30 ต.ค. 2020 เวลา 10:06 • การศึกษา
เสน่ห์น่าน : จังหวัดน่านกับการจัดการทุนทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
Nan , Thailand : น่าน ประเทศไทย
จังหวัดน่านมีทรัพยากรที่มีความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นทุนทางสังคมที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นความน่าสนใจในประเด็นที่ว่า “จังหวัดน่านสามารถจัดการทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ได้อย่างไร”
คำตอบของประเด็นที่ได้ตั้งไว้นั้นสามารถมองเห็นได้สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราเมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดน่าน โดยเริ่มต้นจาก...
โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ น่าน
: พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ น่าน
เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ภายในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน เดิมเรียกว่า “หอคำ” โดยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับเมื่อปี พ.ศ. 2446 ซึ่งบริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ก็จะเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย
พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารที่สร้างด้วยอิฐถือปูนในรูปแบบผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบตะวันตกกับศิลปะไทยที่มีความแข็งแรงทนทาน โครงสร้างภายในเป็นไม้ อีกทั้งความสวยงามจากการตกแต่งอาคารด้วยลายลูกไม้ ต่อมา กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยได้นำโบราณวัตถุต่าง ๆ ตลอดจนถึงสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่น มาจัดแสดงให้ชมอย่างเป็นระเบียบและมีความสวยงาม
โดยพิพิธภัณฑ์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นบนของอาคาร ที่จะจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน เช่น การสร้างเมือง แบบจำลองอาคารขนาดเล็ก และโบราณวัตถุชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ อาวุธ ศิลาจารึก พระพุทธรูป เป็นต้น
งาช้างดำ
และสิ่งที่เมื่อเดินขึ้นมายังบริเวณชั้นสองก็จะสังเกตเห็นได้ทันที่เลยก็คือ “งาช้างดำ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ ซึ่งอยู่คู่เมืองกับเมืองน่าน ตามประวัติได้มีการกล่าวไว้ว่า งาช้างดำนี้นั้นได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมกับหอคอย ลักษณะของงาช้างดำนี้เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนปลายของงามีลักษณะโค้งมน อีกทั้งยังจารึกอักษรล้านนาภาษาไทยกำกับไว้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม (สำนักงานสรรพากรพื้นที่น่าน, 2563)
โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ น่าน
ส่วนชั้นล่างของอาคาร จะจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของน่าน เช่น ศิลาจารึก อิฐแดงที่มีการวาดลวดลาย เรื่องราวของการปกครองเมืองน่านในสมัยก่อน และเรื่องราวของชาติพันธุ์ เช่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองของน่านในแบบต่าง ๆ ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีการจัดแสดงแบบนิทรรศการหมุนเวียน เช่น การจัดแสดงผังของราชวงศ์จักรี และภาพถ่ายการทรงงานของรัชกาลที่ 9
ถือว่าการจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองน่านภายในพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชมในด้านของการศึกษาเรียนรู้ ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยอาศัยหลักฐานและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ผ่านการเข้าเยี่ยมชมโบราณวัตถุที่ถูกจัดแสดงอยู่ ณ ขณะนั้น ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าซึ่งเป็นของที่ถูกใช้งานจริงในช่วงเวลานั้น
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดภูมินทร์
: “กระซิบรักบันลือโลก” ณ วัดภูมินทร์"
เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกวาดขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2410 – 2417 ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างแพร่หลาย อันเป็นผลงานของ “หนานบัวผัน” จิตรกรพื้นถิ่นที่มีเชื้อสายไทลื้อ โดยภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” เป็นภาพวาดที่ชายหญิง คู่หนึ่งกำลังสนทนาด้วยการกระซิบหยอกล้อกัน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่เมื่อพูดถึงเมืองน่านก็จะต้องนึกถึง อีกทั้งโดยรอบฝาผนังของวัดก็ยังมีภาพจิตรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เรื่องชาดก และวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีตที่ยังคง สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแม้ว่าเวลาจะผ่านมานานกว่า 100 ปี แล้วก็ตาม
สินค้าวัฒนธรรม
ภาพกระซิบรักบันลือโลกกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่พบเจอได้แทบจะทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด กระเป๋า พวงกุญแจ หรือแม้กระทั่งของตกแต่งบ้าน จึงทำให้เห็นว่าสินค้าที่มีภาพกระซิบรักบันลือโลกกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรม กล่าวคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังกระซิบรักบันลือโลกเป็นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นให้กับผู้ผลิตสินค้า ได้เป็นอย่างดี โดยการนำภาพกระซิบรักบันลือโลกใส่ลงไปกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเกี่ยวกับการซื้อสินค้าที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้งานได้จริง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่มีภาพ กระซิบรักบันลือโลกจึงเป็นการฝังตัวของวัฒนธรรมลงไปในสินค้าด้วย
การโพสต์ภาพลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบันการสื่อสารไร้พรมแดน จากความเป็นปัจเจกบุคคลที่แสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ผู้คนประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่ตนเองให้ความสนใจสู่สาธารณะ รวมไปถึง การถ่ายทำละคร ภาพยนตร์ มิวสิควีดีโอ ซึ่งก็ถือเป็นการโฆษณาไปพร้อม ๆ กันด้วย ทำให้ผู้คนเกิดความสนใจ และ กลายเป็นบริโภคนิยม กระบวนการเหล่านี้จึงส่งผลให้วัฒนธรรมแพร่หลายไปได้ไกลและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ศูนย์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่าน หอศิลป์พิงพฤกษ์
: ศูนย์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่าน หอศิลป์พิงพฤกษ์
 
สร้างขึ้นเมื่อปี 2546 เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานจิตรกรรมและสื่อผสมของ อ.สุรเดช กาละเสน จำนวนร้อยกว่าชิ้น โดยนำมาจัดแสดงไว้เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจและต้องการศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวกับงานทางด้านศิลปะ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีตผ่านผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น
การย้อมสีผ้าที่มาจากวัสดุธรรมชาติ
อีกทั้งยังได้มีการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาประยุกต์ใช้กับวิธีการย้อมผ้า โดยได้สาธิตวิธีการย้อมสี จากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมากและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้ คือ เปลือกประดู่ ซึ่งให้สีน้ำตาลแดง ใบไม้ คือ ใบหูกวาง ซึ่งให้สีน้ำตาลอมเหลือง เป็นการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติที่ให้ความสวยงาม แตกต่างจากการย้อมสีเคมีได้อีกแบบหนึ่ง และยังเพิ่มลวดลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การมัด การหนีบ ทำให้เกิดลวดลายที่หลากหลายมากขึ้น
เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม
การถ่ายทอดความรู้ทั้งจากผลงานศิลปะ และการย้อมสีผ้าของหอศิลป์พิงพฤกษ์ เป็นการแบ่งปันภูมิปัญญาทางด้านศิลปะได้เป็นอย่างดี โดยการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาศึกษาผลงานศิลปะ และลงมือทำการย้อมผ้า ด้วยตนเอง เกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจในผลงานการมัดลายย้อมผ้าของตนเอง เนื่องจากการมัดเพื่อให้เกิดในแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน ทำให้ลายที่ได้จากการมัดย้อม เป็นเอกลักษณ์ และเป็นงานชิ้นเดียวเสมอ
นับได้ว่าหอศิลป์พิงพฤกษ์สามารถจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างคุ้มค่า และสร้างสรรค์ เพราะความรู้ที่ได้จากการทำผ้ามัดย้อมด้วยตนเองจะติดตัวผู้เข้ามา ศึกษา และยังสามารถบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์การทำผ้ามัดย้อมต่อ ๆ ไปได้ อีก ตลอดจนถึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดกลายเป็นอาชีพที่สามารถสร้าง รายได้ในอนาคตได้
บ่อเกลือ และการต้มเกลือ
: บ่อเกลือ น่าน
เดิมมีชื่อว่า “เมืองบ่อ” ซึ่งอาจจะหมายถึงบ่อน้ำเกลือสินเธาว์ที่เดิมมีอยู่จำนวน 9 บ่อ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่บ่อที่ยังคงมีน้ำผุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา และยังคง สามารถตักน้ำเกลือขึ้นมาจากบ่อได้จริง ถึงแม้ว่าจะมีอายุกว่า 800 ปี แล้วก็ตาม
กระบวนการผลิตเกลือเริ่มต้นจากการตักน้ำเกลือจากบ่อ แล้วน้ำน้ำเกลือที่ได้ ไปต้มในโรงต้มที่ต้องปิดทึบทั้ง 4 ด้าน เพื่อกันลมและเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงที่ใช้ ในการต้ม อีกทั้งยังจะทำให้เม็ดเกลือเล็กและมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น ส่วนเตาที่ใช้ในการต้มก็จะเป็นเตาดินดิบหรือเตาดินเหนียว ก่อขึ้นเป็นรูปเตา มีช่องใส่ฟืนด้าน หน้า มีรูระบายควันและความร้อน 2 ช่องทางด้านหลัง ซึ่งสามารถวางกระทะต้มเกลือได้ 2 กระทะ การต้มเกลือใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง จะได้เกลืออยู่ที่กระทะละ 15 กิโลกรัม และต้องต้มทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นระยะเวลา 6 วัน จึงจะสามารถพักการต้มได้
