13 พ.ย. 2020 เวลา 03:30 • หนังสือ
Readery เปลี่ยนความหลงใหลใน “หนังสือ” ให้เป็นธุรกิจสิบล้าน
หนังสือเล่มๆ กำลังจะหายไปจริงหรือไม่?
ในยุคที่ทุกอย่างกลายเป็นข้อมูลดิจิทัล “หนังสือ” เหมือนกำลังถูกแทนที่ด้วยสื่ออื่นๆ
เราแทบไม่ต้องเข้าห้องสมุดเพื่อค้นคว้า เพราะแค่เสิร์ชกูเกิลก็ได้ข้อมูลที่ต้องการ
ในด้านความบันเทิง หนังสือก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกเดียวอีกต่อไป
เพราะเรามีทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูบ หรือเน็ตฟลิก ให้เสพ
4
หรือแม้แต่คนที่ยังชอบอ่านหนังสือ ก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ
จากหนังสือที่เป็นเล่ม มาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งให้ความสะดวกทั้งด้านการพกพา จัดเก็บ ค้นหา
รวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อทำให้การอ่านของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4
แต่เคยหรือไม่คะ? เวลาที่เห็นคนถือหนังสือเป็นเล่มๆ บนรถไฟฟ้า หรือในร้านกาแฟ
เราก็อดไม่ได้ ที่จะชำเลืองมองว่าเขาอ่านอะไรกัน
“หนังสือ” จึงเป็นเหมือนเสน่ห์ติดตัวให้กับคนที่หยิบจับมัน
ดึงดูด ชวนมอง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ความเซ็กซี่” ก็ว่าได้
ดังนั้นแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
จึงยังไม่มีอะไรที่จะมาแทนที่หนังสือได้ 100%
แล้วในมุมของธุรกิจร้านหนังสือเป็นอย่างไร?
วันนี้ลงทุนเกิร์ลจะพาไปรู้จักกับ Readery ร้านหนังสือในดวงใจของนักอ่านหลายๆ คน
ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “โตสวนกระแส” กับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่ถูกมองว่ากำลังจะหายไป
ที่น่าสนใจคือ Readery ก่อตั้งโดยคน 2 คน
ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านธุรกิจขายหนังสือมาก่อน
คุณโจ อนุรุจน์ วรรณ​พิณ นักเขียนบทภาพยนตร์
และคุณเน็ต นัฏฐกร ปาระชัย โปรแกรมเมอร์ และนักออกแบบเว็บไซต์
1
ซึ่งแม้ว่าทั้ง 3 สายงานนี้จะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย
แต่กลับกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับ Readery
2
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของร้านหนังสือนี้ เกิดจากความชอบอ่านหนังสือของทั้ง 2 คน
จนเรียกได้ว่าเป็น “ความหลงใหล”
1
สำหรับคนที่ชื่นชอบหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ
การมีความคิดอยากจะเปิดร้านหนังสือก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก
คุณโจและคุณเน็ต ก็เป็นหนึ่งในนั้น
1
ด้วยอาชีพของทั้งคู่ที่ไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศ
ทั้งสองจึงมีความคิดอยากจะไปเปิดร้านหนังสือที่เชียงใหม่
ที่สำคัญคือ ตกลงกับเจ้าของที่เรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งวันสุดท้าย เกิดทะเลาะกับเจ้าของที่
เพราะเขาไม่ยอมติดแอร์เพิ่มให้ จึงทำให้ไม่ได้เช่าพื้นที่ตรงนั้น
ซึ่งหลังจากที่กลับมาคิดทบทวนดูแล้ว การเปิดหน้าร้าน ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก
เพราะต้องใช้ทุนเยอะ ประกอบกับทั้ง 2 คน ยังใหม่กับธุรกิจนี้มาก
ไม่รู้ว่าต้องมีต้นทุนเท่าไร หรือต้องตั้งราคาอย่างไร
แม้จะไม่มีประสบการณ์ด้านการขายหนังสือ
แต่ในมุมของนักอ่าน คุณโจและคุณเน็ตกลับมีเกินร้อย
เนื่องจากพวกเขา มีโอกาสแวะเวียนไปร้านหนังสือหลายๆ แห่งทั้งในและต่างประเทศ
รวมทั้งยังเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง มีหนังสือเป็นหมื่นเล่มเก็บอยู่ที่บ้าน
จนถึงขั้นที่คุณเน็ตซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ ทำเว็บไซต์เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับหนังสือที่บ้าน
ชื่อว่า biblioholism ที่หมายถึง กลุ่มคนที่เสพติดหนังสือ
2
นอกจากนั้น อีกหนึ่งนิสัยของคนรักหนังสือ ก็คือ ชอบแนะนำสิ่งที่ตัวเองชอบให้กับคนอื่น
และนี่ก็เป็นสิ่งที่คุณโจ และคุณเน็ตทำกันอยู่แล้ว
1
ไปๆ มาๆ จึงเกิดเป็นเว็บขายหนังสือชื่อ Readery ที่คุณเน็ตสร้างขึ้น ในปี 2558
โดยออกแบบเว็บไซต์ให้มีความรู้สึกเหมือนกับ เรากำลังเดินเข้าไปร้านหนังสือจริงๆ
จากประสบการณ์และความเข้าใจความต้องการของนักอ่าน
1
ส่วนการโปรโมตหนังสือ ก็ได้ความสามารถในการเล่าเรื่องของคุณโจ ที่เป็นคนเขียนบท
ทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ ในการนำเสนอหนังสือให้น่าสนใจ
โดยกลุ่มหนังสือแรกๆ ที่นำมาวางขาย ก็เริ่มจากหมวดที่พวกเขาชื่นชอบ
หรือ แนววรรณกรรม ซึ่งถูกมองว่า “อ่านยาก”
พวกเขาจึงต้องการสื่อสารว่า หนังสือวรรณกรรม หรือแม้แต่หนังสือประเภทอื่นๆ
เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ และไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ทำให้เกิดเป็นสโลแกนของร้าน ‘Reading is sexy’
เพื่อสื่อว่า การอ่านเป็นเรื่องเซ็กซี่ เป็นเสน่ห์ให้กับคนอ่าน ชวนให้คนที่พบเจอหันมามอง
3
แรกๆ ของการเปิดร้าน Readery มีหนังสือเพียงไม่กี่ปก ขายได้เพียงไม่กี่เล่ม
แต่ด้วยความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองขาย จึงทำให้เกิดการบอกปากต่อปาก
ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีสำนักพิมพ์ที่ส่งหนังสือมาขาย ก็เพิ่มเช่นกัน
3
คุณโจเชื่อว่า ไม่ใช่หนังสือขายไม่ได้ แต่เป็นเพราะไม่ได้ถูกนำมาขายต่างหาก
วิธีการขายของ Readery ก็คือการบอกเล่าสิ่งที่ “รัก”
เหมือนเป็นเพื่อนนักอ่านที่มาแชร์หนังสือเล่มที่ตัวเองอ่านแล้วสนุก อยากบอกต่อ
ทำให้สามารถเชื่อมโยงกับคนอ่าน ได้มากกว่าการขายตรงๆ พูดว่าหนังสือเล่มนี้ดียังไง มาซื้อเถอะ
ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือการจัดพอดแคสต์รีวิวหนังสือ
จะมีลักษณะร่วมกัน คือ เหมือนเพื่อนนักอ่าน มาแชร์ประสบการณ์
ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ดู หรือได้ฟังรับรองว่าจะเคลิ้มจนกดสั่งซื้อหนังสือเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนั้น Readery ยังสร้างให้เกิดชุมชนสำหรับนักอ่าน
ทำให้เหมือนมีคนมาช่วยโฆษณาหนังสือ ผ่านการรีวิวของนักอ่านท่านอื่น
ซึ่งสุดท้ายแล้ว พอมีคนอยากได้หนังสือ ร้านหนังสือก็ขายได้
และ Readery ที่เป็นร้านหนังสือ ก็ย่อมได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย
โดยเฉพาะการเป็นร้านหนังสือออนไลน์ ที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือเวลาใด ก็สามารถเข้ามาซื้อหนังสือของ Readery ได้เลยทันที
3
แม้ว่าเริ่มแรกการขายหนังสือเป็นเพียงงานเสริม ที่ทำกันเอง แพ็กส่งกันเอง 2 คน
แต่เมื่อยอดขายและประเภทของหนังสือมากขึ้น
ทำให้คุณโจและคุณเน็ต ต้องหันมาทำ Readery อย่างจริงจัง มีทั้งการวางแผน และรับพนักงานเพิ่ม
แล้วตอนนี้ Readery ขายดีแค่ไหน?
ปี 2562 บริษัท รี้ดเดอรี่ จำกัด รายได้ 13,036,885 บาท
5
สำหรับบางคนอาจเชื่อว่าความสุขจะต้องเกิดจากการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว
แต่สำหรับคุณโจและคุณเน็ต เส้นแบ่งระหว่าง 2 สิ่งนี้ กลับเลือนรางจนแทบแยกไม่ออก
เพราะพวกเขาไม่ได้มองว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่ “การทำงาน”
แต่เป็นการทำในสิ่งที่เป็น “ความชอบ” ต่างหาก
2
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
จากการทำร้านหนังสือออนไลน์ ทำให้คุณโจและคุณเน็ต
ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติและไลฟ์สไตล์ของคนซื้อ
ผ่านการเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาต่อ
1
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือ ช่วงเวลาที่คนนิยมสั่งซื้อมากที่สุด คือช่วงละครพักโฆษณา
เพราะเดี๋ยวนี้คนดูทีวีไปด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วย
ถ้าเราโพสต์นิยายเรื่องที่กำลังออนแอร์อยู่ ก็อาจจะขายดีไปด้วยเช่นกัน
ส่วนอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ขายดีเป็นพิเศษเช่นกัน ก็คือเวลาทำงาน
ซึ่งขอไม่เปิดเผยละกันนะคะว่าเพราะอะไร
ลงทุนเกิร์ลเชื่อว่าพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่น่าจะมีคำตอบในใจกันอยู่แล้ว..
โฆษณา