก็สามารถเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
ทั้งหลวงพิบูลสงคราม, ปรีดี พนมยงค์ และร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ล้วนแต่เป็นนักเรียนนอก ที่ได้เดินทางไปศึกษายังยุโรป
นอกเหนือจากความรู้ในวิชาที่เรียนแล้ว พวกเขายังได้รับแนวคิดเรื่องระบบการปกครองแบบต่างๆ รวมทั้งเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสยามและประเทศในยุโรปที่เจริญแล้ว ทำให้นักเรียนนอกเหล่านี้ คิดว่าถึงเวลาที่ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี
3.ความไม่พอใจระบบอภิรัฐมนตรีสภา
สมาชิกในอภิรัฐมนตรีสภา ล้วนแต่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ คนดีมีความสามารถต่างไม่สามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่สำคัญได้ ทำให้กลุ่มเจ้าและขุนนาง รวมทั้งบัณฑิตนักเรียนนอก เกิดความขัดแย้งกันขึ้น
เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475
ตอนต่อไป ผมจะมาเล่าถึงวันที่ลงมือ และเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ผลเป็นอย่างไร
รออ่านได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา