30 ต.ค. 2020 เวลา 12:03 • ธุรกิจ
เส้นทางความสำเร็จนั้น “ไม่ง่าย”
.
.
คงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร หากคนที่อยู่ข้างๆ มักทำตัวเหมือนห้องสะท้อนเสียง ที่จะคอยเห็นดีเห็นงามกับคุณไปซะทุกเรื่อง แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่ง “ความสำเร็จ” อาจมาจากการร่วมมือกับคนที่มีแนวคิด “ขั้วตรงข้าม” หรือผู้ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อหาข้อมูลมาหักล้างกับความคิดของคุณ
.
จาก TED Talks ของนักเขียนและนักธุรกิจ มาร์กาเร็ต เฮฟเฟอร์นัน (Margaret Heffernan) เธอได้เล่าย้อนเรื่องราวกลับไปในอ็อกซ์ฟอร์ด ช่วงทศวรรษ 1950 เพื่อพาเราไปทำความรู้จักกับวิธีคิดที่น่าสนใจของคุณหมอท่านหนึ่งชื่อ อลิซ สจวร์ต ผู้ค้นพบความจริงบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไปตลอดกาล
.
.
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ในสมัยนั้นการที่จะสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองสามารถโดดเด่นในวงการงานวิจัยได้ สิ่งที่ต้องทำก็คือการมองหาปัญหายากๆ แล้วแก้มันซะ
.
เป็นที่รู้กันดีว่าโรคส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความยากจน แต่กรณีของมะเร็งในเด็กนั้น เด็กๆ ที่กำลังจะตาย เหมือนว่าส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง
.
เพื่อหาคำอธิบายของความผิดปกติดังกล่าว หมออลิซจึงได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
.
หลังจากที่เธอใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่นาน เธอได้พบว่ามีค่าทางสถิติหนึ่งที่ดูจะมีความสำคัญอย่างเด่นชัดและสามารถนำมาอ้างอิงได้ “ด้วยอัตราส่วนสองต่อหนึ่งของเด็กที่เสียชีวิต จะมีแม่ที่ได้รับการเอ็กซ์เรย์ขณะตั้งครรภ์”
.
ข้อค้นพบนี้ท้าทายความรู้ดั้งเดิมอย่างมาก เนื่องจากในสมัยนั้นเครื่องเอ็กซ์เรย์ถือเป็นเทคโนโลยีสุดเจ๋งที่ถูกนำมาใช้กับสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดรวมไปถึงคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วย
.
.
อย่างไรก็ตามหลังจากผลการค้นพบเบื้องต้นของเธอได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และมีการเปิดเผยสู่สาธารณะเมื่อปี 1956 ปรากฏว่างานศึกษานี้กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์กับหญิงมีครรภ์ในทันที
.
สุดท้ายเธอต้องใช้ระยะเวลาถึง 25 ปีเต็ม กว่าจะสามารถโน้มน้าววงการแพทย์ให้เลิกใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์กับหญิงมีครรภ์ได้
.
.
รู้ได้อย่างไรว่ามาถูกทาง?
.
กระบวนการพิสูจน์ความคิดของหมออลิซตลอด 25 ปีในเรื่องนี้ เป็นการทำงานร่วมกันกับนักสถิติชื่อว่า จอร์จ นีล ผู้ซึ่งมีบุคลิกและความคิดชนิดที่ว่า เป็นขั้วตรงข้ามกับเธอแทบทุกอย่าง
.
โดยจอร์จมีหน้าที่พิจารณาโมเดลและตัวเลขเชิงสถิติในมุมที่ต่างออกไป เขามองงานของตัวเอง “เป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นรอบๆ ทฤษฎีของหมออลิซ”
.
เนื่องจาก การจะให้ผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ไม่ใช่พยายามหาว่าทำถูกแค่ไหน แต่ต้องหาข้อผิดพลาด เพื่ออุดรอยรั่วในงานชิ้นนั้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะดูน่าหงุดหงิดบ้าง แต่หนทางเดียวที่จะทำให้เธอรู้ว่าเดินมาถูกทาง ก็คือต้องทำจนกว่าจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเธอผิด
.
.
ความขัดแย้งเรื่องงานที่เกิดในองค์กร
.
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนในองค์กรจำนวนมากไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับที่หมออลิซและจอร์จทำไว้ได้
.
จากการสำรวจผู้บริหารชาวยุโรปและอเมริกัน พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 85% ที่พวกเขาจะมีประเด็นหรือข้อกังวลที่ไม่กล้าเอ่ยมันขึ้นมาในที่ทำงาน เนื่องจากกลัวสิ่งเหล่านั้นไปกระตุ้นความขัดแย้ง จนนำมาสู่การโต้เถียงที่พวกเขาเองก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร และมีความรู้สึกว่าอาจต้องพ่ายแพ้กลับมา
.
ซึ่งไม่ใช่เหตุเพราะเขาทำไม่ได้ แต่เขาไม่กล้าพอที่จะทำมันต่างหาก และเลือกแสดงออกผ่านการเลี่ยงความขัดแย้งแทน ที่แม้ผลสุดท้ายจะเห็นความสำเร็จของงานเช่นกัน แต่ก็อาจไม่มีวันรู้เลยว่างานชิ้นนั้นมีข้อผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน
.
.
จะร่วมงานกับคนขั้วตรงข้ามได้อย่างไร?
.
1. คุณต้องเข้าใจก่อนว่า “ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในการทำงาน” ฉะนั้นการถกเถียงกันด้วยเหตุผล ที่มีข้อมูลอ้างอิง จึงถือเป็นเรื่องดี และย่อมดีกว่าการเงียบหรือปล่อยผ่าน อีกทั้ง ต้องมั่นใจว่าความขัดแย้งในงานจะไม่ไปกระทบความสัมพันธ์ส่วนตัว
.
2. ให้ลองมองหาเพื่อนร่วมงานที่มีวิธีคิดและประสบการณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หรือถ้าเป็นคนขั้วตรงข้ามที่พร้อมจะต้านทานแรงขับเคลื่อนเชิงประสาทชีววิทยา (neurobiological) กับคุณได้ยิ่งดี แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงานและความอดทนอย่างมาก
.
3. กล้าที่จะยกประเด็นความกังวลของตัวเองขึ้นมาพูด ฝึกฝน และทำมันซ้ำๆ จนชิน เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร หากจะให้คนขั้วตรงข้ามแอคชั่นอยู่ฝ่ายเดียว อีกทั้ง การพูดก็ถือเป็นการทำให้อีกฝ่ายรับรู้ความคิดของคุณ ซึ่งมันจะส่งผลให้ทีมเกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการพยายามแก้ปัญหาร่วมกัน
.
อย่างไรก็ตาม การผูกสัมพันธ์กับคน “ขั้วตรงข้าม” แม้จะเป็นเรื่องยากที่ให้นำคนที่มีความเห็นต่างหรือคนที่พร้อมจะหาข้อผิดพลาดในงานของคุณอยู่ตลอดเข้ามาในชีวิต แต่ในบริบทของการทำธุรกิจ หากทีมที่คุณทำงานด้วยไม่มีคนขั้วตรงข้ามเลย อาจทำให้กระบวนการทางความคิดมีรูรั่วได้ โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้นำที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ
.
สุดท้ายนี้เราไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเชื่อคนขั้วตรงข้ามที่คอยคัดค้านเสมอ แต่มันจะเป็นเหมือนข้อเตือนใจว่าโอกาสนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งล้วนมีผลต่อความสำเร็จและเป้าหมายของคุณในอนาคตด้วย
.
.
อ้างอิง: https://bit.ly/2TAirgU
เส้นทางความสำเร็จนั้น “ไม่ง่าย”
โฆษณา