ผลผลิตภัณฑ์จากเกลือ
จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกลือที่มีอยู่ภายในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านของการเพิ่มมูลค่า คือ การนำเอาเกลือ ซึ่งมีสรรพคุณที่ดีมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ เช่น การนำเกลือไปทำเป็นเกลือขัดผิว ทำสบู่ที่มีส่วนผสมของเกลือ โดยปรับเป็นสูตรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า การเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมกระบวนการต้มเกลือ และวิธีการตักน้ำเกลือจากบ่อเกลือที่มีอยู่ในพื้นที่ แต่ถึงอย่างไรแล้วชาวบ่อเกลือก็จะมีวิธีการจัดการกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการนำทรัพยากรไปใช้ คือ การตักเกลือแบบเป็นเวลา และไม่อนุญาตให้คนนอกตักเกลือ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของชาวบ่อเกลือในการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีคุณค่าต่อทั้งชาวบ่อเกลือและนักท่องเที่ยว
: สะปัน น่าน
จังหวัดน่านถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะปัน ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเหล่านี้ได้ การจัดการธรรมกรธรรมชาติอย่างยั่งยืนคือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์แต่ก็ต้องไม่ทำลายทรัพยากรเหล่านั้นด้วย การเปิดเป็นพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาใกล้ชิดกับบรรยากาศที่สดชื่นจากธรรมชาติ ด้วยการเปิดเป็นที่พักกลางเขาใกล้แหล่งน้ำ มีการเปิดร้านค้าขายของให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้
กาดข่วงเมืองน่าน
: ถนนคนเดิน "กาดข่วงเมืองน่าน"
ในปัจจุบัน ทรัพยากรที่ถือเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นไม่สามารถอนุรักษ์ไว้ ได้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการที่จะทำให้ผู้คนในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเช่นกัน การเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของการ ท่องเที่ยวในจังหวัดไปด้วยในตัว การเปิดพื้นที่ให้กลายเป็นถนนคนเดินในช่วงตอน เย็นจึงถือเป็นเรื่องที่สามารถทำให้ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง
ภายในถนนคนเดินจะมีการจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เครื่องดื่ม อาหารทั้งคาวและหวาน ของฝาก เสื้อผ้า ผ้าทอ ฯลฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน่านได้อย่างชัดเจนตลอดเส้นทางในราคาที่ไม่ได้แพงมากจนเกินไป
ขันโตกและเสื่อที่นั่งภายในกาดข่วงเมืองน่าน
เมื่อเดินจับจ่ายซื้อของเสร็จแล้ว หากต้องการที่นั่ง ภายในถนนคนเดินก็จะมีเสื่อและขันโตกตั้งไว้บนพื้นที่ลานกว้างของบริเวณวัดภูมินทร์ และฝั่งตรงข้าม ซึ่งตรงกับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ไว้ให้ได้นั่งพักรับประทานอาหารพร้อมกับเสียงเพลงที่มีความไพเราะ ดังนั้น ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านจึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่สามารถ แสดงให้เห็นถึงความเป็นน่านที่กลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คน
จังหวัดน่าน
: การจัดการระเบียบสังคม : การจัดการขยะของน่าน
จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างสะอาดมาก ถึงแม้จะเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะรักษาความสะอาดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดน่านมีวิธีการจัดการขยะ คือ 1.คัด แยกขยะ เพื่อให้ง่ายต่อการนำขยะไปจัดการต่อตามกระบวนการการกำจัดขยะ และ 2.ลดปริมาณขยะ คือ ถนนปลอดถัง เมื่อคนไม่เห็นถังขยะ ผู้คนก็จะไม่ทิ้งขยะ อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบที่เกิดจากขยะได้อีก เช่น กลิ่น หรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ทำให้จังหวัดน่านมีความสวยงามและสะอาดตา
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่าจังหวัดน่านเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีทรัพยากรซึ่งเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์และค่อนข้างหลากหลาย ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย การดึงเอาทุนเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ทำให้จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนได้เป็นอย่างดี
สำหรับเรา “เมืองน่ารัก” คงจะเป็นคำนิยามแรกที่เมื่อนึกถึงจังหวัดน่านแล้วสามารถบรรยายความรู้สึกได้มากที่สุด :)
โฆษณา