7 พ.ย. 2020 เวลา 16:10 • ไลฟ์สไตล์
การเดินทางที่สร้างภูมิคุ้มกันความลำบาก
ภาพสอนการเดินทางคนตาบอด
จำได้ตอนเด็กๆ สมัยที่ยังเรียนประถมศึกษา การเดินเท้าไปไหนมาไหนแม้ระยะทางจะใกล้จะไกลก็ถือเป็นเรื่องปกติ การเดินเท้าไปโรงเรียนของนักเรียนตอนเช้าๆและเดินกลับบ้านในช่วงบ่าย ก็เป็นเรื่องปกติของวิสัยผู้คนในหมู่บ้านในตอนนั้น
ตอนบ่ายก่อนกลับบ้าน นักเรียนก็จะตั้งแถวแบ่งตามโซนหมู่บ้านในระเว้กนั้น หรือนักเรียนคนไหนกลับทางเดียวกันก็เข้าในแถวเดียวกัน รุ่นพี่ก็จะเป็นพี่ค่อยระวังให้น้องๆเดินกลับบ้านอย่างปลอดภัย ครูก็จะปลอยกลับที่ละแถวเริ่มจากหมู่บ้านที่อยู่ไกลจากโรงเรียนก่อนไล่มาจนถึงหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเป็นแถวสุดท้าย นักเรียนก็จะกลับบ้านกันเป็นแถวโดยมีหัวหน้าแถวถือธงนำหน้าพาลูกแถวเดินกลับบ้านอย่างมีระเบียบเรียบร้อย(อย่างน้อยก็หน้าโรงเรียนพ้นสายตาของคุณครูไปแล้ว)แต่ผมโชคดีที่โรงเรียนอยู่หน้าบ้านเลยไม่ต้องเดินเท้าไกล แต่เรื่องเท้าผมก็ไม่น้อยหน้าเด็กคนไหนในหมู่บ้าน
เพราะตกเย็นก่อนที่ตะวันจะลับขอบฟ้าผมและพี่สาวก็จะเดินเท้าไปบ้านโต๊ะครูเพื่อเรียนกุรอ่าน ในการเดินเท้าระยะทางระหว่างบ้านผมและบ้านโต๊ะครูระยะทางร่วม 1 กม.เห็นจะได้เพราะเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง(ขอให้อัลลอฮฺตอบรับการงานของท่านและตอบท่านด้วยสวนสวรรค์ ชายชราผู้พิการผู้สอนกุรอ่านให้กับผม) อามีน.
จำได้ว่าตลอดระยะเวลาทึ่ผมเรียนกุรอ่านที่นั้นพ่อไม่เคยไปรับไปส่งผมและพี่สาวแม้แต่สักครั้งเลย ในตอนนั้นพ่อไม่มีแม้แต่มอเตอร์ไซค์ และยังจำได้ว่าผมและพี่สาวไม่เคยน้อยใจและบ่นถึงเรื่องนี้เลย เหมือนกับว่าเราเข้าใจบริบทครอบครัวเราในตอนนั้นอย่างดีแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องมานั่งอธิบายเราทั้งสองคนและก็ไม่ออกอาการขี้เกียจให้พ่อแม่ต้องใช้ไม้แข็งในการจัดการเราทั้งสอง อาจจะด้วยระยะทางร่วม 1 กม.มันมีเรื่องสนุกๆแทบทุกวัน เรื่องสนุกๆในขาไปที่ตะวันยังไม่ลับขอบฟ้า และเรื่องตื่นเต้นตอนขากลับในเวลาค่ำๆ ไว้มีโอกาศจะมาเขียนให้อ่านกันภายหลัง
ตกเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุด หากตาดีกาไม่ทำการสอน พ่อก็จะพาพวกเราไปทำสวนที่ภูเขา การเดินทางในตอนนั้นก็ตามสภาพฐานะครอบครัวเราในตอนนั้นก็ใช้การเดินเท้า จะว่าไปแล้วในเวลานั้นก็มีน้อยคนที่มีมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางขึ้นภูเขา มอเตอร์ไซค์ใช้เฉพาะเดินทางไปไหนไกลๆเท่านั้น ถึงอย่างไรในตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องลำบากอะไรมากมาย อาจจะเป็นเพราะว่าบริบทในตอนนั้นใครๆก็เดินเท้า จึงทำให้เราไม่เกิดการเปรียบเทียบ จำได้ว่าบางครั้งเราเดินจากภูเขาระหว่างทางบางครั้งก็มีมอเตอร์ไซค์ขับผ่านมาพอดี หากครั้งใดที่มีผมและคนอื่นอีกคนหรือมีผมกับพ่อ คนขับมอเตอร์ไซค์ก็จะหยุดรถแล้วชวนซ้อนท้ายกลับไปด้วยกัน ผมก็จะรู้สึกว่าโชคดีจังวันนี้ไม่ต้องเดินเท้า แต่ครั้งใดที่เรามากันหลายๆคน หรือสามคนขึ้นไปเราก็จะปฏิเสธ เพราะเห็นใจคนอื่นๆที่เดินเท้ากลับมาด้วยกัน
ประสบการณ์ของผมเช่นนี้ มันสอนและสร้างภูมิคุ้มกันความลำบากให้ผมเป็นอย่างดี ในรุ่นลูก ผมในฐานะคนเป็นพ่อก็ไม่ได้ต้องการให้ลูกต้องลำบาก หรือยัดเยียดความลำบากเช่นเดียวที่ผมพบเจอ
หากแต่ว่าคนเป็นพ่อก็มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันความลำบากของชีวิตให้กับลูกๆของผมตามบริบทของยุคสมัยของลูกๆ เฉกเช่นพ่อผมที่ได้ฉีกวัคซีนภูมิคุ้มกันความลำบากที่เหมาะสมตามยุคสมัยของผม
โฆษณา