9 พ.ย. 2020 เวลา 16:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสิงคโปร์พัฒนากระจกอัจฉริยะที่สามารถปรับแสงที่ผ่านกระจกเข้าสู่อาคารตามสภาพแวดล้อมภายนอกได้โดยอัตโนมัติเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน
ซึ่งสามารถลดพลังงานที่ใช้ในระบบปรับอากาศในอาคารได้สูงสุดถึง 45% เลยทีเดียว
ซ้าย: เมื่ออากาศเย็นกระจกจะใส ขวา: แต่ถ้าอากาศร้อนกระจกก็จะขุ่นเป็นกระจกฝ้าลดความเข้มแสงและความร้อนที่ผ่านกระจกเข้ามา
สำหรับอาคารใหญ่ใจกลางเมืองซึ่งปัจจุบันนิยมทำเป็นหน้าต่างกระจกจำนวนมากนั้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สิ้นเปลืองมากอย่างหนึ่งก็คือค่าไฟสำหรับระบบปรับอากาศเพื่อจัดการกับความร้อนที่เข้ามาในตัวอาคารผ่านแผงกระจกรอบตัวอาคารนั่นเอง
1
จึงเป็นที่มาของการพัฒนากระจกอัจฉริยะที่สามารถปรับแสงได้เองโดยอัตโนมัติตามสภาพแวดล้อมภายนอก ยิ่งร้อนมากก็ตัดแสงออกมากเพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคาร
กระจก สวย และให้แสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารเพื่อลดการใช้ไฟแสงสว่าง แต่ก็เป็นช่องให้ความร้อนเข้าสู่อาคารด้วย
มาวันนี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์(NTU) ได้พัฒนากระจกสองชั้นที่ใส่ของเหลวใสซึ่งมีส่วนผสมของ น้ำ ไฮโดรเจล(Hydro Gel) และสารรักษาเสถียรภาพ(Stabilizer) เอาไว้ในช่องว่างตรงกลางระหว่างแผ่นกระจก
โดยปัจจุบันกระจกสองชั้นซึ่งข้างในเป็นอากาศก็มีการใช้งานอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกันความร้อนจากอากาศภายนอกและช่วยกันเสียง
ยิ่งร้อนยิ่งทึบแสง
ซึ่งเจ้าของเหลวใสที่ใส่เข้าไปในช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกนี้มันจะใสเมื่ออุณหภูมิอากาศภายนอกต่ำ แต่จะยิ่งทึบแสงหากอุณหภูมิสูงขึ้น
โดยเจ้ากระจกนี้ยังสามารถช่วยเก็บความร้อนไว้ภายในอาคารในช่วงหน้าหนาวและปล่อยให้แสงเข้าได้ตามปกติ
แต่ช่วงหน้าร้อนนั้นจะกันแสงและความร้อนที่เข้าสู่อาคารในช่วงบ่าย(ตอนเช้ายังให้แสงเข้าได้ตามปกติ)
การทำงานของหน้าต่างอัจฉริยะในแต่ละฤดูและช่วงเวลา
นั่นจะช่วยลดการใช้พลังงานของระบบปรับอากาศภายในอาคารได้มาก และยังสามารถปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่ตัวอาคารตามสภาพแวดล้อมภายนอกได้อัตโนมัติอีกด้วย
ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการติดฟิล์มกรองแสงกันร้อนแล้ว มันจะกรองแสงออกไปตลอดเวลาทำให้เสียพลังงานไปกับระบบไฟส่องสว่างภายในอาคารโดยไม่จำเป็น
ทำให้สามารถประหยัดการใช้พลังงานของอาคารโดยรวมลงได้สูงสุดถึง 45% โดยประมาณ
วิธีการทำของเหลวใสที่ใส่ไว้ในช่องว่างของกระจกอัจฉริยะนี้
และเจ้ากระจกอัจฉริยะนี้ยังสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยพลังงานภายนอกเพื่อสั่งการเปิด-ปิดแต่อย่างใด
แถมของเหลวที่บรรจุอยู่ข้างในนั้นยังทำหน้าที่เป็นวัสดุดูดซับเสียงซึ่งช่วยลดเสียงรบกวนที่ผ่านแผ่นกระจกลงได้มากกว่ากว่า 15% เมื่อเทียบกับกระจกสองชั้นตามปกติอีกด้วย
น่าสนใจมากเลยครับสำหรับนวัตกรรมนี้ กันร้อน ตัดแสงอัตโนมัติ แถมกันเสียงได้ด้วย แต่ก็น่าจะทำให้บานกระจกมีน้ำหนักเพิ่มพอประมาณเลยทีเดียว
ยังไงก็อยากให้มีออกมาให้ใช้กันเร็ว ๆ นะจะมาช่วยประหยัดการใช้พลังงานให้กับอาคารใหม่ ๆ ได้มากทีเดียว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา