13 พ.ย. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson)” ผู้สร้างอาณาจักร “เวอร์จิน (Virgin Group)”
เมื่อพูดถึงชื่อของ “ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson)” บางคนอาจจะไม่รู้จัก
แต่หากเอ่ยชื่อ “เวอร์จินกรุ๊ป (Virgin Group)” เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยิน
เวอร์จินกรุ๊ปนั้นเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลายและโด่งดังไปทั่วโลก และผู้ก่อตั้ง คือ “ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson)” ผู้นี้นี่เอง
“ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson)” เกิดในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พ่อและแม่ของเขาคือ “เท็ด แบรนสัน (Ted Branson)” และ “อีฟ แบรนสัน (Eve Branson)” โดยในช่วงที่เกิดมานั้น พ่อแม่ของเขายังมีฐานะอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าลำบาก
ริชาร์ดในวัยเด็ก
เท็ดผู้เป็นพ่อนั้น เป็นทนายความที่ฐานะยังไม่มั่นคงเท่าไรนัก เงินทองก็ยังมีไม่มาก อีฟ ผู้เป็นภรรยาและเป็นแม่ของริชาร์ด ต้องหารายได้เพิ่มอีกทางด้วยการทำหมอนขายให้กับร้านเฟอร์นิเจอร์
1
ภายในเวลาไม่กี่ปี อีฟก็ได้ขยายกิจการ จากการทำหมอน เพิ่มเป็นการทำกล่องไม้และตะกร้า ส่งขายให้ห้าง “แฮร์รอดส์ (Harrods)” ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่และหรูหรากลางกรุงลอนดอน
2
ริชาร์ดซึ่งขณะนั้นยังเด็ก ได้ซึมซับการทำการค้าจากแม่ และนั่งมองแม่ทำงานตั้งแต่ยังเด็ก
แฮร์รอดส์ (Harrods)
แต่ครอบครัวแบรนสันก็ไม่ได้เอาแต่ทำงาน ไม่ทำอย่างอื่น
เมื่อครอบครัวเริ่มจะมีเงินเยอะขึ้น ก็ได้ซื้อรถตู้ และมักจะไปปิคนิคกันเสมอๆ โดยครอบครัวแบรนสันนั้นเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิด ริชาร์ดก็มีน้องสาวอีกสองคนตามออกมาด้วย
ริชาร์ดเป็นเด็กซน เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เล่นกีฬาเก่ง หากแต่การเรียนของเขานั้นดูเหมือนจะมีปัญหา
1
ริชาร์ดนั้นเริ่มใส่แว่นตอนอายุประมาณ 10 ขวบ เนื่องจากมองไม่เห็นบทเรียนบนกระดานดำ และเขายังมีอาการของโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) ทำให้มีปัญหาด้านการนับเลขและสะกดคำ สะกดผิดๆ ถูกๆ
ขณะอายุได้แปดขวบ ริชาร์ดถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ หากแต่ด้วยโรคที่เป็น ทำให้ริชาร์ดมีปัญหาด้านการเรียน และมักถูกตีเสมอๆ เกรดก็แย่ลงทุกวันๆ พ่อแม่ของเขาจึงส่งเขาไปเรียนที่โรงเรียนในบักกิ้งแฮมเชอร์ ซึ่งที่โรงเรียนใหม่นี้ ริชาร์ดก็ได้ตั้งใจเรียนจนเกรดดีขึ้น หากแต่เขาก็ยังคงไม่ชอบกฎระเบียบต่างๆ ของโรงเรียน
1
ริชาร์ด (วงกลม) ขณะเป็นนักเรียน
แต่ขณะที่เป็นนักเรียนนี้เอง ริชาร์ดก็ได้เกิดความสนใจในด้านธุรกิจ ซึ่งจากการที่เห็นแม่ทำธุรกิจของตัวเอง ทำงานที่บ้าน ทำให้ริชาร์ดสนใจอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ
ริชาร์ดและเพื่อนที่ชื่อ “นิค พาวเวลล์ (Nik Powell)” ตัดสินใจลงขัน ทำธุรกิจปลูกและขายต้นคริสมาสต์
ในเวลานั้น ครอบครัวแบรนสันเพิ่งจะซื้อบ้านหลังใหม่ พื้นที่กว้างขวางที่เซอร์เรย์ เด็กหนุ่มทั้งสองจึงมีพื้นที่เหลือเฟือในการปลูกต้นไม้สำหรับธุรกิจของทั้งคู่
หากแต่ธุรกิจนี้ก็ล้มเหลว เนื่องจากกระต่ายจะออกมากินยอดอ่อนของต้นไม้ ทำให้ธุรกิจแรกของริชาร์ดล้มเหลว
นิค (ซ้าย) และริชาร์ด
แต่ถึงแม้จะล้มเหลว แต่การทำธุรกิจแรกนี้ก็ทำให้ริชาร์ดได้เรียนรู้ว่าการคำนวนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ และทำให้คนที่ไม่ชอบเลขอย่างเขา เริ่มจะสนใจในตัวเลข
นอกจากเลขแล้ว ริชาร์ดยังพัฒนาฝีมือการเขียน และยังได้ร่วมกับเพื่อนที่ชื่อ “จอห์นนี่ ฮอลแลนด์ เจมส์ (Johnny Holland-Gems)” ก่อตั้งนิตยสารของตัวเองอีกด้วย
2
ด้วยความที่ครอบครัวแบรนสันสอนลูกๆ ให้มีความคิดเป็นของตนเอง ริชาร์ดและจอห์นนี่จึงเขียนกฎของโรงเรียนที่ทั้งคู่คิดว่าไม่ยุติธรรมลงในนิตยสาร หากแต่ทั้งคู่ก็ไม่ต้องการจะให้เฉพาะเด็กในโรงเรียนของตนเท่านั้นที่ได้อ่าน แต่อยากให้นักเรียนในโรงเรียนอื่นได้อ่านด้วย ทั้งคู่จึงตั้งชื่อนิตยสารว่า
1
“Student”
1
นิตยสาร Student
ริชาร์ดซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 15 ปี ได้โทรศัพท์หาพ่อและแม่ กล่าวว่าต้องการจะลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำนิตยสาร
1
เท็ดและอีฟ พ่อแม่ของริชาร์ด เมื่อได้ฟังคำขอของลูกชาย ก็ไม่ได้ว่าอะไร หากแต่ก็มีข้อแม้ นั่นคือจะดรอปเรียนก็ได้ แต่ริชาร์ดต้องสอบผ่านอย่างน้อยหนึ่งวิชา ริชาร์ดจึงไปดรอปทุกวิชาที่ลงเรียน และลงเรียนแค่วิชาเดียว นั่นคือ “ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ”
จากนั้น ริชาร์ดก็ทุ่มเวลาให้กับ Student เขาโทรศัพท์ไปหาคนดังหลายๆ คนเพื่อขอสัมภาษณ์ และติดต่อบริษัทต่างๆ ขอให้มาลงโฆษณา
1
ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) ริชาร์ดสอบผ่าน พ่อและแม่ของเขาก็รักษาสัญญาและอนุญาตให้เขาลาออกจากโรงเรียน ริชาร์ดและจอห์นนี่จึงวางแผนจะย้ายไปลอนดอนและทุ่มให้กับการทำนิตยสาร Student
ริชาร์ดในช่วงวัยรุ่น
เมื่อไปลาออก อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนได้กล่าวแก่ริชาร์ดว่า
“ฉันทำนายว่าถ้าเธอไม่เข้าคุก ก็จะเป็นเศรษฐี อย่างใดอย่างหนึ่งนี่แหละ”
1
อาจารย์ใหญ่เห็นถึงความมุ่งมั่นของริชาร์ด แต่นิสัยชอบแหกกฎของเขานี่แหละที่ทำให้อาจารย์ใหญ่เป็นห่วง
ในเวลานั้น ริชาร์ดมีอายุเพียง 17 ปี และได้ย้ายไปลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่กำลังเติบโต และเป็นศูนย์กลางของแฟชั่น ดนตรี และศิลปะ
วัยรุ่นลอนดอนในยุค 60 (พ.ศ.2503-2512)
แต่การทำนิตยสารนั้นไม่ง่ายเลย ริชาร์ดและจอห์นนี่ต้องย้ายไปอาศัยในห้องใต้ดินของครอบครัวจอห์นนี่ เงินก็ไม่ค่อยมี ที่นอนก็คือฟูกที่ปูนอนบนพื้น
สำหรับออฟฟิศของทั้งคู่นั้น ก็คือชั้นใต้ดินของโบสถ์ที่เต็มไปด้วยฝุ่น ซึ่งบางครั้ง ชั้นใต้ดินนี้ก็ถูกใช้เป็นที่เก็บศพ แต่สาเหตุที่ทั้งคู่ต้องใช้ที่นี่เป็นออฟฟิศ ก็เนื่องจากว่าฟรี ไม่ต้องเสียค่าเช่า
จอห์นนี่นั้นรอบรู้เรื่องเพลงเป็นอย่างดี และยังรู้เรื่องราวต่างๆ รอบโลก ทำให้เขาเป็นไอเดียหลักในการเขียนบทความ ในขณะที่ริชาร์ดเป็นคนที่ดูแลเรื่องของธุรกิจ เขาต้องติดต่อบริษัทต่างๆ ให้มาลงโฆษณา และต้องติดต่อคนดังต่างๆ เพื่อขอสัมภาษณ์ลงนิตยสาร
Student ฉบับแรกได้ถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) โดยในเวลานั้น วงดนตรีที่กำลังโด่งดังที่สุดในอังกฤษ คือ “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” และ “เดอะโรลลิ่งสโตนส์ (The Rolling Stones)”
ริชาร์ดได้หาทางติดต่อกับ “มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger)” นักร้องนำของเดอะโรลลิ่งสโตนส์ และโน้มน้าวให้แจ็กเกอร์ยอมให้สัมภาษณ์แก่ Student ได้สำเร็จ และนอกจากนั้น ริชาร์ดและจอห์นนี่ยังได้พบกับ “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” หนึ่งในนักร้องนำของเดอะบีทเทิลส์อีกด้วย
มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger)
จอห์น เลนนอน (John Lennon)
ริชาร์ดคาดหวังว่าการได้นักร้องดังระดับโลกทั้งสองรายมาสัมภาษณ์ จะทำให้คนสนใจและช่วยผลักดันยอดขายของ Student ซึ่งก็สำเร็จ สื่อมวลชนเริ่มจะสนใจ Student ถึงแม้ว่าเจ้าของนิตยสารรายนี้จะเป็นเพียงแค่เด็กวัยรุ่นก็ตาม
ริชาร์ดยังสนใจ อยากเขียนเรื่องของสงครามเวียดนามอีกด้วย
ในเวลานั้น วัยรุ่นทั่วโลกคิดว่าการที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิจะเข้าแทรกแซงเรื่องภายในของชาติอื่น
ริชาร์ดและพนักงานของ Student ก็ได้ประท้วงเช่นกัน และริชาร์ดก็ได้แสดงความเห็นทางการเมืองต่อนักข่าวเยอรมัน ทำให้ตัวเขาและ Student เริ่มเป็นที่จับตามองและโด่งดัง
ปลายปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) จอห์นนี่ตัดสินใจจะกลับไปเรียนหนังสือ ทิ้งให้ริชาร์ดบริหาร Student เพียงลำพัง
เมื่อขาดจอห์นนี่ ริชาร์ดจึงไปขอให้เพื่อนเก่าอย่างนิค ที่เคยทำธุรกิจต้นคริสมาสต์กับเขา ขอให้มาช่วยบริหาร Student ซึ่งก็สามารถทำให้ Student อยู่ไปได้อีกสองปี
ในทีแรก พนักงานของ Student ต่างไม่ได้รับค่าแรง
ถึงแม้จะเริ่มมีชื่อเสียง แต่ Student ก็ยังคงขายไม่ได้ ไม่มีรายได้ ริชาร์ดและพนักงานต้องพึ่งอาหารและเงินจากอีฟ แม่ของริชาร์ด ที่คอยมาส่งอาหารและเงินให้ด้วยความเป็นห่วง
ในที่สุด ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ริชาร์ดก็พบวิธีการในการทำเงินแล้ว
ริชาร์ดสังเกตว่าตนและเพื่อนๆ นั้นชอบฟังเพลงร็อค โดยเพลงสมัยนั้นจะอยู่ในรูปแบบของแผ่นเสียง วางจำหน่ายตามร้านขายแผ่นเสียงหรือไม่ก็ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ
แผ่นเสียงในยุค 60 (พ.ศ.2503-2512)
ริชาร์ดปิ๊งไอเดียธุรกิจ โดยเขาคิดว่าจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เขาจะไม่วางขายแผ่นเสียง แต่จะขายแผ่นเสียงทางไปรษณีย์
ลูกค้าจะต้องกรอกใบสั่งซื้อและหลักฐานการชำระเงินมาให้เขา จากนั้น ริชาร์ดจะไปซื้อแผ่นเสียง และส่งให้ลูกค้าทางไปรษณีย์
ริชาร์ดโฆษณาว่าเขาสามารถหาแผ่นเสียงทุกแผ่นที่ลูกค้าต้องการได้ และเขาก็เรียกธุรกิจใหม่นี้ว่า “เวอร์จินเมลออเดอร์ (Virgin Mail Order)”
1
ในทีแรก ริชาร์ดซื้อแผ่นเสียงจากผู้จัดจำหน่าย โดยกว้านซื้อในปริมาณมาก ทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ก่อนจะซื้อตรงกับบริษัทแผ่นเสียงในเวลาต่อมา
ด้วยกลยุทธนี้ ทำให้ริชาร์ดสามารถขายแผ่นเสียงได้ในราคาที่ถูกกว่าร้านจำหน่ายแผ่นเสียง และยังประหยัดต้นทุนค่าสถานที่ อีกทั้งไม่ต้องจ้างพนักงานจำนวนมากอีกด้วย
โฆษณาธุรกิจแผ่นเสียงของเวอร์จิน ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514)
ธุรกิจเวอร์จินเมลออเดอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว ลูกค้าสั่งแผ่นเสียงไม่เว้นแต่ละวัน แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นในปีค.ศ.1971 (พ.ศ.2514)
ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) บุรุษไปรษณีย์ในอังกฤษได้ประท้วงหยุดงาน เนื่องจากต้องการให้ขึ้นค่าแรง ซึ่งการหยุดงานของไปรษณีย์ก็กระทบกับธุรกิจของริชาร์ดโดยตรง ทำให้ไม่สามารถส่งแผ่นเสียงถึงลูกค้า
เมื่อเป็นอย่างนี้ ริชาร์ดจึงตัดสินใจตั้งร้านจำหน่ายแผ่นเสียงของตนเอง หากแต่ต้องเป็นร้านที่แตกต่างจากร้านอื่นๆ ในสมัยนั้น
ร้านจำหน่ายแผ่นเสียงของริชาร์ดคือ “เวอร์จินเรคคอร์ดส์ (Virgin Records)” เป็นร้านที่ดูเหมาะกับวัยรุ่น พนักงานก็คือคนหนุ่มสาวที่คลั่งไคล้ดนตรี อีกทั้งลูกค้ายังสามารถทดลองฟังเพลงก่อนที่จะซื้อแผ่นเสียงได้อีกด้วย
เวอร์จินเรคคอร์ดส์ (Virgin Records)
ริชาร์ดเน้นให้ร้านของตนมีแผ่นเสียงหายากที่ร้านอื่นไม่มีจำหน่าย ซึ่งแผ่นเสียงหลายๆ แผ่น เป็นแผ่นเสียงที่ต้องนำเข้ามาจากประเทศอื่นในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
ลูกค้าต่างชื่นชอบร้านของริชาร์ด และชื่นชมในตัวริชาร์ด
หลายคนรู้สึกว่าริชาร์ดคือพวกเดียวกัน เป็นวัยรุ่นเหมือนกัน และในไม่ช้า ร้านเวอร์จินเรคคอร์ดส์ก็เต็มไปด้วยลูกค้า ทั้งวัยรุ่น เด็ก คนหนุ่มสาว ต่างหลั่งไหลไปยังร้านของริชาร์ด
1
แต่การทำธุรกิจแผ่นเสียง ก็ใช่ว่าจะราบรื่น ไม่มีอุปสรรค
ต้นทุนในการทำธุรกิจค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากร้านแผ่นเสียงแล้ว ริชาร์ดก็ยังไม่ได้ยกเลิกการส่งแผ่นเสียงให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ซึ่งลูกค้าขี้โกงบางคน ก็อ้างว่ายังไม่ได้รับสินค้า ทั้งๆ ที่จริงๆ ได้แล้ว ทำให้ริชาร์ดต้องส่งแผ่นเสียงให้ใหม่อีกหนึ่งแผ่น
ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ริชาร์ดได้ซื้อคฤหาสน์ในหมู่บ้านที่ชื่อว่า “ชิพตันออนเชอร์เวลล์ (Shipton-on-Cherwell)”
1
คฤหาสน์หลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 มีเนื้อที่กว้างขวาง
ริชาร์ดตั้งชื่อคฤหาสน์ของตนว่า “เดอะแมเนอร์ (The Manor)” และตั้งใจจะให้ที่นี่เป็นสตูดิโอบันทึกเสียง ที่ๆ วงดนตรีใช้เป็นที่รวมตัวเพื่อบันทึกเสียง
เดอะแมเนอร์ (The Manor)
ริชาร์ดได้ไปกู้เงินจากธนาคารและยืมเงินของครอบครัวเพื่อมาซื้อเดอะแมเนอร์ ทำให้เขาเป็นหนี้ก้อนโต
เพื่อเป็นการประหยัดเงิน ริชาร์ดได้เลี่ยงภาษี โดยนำเงินที่ต้องจ่ายภาษีมาจ่ายหนี้ก่อน ซึ่งริชาร์ดเองก็รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่เขาก็ตั้งใจว่าเมื่อจ่ายหนี้หมดแล้ว ก็จะจ่ายภาษีให้ครบทุกบาททุกสตางค์
แต่ริชาร์ดก็ถูกจับกุมก่อนที่จะได้ทำอย่างนั้น ทำให้เขาละอายใจ หากแต่เขาก็ได้กล่าวในภายหลังว่า การที่เขาถูกจับ “คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับเขา”
1
ขณะเป็นนักเรียน ริชาร์ดมักจะสนุกและท้าทายที่ได้แหกกฎของโรงเรียน แต่เมื่อเป็นนักธุรกิจ เขาก็รู้แล้วว่าจะทำผิดกฎหมายไม่ได้ ซึ่งริชาร์ดก็ได้ตกลงจะจ่ายภาษีให้ครบ พร้อมทั้งค่าปรับ
ครอบครัวของริชาร์ดได้เข้าช่วยเหลือ ทำให้เขาสามารถจ่ายภาษีได้ครบจำนวน และริชาร์ดก็สัญญากับตนเองว่าจะไม่ทำผิดกฎหมายอีกแล้ว
ตลอดค.ศ.1971-1972 (พ.ศ.2514-2515) เวอร์จินเรคคอร์ดส์ได้เปิดสาขาร้านขายแผ่นเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งริชาร์ดก็ได้จ้างให้ญาติที่ชื่อ “ไซมอน เดรเปอร์ (Simon Draper)” ผู้ที่ริชาร์ดกล่าวว่าเป็น “ผู้ที่รู้เรื่องดนตรีมากกว่าใคร” มาเป็นผู้เลือกแผ่นเสียงที่จะนำออกจำหน่าย
นี่คือหนึ่งในความเยี่ยมยอดในการบริหารของริชาร์ด เขามักจะมีไอเดียใหม่ๆ และสามารถหาคนที่เหมาะสมมาช่วยให้ไอเดียของเขาเป็นจริง
เดอะแมเนอร์ได้กลายเป็นสตูดิโอบันทึกเสียง ก่อนที่ในปีค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ริชาร์ดจะได้แต่งงานกับ “คริสเทน โทแมซซี (Kristen Tomassi)” หญิงชาวอเมริกันที่เป็นเพื่อนกับหนึ่งในศิลปินที่มาอัดเสียงที่เดอะแมเนอร์ และได้พบกับริชาร์ด
ยิ่งนานวัน เดอะแมเนอร์ก็กลายเป็นสถานที่สำคัญสำหรับธุรกิจของริชาร์ด และริชาร์ดก็ตัดสินใจเปิดบริษัทเพลงของตนเองในที่สุด
ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) บริษัทเวอร์จินเรคคอร์ดส์ก็ได้ออกอัลบั้มทั้งหมดสี่ชุด และอัลบั้ม “Tubular Bells” ของ “ไมค์ โอลด์ฟิลด์ (Mike Oldfield)” หนึ่งในศิลปินของเวอร์จิน ก็กลายเป็นอัลบั้มฮิต
อัลบั้ม Tubular Bells
ภายหลัง เพลงในอัลบั้มนี้ได้เป็นหนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์ดังอย่าง “The Exorcist” ทำให้ยิ่งโด่งดังและทำเงินให้ริชาร์ด
ถึงแม้จะเริ่มมีฐานะร่ำรวย หากแต่ริชาร์ดยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม
เขายังเป็นคนรักสนุก เวลาประชุมก็แต่งตัวสบายๆ ไม่ผูกเน็คไทหรือใส่สูท เวลาปาร์ตี้ ก็ปาร์ตี้อย่างหลุดโลก
ในช่วงกลางยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) เวอร์จินได้พยายามจะเซ็นสัญญากับศิลปินเบอร์ใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ค่ายอื่น ต่างก็เสนอเงินให้ศิลปินดังมากกว่าที่เวอร์จินจะจ่ายได้
เมื่อรู้ตัวว่าสู้ค่ายใหญ่ไม่ได้ ริชาร์ดจึงเน้นไปที่การปั้นดาวดวงใหม่ หานักดนตรีที่ยังไม่โด่งดังแต่มีความสามารถ นำมาปั้นให้ดัง อีกทั้งยังขยายไลน์ธุรกิจ โดยเริ่มทำธุรกิจเสื้อผ้า ลงทุนซื้อร้านอาหาร และเริ่มธุรกิจแซนด์วิชเดลิเวอรี่อีกด้วย
ในทุกๆ ธุรกิจ ริชาร์ดเน้นเรื่องของคุณภาพสินค้า ในราคาจำหน่ายที่ถูกที่สุด
ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) เวอร์จินได้เซ็นสัญญากับกลุ่มนักดนตรีหน้าใหม่ ซึ่งมีชื่อวงว่า “เซ็กส์พิสทอลส์ (Sex Pistols)”
เซ็กส์พิสทอลส์ (Sex Pistols)
เซ็กส์พิสทอลส์ เป็นวงดนตรีพังค์ร็อควงแรกๆ ของอังกฤษ โดยเพลงของวง มีเนื้อหาล้อเลียนพระราชินีอังกฤษและเสียดสีสังคมอังกฤษ ทำให้วงและเวอร์จินเรคคอร์ดส์โด่งดัง ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน
นอกจากชีวิตการงานกำลังรุ่ง ริชาร์ดก็ได้มีรักใหม่กับหญิงที่ชื่อ “โจแอน เทมเปิลแมน (Joan Templeman)” ก่อนจะมีลูกด้วยกันในปีค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)
ริชาร์ดและโจแอน
ในเวลานี้ เวอร์จินเรคคอร์ดส์ได้กลายเป็นบริษัทที่มั่นคง ไม่ได้ขายเพียงแผ่นเสียง แต่ยังเปิดร้านที่ขายของสารพัด ทั้งแผ่นเสียง หนังสือ วีดีโอเกมส์ แผ่นภาพยนตร์
แต่สำหรับริชาร์ดแล้ว เขายังไม่พอใจ เขาต้องการให้ชื่อของเวอร์จินไปได้ไกลกว่านี้
ริชาร์ดเชื่อว่าการมีธุรกิจหลากหลายคือสิ่งที่ดี เนื่องจากหากธุรกิจใดมีปัญหา ก็ยังมีธุรกิจอื่นที่ยังรองรับ ยังทำเงินให้อยู่
ในปีค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) ได้มีทนายความชาวอเมริกันชื่อ “แรนดอล์ฟ ฟิลด์ส (Randolph Fields)” ได้มาคุยกับริชาร์ด พร้อมกับเสนอไอเดียที่จะให้ริชาร์ดลงทุน ขอให้เขาช่วยสนับสนุนเงินซื้อสายการบินแห่งใหม่ที่จะบินระหว่างลอนดอนและสหรัฐอเมริกา
ริชาร์ดและแรนดอล์ฟ ฟิลด์ส
ริชาร์ดนั้นลังเล ไม่แน่ใจนัก
การลงทุนในสายการบินต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล อีกทั้งอังกฤษก็มีสายการบินยักษ์ใหญ่อย่าง “บริติชแอร์เวส์ (British Airways)”
หากแต่ความคิดที่จะเป็นเจ้าของสายการบิน ก็ทำให้ริชาร์ดรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย
ริชาร์ดใช้เวลาไม่กี่วันในการตัดสินใจ และตัดสินใจที่จะเสี่ยง โดยตั้งใจจะให้สายการบินของตนเป็นสายการบินที่มีราคาไม่แพง และบริการเป็นเลิศ
1
ถึงจะดูเหมือนบ้าพลัง มุทะลุ หากแต่ริชาร์ดก็ไม่ได้คิดตื้นๆ ลงทุนโดยไม่ศึกษา
เขาได้ไปหาข้อมูล และพบว่าสามารถเช่าเครื่องบินโบอิ้งจากบริษัทโบอิ้งเป็นเวลาหนึ่งปี หากในเวลานั้น ธุรกิจสายการบินไม่ทำเงิน ก็ค่อยปิดกิจการก็ได้
แต่ปรากฎว่าญาติๆ และพรรคพวกไม่มีใครเห็นด้วยกับริชาร์ดซักคน บางคนบอกว่าเขาบ้าไปแล้ว แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น เวอร์จินเรคคอร์ดส์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีศิลปินดังในสังกัดมากมาย ทำให้มีเงินทุนที่จะลงกับธุรกิจสายการบิน
มิถุนายน ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) “เวอร์จินแอตแลนติกแอร์เวส์ (Virgin Atlantic Airways)” ก็พร้อมสำหรับเที่ยวบินเที่ยวแรก โดยริชาร์ดได้แต่งตัวเป็นนักบิน ออกมาต้อนรับผู้โดยสารด้วยตัวเอง
ริชาร์ดได้เปลี่ยนเที่ยวบินนี้ให้เป็นงานปาร์ตี้ที่สนุกสนาน มีการเปิดเพลงเสียงดัง และมีเครื่องดื่มให้บริการผู้โดยสารทุกคน
นอกจากธุรกิจแล้ว ริชาร์ดยังชอบความท้าทาย โดยเขาได้พยายามจะทำลายสถิติด้วยการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกทางเรือ
ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) ริชาร์ดวางแผนจะเดินทางข้ามมหาสมุทรแอนแลนติกอีกครั้ง คราวนี้จะไปทางบอลลูน ซึ่งก็เกิดความผิดพลาด ทำให้บอลลูนตกลงไปในมหาสมุทร ทำให้ริชาร์ดเกือบเอาชีวิตไม่รอด
1
ริชาร์ดขณะอยู่ในบอลลูน
ถึงแม้จะเกือบตาย หากแต่ก็ไม่เข็ด ริชาร์ดยังคงชื่นชอบบอลลูน และยังคงท้าทายด้วยการใช้บอลลูนทำลายสถิติต่างๆ อีกหลายครั้ง
1
ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ริชาร์ดได้รวบรวมธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นจุดกำเนิดของ “เวอร์จินกรุ๊ป (Virgin Group)”
ธุรกิจสายการบินก็ได้เริ่มเปิดเส้นทางใหม่ และริชาร์ดก็มีฐานะเข้าขั้นมหาเศรษฐี
ในปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ริชาร์ดและโจแอนซึ่งคบหากันมานานและมีลูกด้วยกัน ได้ตัดสินใจจัดงานแต่งงาน โดยริชาร์ดนั้น ได้เกาะเฮลิคอปเตอร์มายังงานแต่งงานของตนเอง เรียกเสียงฮือฮาให้แขกที่มาร่วมงานแต่งงาน
1
ริชาร์ดที่เดินทางมางานแต่งงานของตนเอง
ในเวลานั้น บริติชแอร์เวส์ ซึ่งเป็นสายการบินชั้นนำ เริ่มไม่พอใจที่ถูกเวอร์จินแย่งผู้โดยสาร และได้เริ่มค้นข้อมูลของเวอร์จิน ก่อนจะนำไปปรับปรุงให้เข้ากับบริษัทและเสนอราคาที่ถูกกว่าให้ผู้โดยสาร
ในปีค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) ริชาร์ดได้ทำการฟ้องบริติชแอร์เวส์และชนะ ทำให้ริชาร์ดยิ่งโด่งดังในอังกฤษมากขึ้นไปอีก
ผู้คนชื่นชมเขาตรงที่ว่า เขาเป็นคนธรรมดาที่ก่อตั้งธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น หากแต่สามารถท้าทายบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าและชนะ
ก่อนที่จะชนะคดี เวอร์จินเรคคอร์ดส์ก็ประสบความสำเร็จในการเซ็นสัญญากับเดอะโรลลิ่งสโตนส์ ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ริชาร์ดยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่ต้องไปขอสัมภาษณ์นักร้องนำของเดอะโรลลิ่งสโตนส์อยู่เลย
1
แต่การเซ็นสัญญานี้ก็ต้องใช้เงินมหาศาล เดอะโรลลิ่งสโตนส์เป็นวงดนตรีระดับโลก การเซ็นสัญญานี้ เวอร์จินเรคคอร์ดส์ต้องใช้เงินถึง 44 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,330 ล้านบาท) ซึ่งทำให้เวอร์จินเรคคอร์ดส์ที่มีหนี้อยู่แล้ว ยิ่งมีหนี้ก้อนโตเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ริชาร์ดตระหนักว่ามีอยู่ทางเดียวที่จะจ่ายหนี้จำนวนมากได้ นั่นคือการขายเวอร์จินเรคคอร์ดส์
ทั้งเพื่อนๆ และโจแอน ต่างไม่มีใครเห็นด้วย ทุกคนกล่าวว่าเขาต้องเสียใจแน่ถ้าขายเวอร์จินเรคคอร์ดส์ บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จของเขา และกว่าจะนำพาเวอร์จินเรคคอร์ดส์ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าได้ขนาดนี้ ริชาร์ดก็ต้องเหนื่อยไม่น้อย
หากแต่ในปีค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) ริชาร์ดก็ได้ขายเวอร์จินเรคคอร์ดส์ไปในราคา 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท)
เงินที่ได้จากการขายเวอร์จินเรคคอร์ดส์ ทำให้ริชาร์ดสามารถชำระหนี้ได้หมด และยังสามารถขยายธุรกิจไปยังส่วนอื่นๆ ได้
ริชาร์ดได้เริ่มทำธุรกิจสถานีวิทยุ และยังสร้างแบรนด์โคล่าของตนเอง และยังลงทุนในธุรกิจรถไฟอีกด้วย
นอกเหนือจากธุรกิจแล้ว ริชาร์ดยังก่อตั้งมูลนิธิและองค์กรการกุศลมากมาย และยังตั้งโครงการต่างๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและลดมลภาวะของโลก
ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) ริชาร์ดได้รับแต่งตั้งจากพระราชินี มีคำนำหน้าชื่อว่า “เซอร์ (Sir)”
ถึงแม้จะมีอายุมากขึ้น แต่ริชาร์ดยังคงรักการผจญภัยและความท้าทาย เขาได้คิดถึงแผนการสำหรับการท่องอวกาศ และได้คิดชื่อสำหรับบริษัทท่องเที่ยวอวกาศเอาไว้แล้วอีกด้วย
ปัจจุบัน ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ริชาร์ดในวัย 70 ปี มีทรัพย์สินอยู่ที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 123,000 ล้านบาท)
ใครจะคิดว่าเด็กที่ดูไม่มีอนาคต ไม่ตั้งใจเรียน ทำผิดกฎสารพัด ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ด้วยเหตุผลแค่ว่า “อยากทำนิตยสาร” จะกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยอันดับต้นๆ ของอังกฤษและประสบความสำเร็จมหาศาล
ชีวิตของริชาร์ด แบรนสันน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนเลยทีเดียว
โฆษณา