12 พ.ย. 2020 เวลา 02:32 • การเมือง
รอผลการเลือกตั้งเมียนมาอย่างเป็นทางการ
2
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
https://www.voanews.com/east-asia-pacific/millions-vote-historic-myanmar-election
การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2553 ขณะที่ผมเขียนบทความวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วถึง 4 วัน แต่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ยังไม่ประกาศ เพียงแต่รู้ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจีชนะเลือกตั้งถล่มทลาย
การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ พ.ศ.2558 พรรคของนางซูจีชนะ แต่การเลือกตั้งใน พ.ศ.2563 ครั้งนี้ชนะมากกว่า พ.ศ.2558 เยอะ ก่อนหน้านี้ทุกคนเชื่อว่า นางซูจีจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
1
ก่อนการเลือกตั้ง พวกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้สร้างพรรคของตัวเองขึ้นมาหลายพรรคก็มาจากพรรคเล็กรวมกัน ทุกพรรคจากกลุ่มชาติพันธุ์มุ่งหาเสียงเต็มที่ แต่ก็พลิกล็อกครับ เพราะประชาชนคนเมียนมามองในภาพใหญ่มากกว่า
ผู้สมัครของพรรคนางซูจีก็เลือกมาจากคนในกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละแห่งด้วย และผลการเลือกตั้งก็ชนะผู้สมัครจากพรรคชาติพันธุ์ ส่วนที่หักปากกาเซียนก็คือการทำนายทายทักว่าพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาของอดีตนายทหารจะได้คะแนนจากผู้คนเผ่าพันธุ์พม่ามากขึ้น
ทว่ากลับแพ้หลุดลุ่ย แม้แต่เขตมัณฑะเลย์ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคสหสามัคคีฯ พรรคของนางซูจีก็ยังชนะ ส่วนพรรคอื่นๆ ก็ไม่ได้คะแนนดี มีคนที่ออกจากพรรคนางซูจีมาตั้งพรรคใหม่ ตอนแรกก็คะแนนนิยมดีมาก แต่พอเลือกตั้งเสร็จแล้วก็รู้ว่ากินแห้ว
ใครที่จะชนะเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญต้องมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 322 คน จาก 425 ที่นั่ง ถึงจะเสนอผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดีและได้จัดตั้งรัฐบาล ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2558 พรรคของนางซูจีได้ ส.ส.390 คน แต่ครั้งนี้คาดว่าจะได้มากกว่า
2
การที่ได้คะแนนมากขนาดนี้ ก็เป็นไปได้ว่าพรรคนางซูจีอาจจะเริ่มตั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ทหารเข้าไปเป็น ส.ส.โดยที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งร้อยละ 25 ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาก็จะเป็นประเทศประชาธิปไตยสากลสมบูรณ์
2
การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2563 ผลการเลือกตั้งก็ล่าช้า แล้วก็แปลกที่ฝ่ายแพ้ประกาศว่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่เมียนมาก็เหมือนกัน ตอนนี้บรรดาผู้คนจากพรรคสหสามัคคีฯ ก็ออกมาตะโกนก้องร้องลั่นว่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และมองว่ารัฐบาลของนางซูจีโกงการเลือกตั้ง
3
ผมเคยได้รับเชิญเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ในตอนนั้น รัฐบาลอุซเบกิสถานอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเดินทางไปได้ทุกตรอกซอกมุมของประเทศ
1
ในเมียนมาครั้งนี้ ทราบว่ารัฐบาลของนางซูจีก็ดำเนินการอย่างนี้เช่นกัน และเท่าที่ตามข่าวจากผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติ ทุกคนบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนมากขาวสะอาด มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยดูเหมือนจะไม่ค่อยโปร่งใส
https://thediplomat.com/2020/11/myanmars-election-marks-a-step-away-from-peace/
การออกมาเลือกตั้งกันอย่างล้นหลามของประชาชนทั้งๆ ที่มีวิกฤติโควิด-19 เป็นเครื่องบ่งบอกว่า ประชาชนคนเมียนมาต้องการแสดงว่าไม่อยากให้ทหารหรือฝ่ายเผด็จการกลับมามีอำนาจในประเทศอีก
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา นานาชาติโดยเฉพาะพวกตะวันตกและโลกอิสลามประณามนางซูจีเรื่องเพิกเฉยต่อการทารุณกรรมชาวโรฮิงญา องค์กรหรือสถาบันต่างๆ ต่างก็เรียกรางวัลที่เคยให้นางซูจีมาก่อนหน้านี้คืน หลายคนโจมตีว่านางซูจีเป็นแม่พระประชาธิปไตยแต่ใจเผด็จการ แม้ว่าโลกจะกระหน่ำนางซูจีอย่างต่อเนื่อง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าคนเมียนมายังไว้เนื้อเชื่อใจให้นางซูจีและคณะกลับเข้ามาบริหารประเทศต่อ
ดูเหมือนพัฒนาการการเมืองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดีขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นครับ
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกลับพัฒนาการเมืองไปในทางตรงข้าม.
โฆษณา