12 พ.ย. 2020 เวลา 13:45 • การศึกษา
ระบบการศึกษานอกกรอบและทฤษฎีเกมในการสอบ มุมมองจากหนังเรื่อง " Accepted "(2006)
" Accepted " บอกเล่าเรื่องราวของ เกนส์ บาเทิลบี (แสดงโดย จัสติน ลอง) นักเรียนมัธยมปลายที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย Harmon College ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของนักเรียนหลายๆคน
ด้วยความหัวหมอของเกนส์ เขาได้ร่วมมือกับบรรดาเพื่อนตัวแสบ อุปโลกมหาวิทยาลัยปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกครอบครัวว่าตนเองมีที่เรียนและทำให้ที่บ้านสบายใจ
โดยมหาวิทยาลัยปลอมที่พวกเขาตั้งขึ้น มีชื่อว่า South Harmon Institute of Technology (ใช้ชื่อย่อว่า S.H.I.T เป็นชื่อย่อที่แสบใช้ได้ทีเดียว)
ความสนุกอยู่ตรงที่มหาวิทยาลัยปลอมที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้น กลับได้รับความนิยมเกินคาด มีนักเรียนมัธยมปลายที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาลัยหลั่งไหลมาเรียนที่ S.H.I.T อย่างล้นหลาม
การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะไม่มีอาจารย์ มีแต่นักเรียนที่เป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอน แถมยังมีวิชาเรียนแปลกๆ ที่เกิดจากการเรียกร้องของผู้เรียนและความถนัดของผู้สอนทั้ง วิชาโยคะเพื่อการรู้จักตัวตน 101 , วิชาการสอนเล่นสเกตบอร์ด 102 ฯลฯ ซึ่งทุกคนในมหาวิทยาลัยนี้ต่างเรียนกันด้วยความสนุกสนาน
เรื่องราวเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งความเป็นมหาวิทยาลัยลวงโลกถูกเปิดเผยโดยอธิการบดีของ Harmon College
เขาได้ทำเรื่องฟ้องร้องต่อสภามหาวิทยาลัยของเมืองเพื่อตรวจสอบความเป็นวิทยฐานะของ S.H.I.T พ่อหนุ่มเกนส์จึงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นมหาวิทยาลัยให้กับสถานศึกษาของเขา เรื่องราวจากนี้จะเป็นอย่างไร ? เกนส์ บาเทิลบี จะกู้สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยคืนมาได้หรือไม่ ? โปรดติดตามต่อใน " Accepted "
หากดูอย่างผิวเผินหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกับหนังคอมเมดี้ทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว สาระสำคัญของ " ACCEPTED " คือการเสียดสีระบบการศึกษา เริ่มตั้งแต่กระบวนการรับคนเข้าเรียน จนไปถึงหลักสูตรการเรียนการสอน กระทั่งให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมสมัยใหม่หลายประการ
ประการแรก เป็นเรื่องของระบบการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย หากลองพิจารณาเรื่องนี้ในกรอบของเศรษฐศาสตร์โดยใช้ทฤษฎีเกม (Game Theory) อาจมองได้ว่าเป็น " Zero Sum Game "
ซึ่งการวิเคราะห์นี้ ขอสมมุติให้มีผู้เล่นเพียง 2 คนในการสอบ ไม่ว่าแต่ละคนจะเลือกกลยุทธ์แบบไหนในการอ่านหนังสือ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีเพียงสองทางคือ " ได้ " (มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เลือก สมมุติให้เท่ากับ 1) กับ " ไม่ได้ " (สูญเสียโอกาสในการเข้าเรียนมหาลัยที่เลือก สมมุติให้เท่ากับ -1)
แน่นอนว่าผลรวมของผลลัพธ์ในเกมนี้จะเท่ากับ " ศูนย์ " คือมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย โดยที่คนได้นั้นจะกินรวบทั้งหมด (winner takes all)
เมื่อมองสถานการณ์นี้ในโลกแห่งความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เราจะพบว่าผลลัพธ์ของเกมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้เท่ากับศูนย์ แต่เป็น " Non Zero Sum Game " เพราะจำนวนคนที่พลาดหวังมีสัดส่วนมากกว่าคนที่สอบได้ ด้วยอัตราส่วนดังกล่าวผลรวมของผลลัพธ์ทั้งสังคมย่อมมีความสูญเสียมากกว่าผลได้ โดยมีลักษณะเป็น " Negative Game " ที่ผลลัพธ์จากการแข่งขันเกมนี้มีค่า " น้อยกว่าศูนย์ " นั่นเอง
ประการต่อมา สิ่งที่ควรพิจารณานอกเหนือจากผลลัพธ์ในเชิงปริมาณก็คือ เรื่องของพื้นที่ทางสังคมที่คนแพ้จะต้องหลุดออกจากระบบมหาวิทยาลัยที่คาดหวัง ซึ่งมักเป็นมหาวิทยาลัยที่สังคมให้การยกย่อง หรือมีชื่อเสียง ซึ่งค่านิยมนี้ได้ผลักให้ผู้ที่พลาดหวังในการสอบกลายเป็นผู้แพ้ในเกม
อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางสังคมในขณะนี้ได้ลดทอนค่านิยมเรื่องสถาบันลงไปบ้างแล้ว แต่การสอบวัดความรู้แบบแพ้คัดออกซึ่งตีค่าและประเมินคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ว่า " ด้อยกว่า " ก็ยังมีอยู่ ทำให้ผู้แพ้ในเกม ขาดพื้นที่ทางสังคม ขาดความเคารพนับถือตนเอง
สิ่งที่พอทำได้คงเหมือนกับหนังเรื่อง " ACCEPTED" ที่ผู้พลาดหวังจากการสอบต้องสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับตนเอง พึงระลึกไว้เสมอว่าการสอบไม่ใช่เครื่องวัดระดับความสามารถและขีดความสำเร็จของชีวิต ยังมีทักษะอื่นๆมากมายที่แต่ละคนมีและถนัด ซึ่งความถนัดเหล่านี้ต่างหากที่สร้างสังคมที่หลากหลายและทำให้แต่ละคนได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมร่วมกัน
 
ประการสุดท้าย เมื่อหันกลับมามองผู้ชนะที่สามารถเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มุ่งหวังได้ มหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้ให้อะไรกับผู้ชนะบ้าง ด้วยค่านิยมทางสังคมที่เป็นอยู่ ผู้ชนะอาจมีโอกาสทางสังคมบางอย่าง
อย่างไรก็ตามผู้เขียนนึกถึงฉากที่ลุง (แบบหลอกๆ) ของเกนส์ บาเทิลบี ในเรื่อง ACCETPED ได้ปลอมมาเป็นอาจารย์ใน S.H.I.T และพูดคุยกับพ่อแม่ของเกนส์ โดยวิพากษ์ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยว่า
.
สุดท้ายแล้วมันก็เป็นแค่การผลิตคนเข้าไปสู่องค์กรธุรกิจ หรือ เราต่างก็เป็น " เซลล์แมน " กันทุกคน โดยที่เรื่องของการศึกษาเป็นรองลงไปอีกที ซึ่งผมค่อนข้างเห็นด้วยกับประโยคนี้ ในโลกความจริง สถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นเช่นนั้น
เพราะไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนๆ ต่างก็เน้นผลิตคนเพื่อรองรับตลาดแรงงานอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยเปิดสอนวิชาหรือหลักสูตรที่มุ่งสนองภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม โดยที่วิชาอื่นๆที่สำคัญ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จริยศาสตร์ ฯลฯ ถูกให้ความสำคัญด้อยลงไป ในส่วนนี้ควรมีการปรับทัศนคติใหม่ เพราะรากฐานทางภูมิปัญญาของสังคมจะเข้มแข็งได้ หากสถาบันการศึกษามุ่งเน้นผลิตคนที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาในหลากหลายสาขา
อย่างไรก็ตาม ท่านอาจจะมองว่ามุมมองของผู้เขียนไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือแก่นแท้ของการศึกษา ซึ่งควรมุ่งผลิตบัณฑิตที่ “อุดม” ด้วย “ปัญญา”
เพราะการศึกษานอกจากจะใช้เพื่อทำมาเลี้ยงชีพแล้ว การศีกษายัง " เติมเต็ม " ชีวิตให้บริบูรณ์ด้วยความรู้ ด้วยการใช้เหตุผลและจินตนาการ เหมือนกับมหาวิทยาลัยของเกนส์ ที่นักเรียนทุกคนต่างก็เป็นอาจารย์และลูกศิษย์ ต่างได้สอนในวิชาที่ตนเองถนัด ได้แสดงความชอบ แสดงความเป็นตัวตนของตนเอง
ถ้าการศึกษาดีพอ มันจะเป็นหนึ่งในกระบวนการทางสังคมที่จะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในการอยู่ร่วมกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ละเมิดสิทธิระหว่างกัน และในท้ายที่สุดผู้คนในสังคมก็จะสร้างฉันทามติร่วมกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศร่วมกันตามแนวทางที่ได้วางกรอบไว้แล้วตั้งแต่ต้นทางคือระบบการศึกษา ไปจนถึงปลายทางคือการใช้ชีวิตในโลกที่ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
คำถามสำคัญก็คือ การศึกษาของเราตอนนี้ ได้เตรียมพร้อมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแล้วหรือยัง ?
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา