13 พ.ย. 2020 เวลา 12:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
☀️โรคติดเชื้อ RSV มีวัคซีนป้องกันไหม?
(Respiratory Syncytial Virus)☀️
RSV เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี
🕹ระยะตั้งแต่รับเชื้อโรคจนเกิดอาการ เร็วสุด 2 วัน ช้าสุด 8 วัน โดยเฉลี่ย 4-6 วัน
🕹ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ติดเชื้อ RSV เป็นครั้งแรก พบว่า 20-30 % มีการลุกลามของไวรัสถึงหลอดลมฝอย และเนื้อปอด ทำให้มีอาการไอ และหายใจหอบได้
🕹เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และมีชีวิตอยู่บนสิ่งของต่างๆได้นานหลายชั่วโมง อยู่บนมือคนได้ 30 นาที
🕹เด็กที่เป็นโรค RSV และหายแล้ว อาจจะกลับมาเป็นใหม่ได้อีก และมีโอกาสเป็นได้หลายครั้ง เพราะ เชื้อ RSV มี 2 สายพันธุ์ คือ Aและ B
ในเมื่อเป็นโรคที่พบบ่อย และเด็กเล็กอาจมีอาการหนักได้
เนื่องจากทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก เชื้อRSVเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุผิว ขนพัดโบกเสมหะออกได้น้อยลง เสมหะจึงคั่งค้าง ปนกับเศษเซล์ที่ตาย เกิดการอุดตันของหลอดลมฝอย ถุงลมแฟบแลกเปลี่ยนอากาศไม่ได้ จึงเกิดอาการหายใจหอบ (ดังแผนภูมิภาพข้างล่างนี้)
ภาพจาก https://www.frontiersin.org/files/Articles/450448/fimmu-10-02152-HTML-r1/image_m/fimmu-10-02152-g001.jpg
☀️มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันหรือยัง?☀️
เรามาดูโครงสร้างของเชื้อ RSV กันก่อนค่ะ
RSV เป็น ไวรัสชนิด RNA สายเดี่ยว ที่มีโปรตีน G และ โปรตีน F เป็นเปลือกหุ้ม
ซึ่งโปรตีน F จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง 2 ระยะคือ Pre-fusion F และ Post-fusion F ก่อนจะเข้าสู่เซลล์
ถ้าเราไปขวางกั้น การเปลี่ยนแปลงของโปรตีน F ที่เปลือกหุ้ม ก็จะทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ไม่ได้
ดังนั้น ในต่างประเทศจะมีการใช้ humanized mouse IgG1 monoclonal antibody (Pailvizumab)ที่ออกฤทธิ์ต่อ F protein ก็จะช่วยไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้
☀️ในสหรัฐอเมริกา มีคำแนะนำของ American Academy of Pediatrics ในปี 2557 บอกว่า
“☀️ทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน ที่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ฉีด Humanized mouse IgG1 monoclonal antibody เข้ากล้ามเนื้อ เดือนละครั้ง ขนาด 15mg/kg ติดต่อกันไม่เกิน 5 เข็ม เมื่อเข้าสู่ฤดูที่มี RSV ระบาด☀️
กลุ่มเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงได้แก่
1.คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์แรกคลอดต่ำกว่า 29 สัปดาห์
2.คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์แรกคลอดต่ำกว่า 32 สัปดาห์ ร่วมกับมีภาวะ chronic lung disease of prematurity คือ ต้องได้รับอ๊อกซิเจนอย่างน้อย 28 วัน
3.เด็กทารกต่ำกว่า 1 ปี ที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิด และมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ ความดันในปอดสูง
4.เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง
ที่กล่าวมานี้คือ สารแอนตี้บอดี้ ที่จะเข้าไปเกาะกับ protein F ทำให้ไวรัสเข้าเซลล์ไม่ได้ ยังไม่ใช่วัคซีน
การผ่านเข้าเซลล์ของเชื้อ RSV
☀️ที่เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ RSV มีใช้หรือยัง?☀️
คำตอบคือ
เคยมีการวิจัยวัคซีนไวรัส RSV ตั้งแต่ปี พ ศ 2509 เป็นวัคซีนชนิด formalin-activated
แต่เมื่อนำมาใช้ พบว่า ก่อให้เกิดปฏิกริยาทางภูมิคุ้มกันเพิ่มมากเกินไป กล่าวคือ เด็กที่ได้รับวัคซีน เมื่อติดเชื้อ RSV ตามธรรมชาติ กลับพบว่ามีอาการของโรคเพิ่มมากขึ้น จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลถึง ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้วัคซีน นอนโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 5
สรุปว่า วัคซีนไวรัสRSV ในยุคนั้น ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิด antibody ให้สูงพอที่จะป้องกันโรคได้ แต่กลับไปกระตุ้น การหลั่งสาร interleukin ที่ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการตีบแคบมากขึ้น เด็กที่ได้รับวัคซีนกลับมีอาการหนักกว่า คนที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงเลิกใช้กันไป
☀️ปัจจุบันความสนใจกลับเล็งไปที่ วัคซีนที่ให้กับหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ☀️
เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูง และส่งผ่านทางรกไปให้กับลูกในครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์
วัคซีนที่จะให้ในหญิงตั้งครรภ์ กำลังวิจัยและพัฒนาอยู่ในระยะ clinical trial ระยะที่ 2 -3 คือ
1.Novavax หรือ RSV-recombinant Fusion protein (post-fusion conformation) Nanoparticle
ที่มีรายงานล่าสุดใน New England Journal of Medicine เมื่อ July 30, 2020 ฉีด RSV protein F nanoparticle vaccine ในหญิงตั้งครรภ์ พบ ประสิทธิภาพป้องกันโรค RSV ในทารก 90วันแรกหลังคลอดได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ (3)
ยังต้องมีการศึกษากันต่อไปในอนาคต
2.RSV-Pre F หรือ RSV-recombinant Fusion protein ( pre-fusion conformation)
ระหว่างที่ยังไม่วัคซีน มี
🌺วิธีป้องกันโรค RSV อย่างไร?🌺
1 .ทารกแรกเกิด ให้กินนมแม่อย่างเดียวถึงอายุ 6 เดือน และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยถึงอายุ 2ปีหรือนานกว่านั้น
 
☀️น้ำนมแม่มีสารที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส รวมทั้ง เชื้อ RSV ด้วย ☀️
พบว่า ทารกที่กินนมแม่ เมื่อป่วยด้วยโรค RSV มักจะมีอาการน้อยกว่า และอยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาที่สั้นกว่า ทารกที่ไม้ได้กินนมแม่
2.ลดโอกาสสัมผัสโรค
- ไม่พาทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนไปในที่มีคนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า
- ไม่ให้ผู้ที่มีอาการหวัด ไอ น้ำมูกไหล เข้าเยี่ยมใกล้ชิดกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2ปี
3. สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล มีการคัดกรองเด็กที่ไอ น้ำมูกไหล ให้กลับไปดูแลอาการที่บ้าน หมั่นเช็ดทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ
4. ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปที่ชุมชน ล้างมือเมื่อกลับถึงบ้าน
5. พ่อแม่ หรือคนในครอบครัว ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน เมื่อกลับเข้าบ้านให้ล้างมือ หรืออาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปอุ้ม หรือเล่น กับลูกหลานในบ้าน
💕ขอให้ช่วยกันรักษาสุขภาพของลูกหลาน และผู้สูงวัยในบ้าน ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ค่ะ💕
เอกสารอ้างอิง
1. RSV (Respiratory Syncytial Virus)
Update in Pediatric Infectious Disease 2017 พญ ธันยวีร์ ภูธนกิจ
หน้า 84-92
Respiratory Syncytial Virus Vaccination during Pregnancy and Effects in Infants
List of authors.
Shabir A. Madhi, M.B., Ch.B., F.C.Paed.(SA), Ph.D., Fernando P. Polack, M.D., Pedro A. Piedra, M.D., Flor M. Munoz, M.D., et al., for the Prepare Study
July 30, 2020
N Engl J Med 2020; 383:426-439
DOI: 10.1056/NEJMoa1908380

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา