9 พ.ย. 2020 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
เมื่อสัญลักษณ์ ‘โอเค’ ถูกกลุ่มนีโอ-นาซีตีความเป็น ‘ความเกลียดชัง’
การแสดงท่าทางด้วยนิ้วมือบ่งบอกว่า 'โอเค' ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในจักรภพอังกฤษมา
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 นั้น บัดนี้มันกลับถูกแปลงเป็นสัญลักษณ์สำหรับ
White Power แสดงความเกลียดชังไปเสียแล้ว
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2019 เบรนตัน ทาร์แรนต์ (Brenton Tarrant) ฝ่ายขวาหัวรุน
แรง ใช้อาวุธปืนกราดยิงมัสยิดสองแห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ ทำให้มี
ผู้เสียชีวิต 51 คน และอีก 50 คนได้รับบาดเจ็บ เหยื่อที่เสียชีวิตจากความรุนแรงครั้งนั้นอายุน้อยสุดคือ สามขวบ
เมื่อทาร์แรนต์ไปปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาในวันถัดมา เพื่อรับแจ้งข้อกล่าวหา
และคำสั่งต้องขังรอการพิจารณาคดีนั้น มีภาพถ่ายของเขาถูกเปิดเผยต่อสื่อ
สาธารณะ เป็นภาพเขาถูกมัดมือทั้งสองข้างติดกับเข็มขัดคาดเอว ที่มือขวาเขาแสดงสัญลักษณ์ด้วยการประกบปลายนิ้วหัวแม่มือกับปลายนิ้วชี้เป็นรูปวงกลม และแผ่สามนิ้วที่เหลือกางออก ในภาษาของนักประดาน้ำหรือผู้คนในสังคมทั่วโลกหมายถึง
'โอเค'
ทว่านับแต่ปี 2017 เป็นต้นมา สัญลักษณ์ดังกล่าวถูกแปรความหมายเป็นบริบทอื่น – สามนิ้วที่แผ่กางออกนั้นแทนตัวอักษร W ส่วนวงกลมจากนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือแทน
ตัวอักษร P นั่นคือ WP ซึ่งเป็นคำย่อของ White Power อุดมการณ์อันไร้มนุษยธรรมที่เบรนตัน ทาร์แรนต์เองก็ยึดโยงอยู่
Anti-Defamating League (ADL) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1913 เพื่อต่อสู้กับการเหยียดแคลนชาวยิว ได้บัญญัติคำแปลของสัญลักษณ์
โอเคไว้ในคลังศัพท์ว่าหมายถึงสัญลักษณ์ความเกลียดชัง ทุกวันนี้องค์กรนี้ทำการสู้
รบกับการแสดงความเกลียดชังต่อมนุษย์ทุกรูปแบบ เมื่อปี 2000 ADL ได้เปิดเผย
คลังศัพท์ที่แสดงความเกลียดชัง ในนั้นมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ และศาสนาไว้อย่างครบครัน
การที่เครื่องหมาย 'โอเค' กลายเป็นสัญลักษณ์ของ White Power นั้น ADL รายงานว่ามันเริ่มต้นจากเรื่องล้อเล่น ยูสเซอร์คนหนึ่งของเว็บบอร์ด 4chan โพสต์ข้อความ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ว่า
1
“เราต้องช่วยกันทวีตและโพสต์ลงสื่อโซเซียล สร้างกระแสเปลี่ยนสัญลักษณ์โอเคให้
เป็นสัญลักษณ์ของ White Supremacy ให้ได้”
1
เป็นการปั่นหัวฝ่ายซ้ายเพื่อรอดูปฏิกิริยา มีการโหลดภาพกราฟิก ที่แสดงให้เห็น
อักษร W และ P บนภาพมือที่แสดงสัญลักษณ์ บรรดายูสเซอร์เรียกการกระหน่ำสื่อ
โซเซียลดังกล่าวว่าเป็น ‘ปฏิบัติการ O-KKK’ ซึ่งเป็นคำย่อของ
‘คู-คลักซ์-แคลน’ (Ku-Klux-Klan)
1
White Supremacy – คนผิวขาวชนชั้นปกครองหรือผู้เหนือกว่า ถูกบัญญัติขึ้นตาม
อุดมการณ์เหยียดแคลนเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่างสีผิว เชื้อชาติ และศาสนา มีบทบาท
กระจายอยู่ในภูมิภาคที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อย่างเช่นกลุ่ม Alt-Right
ในสหรัฐอเมริกา ที่ริชาร์ด บี. สเปนเซอร์ (Richard B. Spencer) บัญญัติขึ้นเมื่อปี
2008 และอีกสองปีถัดมายังก่อตั้งแมกกาซีนออนไลน์ชื่อ Alternative Right อีกด้วยกลุ่มออล-ไรท์เข้ามามีบทบาทเป็นที่จับตาของสื่อเมื่อครั้งมีการเลือกตั้งตำแหน่ง
ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาปี 2016 และมีส่วนสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง
ออกหน้า
องค์กร ADL รายงานว่า ต้นปีและฤดูร้อนปี 2017 ปฏิกิริยาตอบรับเรื่องตลกเกี่ยวกับสัญลักษณ์โอเคเริ่มหนักหน่วงขึ้น ถึงขั้นว่า สมาชิกของกลุ่มขวาหัวรุนแรงบางคนได้
ยึดความหมายของสัญลักษณ์เป็นเรื่องจริงจัง
ปี 2018 ADL ยังเชื่อว่ารูปมือแสดงสัญลักษณ์นั้นยังเป็นเรื่องล้อเล่นในกลุ่มขวาหัว
รุนแรง และยังใช้สื่อเพื่อก่อกวนกลุ่มซ้ายและลิเบอรัล แต่หนึ่งต่อมาเรื่องล้อเล่นที่เข้าใจกันก็เริ่มจางหายไป สมาชิกกลุ่มขวาหัวรุนแรงเริ่มนำมันมาใช้แสดง ‘พลังของคนผิวขาว’ อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีการก่อการร้ายของเบรนตัน
ทาร์แรนต์
อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อสู้การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติยังยอมรับว่า สัญลักษณ์โอเคยังคงถูกนำมาใช้อย่างเปิดเผย ชัดเจนตามความหมายดั้งเดิมของมัน และไม่ใช่ว่า
ทุกคนที่สื่อหรือแสดงสัญลักษณ์รูปมือนี้ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สนับสนุนฝ่ายขวา
หัวรุนแรงเสมอไป แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ทางองค์กรจำเป็นต้องบันทึกคำ
ศัพท์และความหมายต่างๆ นั้นไว้ในฐานข้อมูล
เหตุการณ์อุกฉกรรจ์ที่ไครสต์เชิร์ชเมื่อต้นปี 2019 เบรนตัน ทาร์แรนต์-ผู้กระทำได้บันทึกภาพการก่อเหตุที่โหดเหี้ยมของตนเองด้วยกล้องที่ติดตั้งไว้บนหมวก และแพร่
ภาพไลฟ์ผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นคลิปวิดีโอความยาว 17 นาที ที่ต่อมาถูกทีมงานของ
Facebook ลบออกพร้อมกับบัญชีของฆาตกร
ผลที่ตามมาหลังจากนั้น มีการยื่นข้อเรียกร้องให้สื่อโซเซียลทั้งหลาย ไม่ว่า
YouTube, Google, Facebook หรือ Twitter กำหนดมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งภาพและประโยคคำพูดส่อถึงความรุนแรง ที่อาจปรากฏในแพลตฟอร์มของ
พวกเขา แต่กับคำหรือสัญลักษณ์ธรรมดาๆ ที่ถูกแปลงสารโดยประชากรในโลก
โซเซียล คงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครเข้าไปจัดการ.
เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
โฆษณา