1 พ.ย. 2020 เวลา 02:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิกฤติเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ต่างกับ วิกฤติปี 40 อย่างไรบ้าง?
ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย เจอกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งแรก คือ วิกฤติต้มยํากุ้งในปี พ.ศ. 2540
และครั้งที่ 2 ก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับเหตุการณ์วิกฤติซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในปี พ.ศ. 2551 ในตอนนั้นประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมาก เท่า 2 วิกฤตินี้
แน่นอนว่า สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 วิกฤตินี้
คือส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำอย่างหนัก
แล้วความแตกต่างกันของทั้ง 2 วิกฤตินี้ คืออะไร?
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟัง
1
เริ่มต้นที่วิกฤติต้มยํากุ้งในปี พ.ศ. 2540
รู้ไหมว่า ก่อนหน้าที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้นนั้น
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงยุคทองของการลงทุนเลยทีเดียว
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ประเด็นแรก คือ การเกิดขึ้นของโครงการ Eastern Seaboard ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)
Cr. WHA
รัฐบาลในขณะนั้นต้องการเปลี่ยนอุตสาหกรรมเบาในภาคตะวันออก ให้มาเป็นอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในระยะยาว
ประเด็นต่อมา คือ หลังจากการที่ญี่ปุ่นทำข้อตกลง “Plaza Accord” กับสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงนั้น คือญี่ปุ่นต้องยอมให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งการที่เงินเยนอ่อนค่าลงกระทบกับภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอย่างมาก
1
เมื่อเป็นแบบนี้ บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากจึงต้องมองหาประเทศมีค่าต้นทุนแรงงานต่ำ เพื่อตั้งโรงงานการผลิตซึ่งจะช่วยให้สินค้าของญี่ปุ่นนั้นสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
และประเทศไทยก็คือคำตอบนั้น..
บริษัทญี่ปุ่นเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในไทย พร้อมด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งทำให้การจ้างงานและการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในตอนนั้น
Cr. Asian Manufacturers Directory
ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยที่ว่ามานี้ เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนทำให้ในระหว่างปี พ.ศ. 2525-2539 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 8%
ทำให้ประเทศไทยในตอนนั้น ได้รับการขนานนามว่าจะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ต่อจาก 4 เสือเดิมคือ ฮ่องกง, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และไต้หวัน
1
เศรษฐกิจไทยที่โตระเบิดขณะนั้น ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เนื้อหอม
นักลงทุนจำนวนมากจากต่างประเทศ ต้องการปล่อยกู้ให้ทั้งรัฐบาลไทย และบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของรัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลไทยในขณะนั้น ต้องการทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค
จึงได้มีการจัดตั้ง กิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เพื่อทำหน้าที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้วนำมาปล่อยกู้ต่อทั้งในและนอกประเทศไทย และอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งสามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจได้เช่นกัน
3
ฝั่งภาคเอกชนเองก็มีการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อมาขยายธุรกิจและมาลงทุนขยายกิจการ
ซึ่งในเวลานั้นไม่ค่อยมีใครกังวลเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
เพราะเหตุผลสำคัญคือ ในตอนนั้นประเทศไทย ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบ “คงที่”
หมายความว่า ไม่ว่าจะกู้เงินจากต่างประเทศเท่าไร ค่าเงินบาทต่อสกุลเงินต่างประเทศก็จะไม่เพิ่มค่า หรือลดค่าลงแม้แต่น้อย
เมื่อรวมกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศที่ถูกกว่าในประเทศเกือบเท่าตัว สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งเป็นสิ่งจูงใจ ให้ภาครัฐและเอกชนไทยกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ไปใช้จ่ายเกินตัว อย่างเช่น กู้เพื่อนำเงินไปเก็งกำไรในตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์
1
ราคาสินทรัพย์ ดัชนีหุ้นไทย เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น “ฟองสบู่”
แล้วสัญญาณเลวร้ายก็เริ่มเผยให้ได้เห็น..
1
ช่วงปี พ.ศ. 2540 การส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลง
ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มขาดดุลมากขึ้น
เจ้าหนี้เริ่มต้องการเงินกู้คืน
เงินทุนทยอยไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาซื้อเงินบาท เพื่อพยุงค่าเงินบาทเอาไว้ จนเงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มลดน้อยลงทุกที
1
จนธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยพยุงไม่ไหว
สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว
ซึ่งทำให้จากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงต่ำสุดถึง 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
3
การอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้รัฐบาล บริษัทไทย และคนที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศบางส่วนถึงขนาดล้มละลาย
1
Cr. elpais
ซึ่งถ้าเรามองให้ลึกลงไปจะพบว่า วิกฤติในครั้งนั้นเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่และนักธุรกิจที่ร่ำรวย มากกว่าจะเกิดกับบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือชาวบ้านธรรมดา เนื่องจากกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤติครั้งนั้นเกิดขึ้น
การอ่อนค่าของเงินบาท ก็ทำให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาเติบโต
1
GDP ภาคการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2539 มาเป็น 2.8 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2543 หรือเติบโตกว่าเท่าตัวในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปี
1
การอ่อนค่าของเงินบาทยังช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2539 เท่ากับ 7.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจนมากกว่า 10 ล้านคนในปี พ.ศ. 2544 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นถูกลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
อีกด้านหนึ่งหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศในขณะนั้นอยู่ในระดับเพียง 50% ทำให้ประชาชนยังมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เร็ว
แม้ว่าวิกฤติในครั้งนั้นทำให้ GDP ของไทยติดลบไปถึง 7.6% ในปี พ.ศ. 2541 แต่ก็เริ่มกลับมาเป็นบวกได้อีกอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น
1
คราวนี้ มาดูที่วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันกันบ้าง
จากการระบาดของโควิด 19 ที่เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤติเหมือนครั้งก่อน
แต่วิกฤติที่เกิดครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวมาหลายปีแล้ว
ซึ่งต่างจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาอย่างยาวนาน
และดูเหมือนว่า ในครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้ขยายวงกว้างออกไปกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง
ทั้งบริษัทขนาดเล็ก ธุรกิจ SMEs และประชาชนคนทั่วไป ได้รับผลกระทบกันเกือบทุกคน จากการที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการต่างๆ เช่น เว้นระยะห่างทางสังคม การล็อกดาวน์ในบางช่วงบางพื้นที่ และการปิดประเทศ
1
การระบาดของโควิด 19 ยังส่งผลกระทบกับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบางแห่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย
1
และที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมานานหลายปี ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการไม่เดินทางมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในปี พ.ศ. 2562 ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย มีมูลค่ารวมกันกว่า 10.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของ GDP ประเทศไทย โดยในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยกว่า 39 ล้านคน คิดเป็นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2540
1
Cr. Thairath
เมื่อทั้ง 2 เครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยก็ตกต่ำลงไปอย่างหนักด้วย
และการตกต่ำของเศรษฐกิจในรอบนี้ ตามมาด้วยปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศ ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 80%
1
ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่สัดส่วนนี้ อยู่ที่เพียง 50% ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของภาคครัวเรือนในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็ว
1
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ประชากรไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างต่อเนื่อง
โดยอายุเฉลี่ยของประชากรไทยในวันนี้เท่ากับ 40 ปี
ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเท่ากับ 27 ปี เท่านั้น
อายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่เพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนลดลงจากเดิม ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปข้างหน้า
สรุปแล้ว ถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจในตอนนี้ แตกต่างกับเมื่อปี 40 อย่างไร
ก็ต้องบอกว่า ในแง่ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติในครั้งนี้ อาจมีความยาก และเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าวิกฤติในปี 40
วันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ประเทศไทยจะสามารถกลับไปส่งออกได้เหมือนเดิมเมื่อไร
วันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาได้อีกครั้งตอนไหน
คำถามที่สำคัญก็คือ
เราจะร่วมมือกันวางแผน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
เพื่อให้ทุกคน และประเทศไทย ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้..
โฆษณา