15 พ.ย. 2020 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ทำไมต้องลงทุนและทำธุรกิจในอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียในปัจจุบันเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเอเชีย ผู้สังเกตการณ์ตลาดคาดว่าอินโดนีเซียจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกภายในปี 2593 การเข้าสู่ตลาดได้เร็วจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอย่างดี การเริ่มลงมือก่อนทำให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางการตลาดที่กำลังเติบโตก่อนที่คู่แข่งของคุณจะเข้ามา
ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตมากกว่า 5% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมอินโดนีเซียจึงเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างชาติ บทความนี้จะอธิบายถึงเหตุผลบางประการที่คุณควรพิจารณาลงทุนและทำธุรกิจในอินโดนีเซีย
1
1.) การเติบโตของภาคธุรกิจในอินโดนีเซีย
ในฐานะหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก อินโดนีเซียได้มอบโอกาสสำคัญให้กับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ประเทศมีการวางแผนที่จะก่อสร้างสนามบินใหม่ 15 แห่งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 และเพิ่มอาคารผู้โดยสารอีกแห่งที่สนามบินนานาชาติ Soekarno-Hatta ในกรุงจาการ์ตาภายในปี 2564 ธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถใช้ประโยชน์จากความต้องการผู้รับเหมา ช่างเทคนิค สถาปนิก และผู้จัดการโครงการที่มีประสบการณ์
การศึกษาของประเทศเป็นอีกหนึ่งส่วนที่เติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนหลายแสนแห่งทำให้ประเทศนี้มีระบบการศึกษาที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก อุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงต้องการครูใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทรัพยากร การฝึกอบรม เทคโนโลยี และการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้ความรู้แก่ชาวอินโดนีเซียรุ่นต่อไป การเข้าสู่ตลาดและทำสัญญากับรัฐบาลอาจให้ผลตอบแทนอย่างมากสำหรับธุรกิจที่มีกลยุทธ์ที่เหมาะสม
2.) การบริหารงบประมาณของภาครัฐเพื่อใช้ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ตามที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุนแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียระบุว่า ประเทศกำลังขยายโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน อู่ต่อเรือ และทางรถไฟในช่วงทศวรรษหน้า การใช้จ่ายของรัฐนี้เป็นโอกาสในการทำสัญญาสำหรับธุรกิจด้านการก่อสร้าง การวิจัย เทคโนโลยี การเงิน และการบริการ การคิดนอกกรอบและมองหาวิธีใช้ประโยชน์จากช่องว่างของตลาดในปัจจุบันเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในระยะยาว พิจารณาว่าธุรกิจของคุณสามารถปรับให้เข้ากับโอกาสเหล่านี้ในอินโดนีเซียได้อย่างไร
3.) ข้อตกลงการค้าเสรี
ในฐานะสมาชิกของอาเซียน อินโดนีเซียทำการค้ากับอีก 9 รัฐสมาชิกโดยเสียภาษีน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และบรูไน ธุรกิจที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย แค่เฉพาะกับอาเซียน ผู้ค้าของอินโดนีเซียสามารถเข้าถึงประชากรได้มากกว่า 650 ล้านคนและมี GDP รวมกันในปี 2561 ที่ 2.92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่า 60% ของการเติบโตทั่วโลกจะมาจากเอเชียภายในปี 2568
ด้วยการเชื่อมต่อกับอาเซียนนี้เอง อินโดนีเซียยังมีสิทธิพิเศษทางการค้าในการเข้าถึงอินเดีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีข้อตกลงกับสมาคมทั้งหมด
1
4.) พัฒนาการทางการค้าล่าสุด
เดือนมีนาคม 2562 อินโดนีเซียได้สรุปข้อตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ซึ่งได้เตรียมยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียที่เหลือทั้งหมดทันที โดยทั้งสองประเทศกำลังมองหาโอกาสสำหรับความร่วมมือและการค้าต่อไป
เดือนธันวาคม 2561 อินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจ (Closer Economic Partnership, CEP) กับ สมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association, EFTA) แม้ว่าจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ความร่วมมือนี้จะเป็นการเปิดเส้นทางการค้าสู่ยุโรปให้กับประเทศ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆสามารถเข้าถึงตลาดที่หลากหลายได้อย่างกว้างขวาง
5.) ความสะดวกในการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย
จากการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 73 ของโลก สูงกว่าฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 124) ต่ำกว่าจีน (46) และมาเลเซีย (15) ประเทศอยู่ในแนวโน้มที่ดีขึ้นสำหรับความสะดวกในการทำธุรกิจโดยอยู่ในอันดับที่ 128 ในปี 2556 และ 91 ในปี 2560 แนวโน้มเชิงบวกนี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของกฎระเบียบทางการค้าต่าง ๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการ Rodrigo Chaves ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำอินโดนีเซียกล่าวว่า
“ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การทำสัญญา การจัดหาเงินทุน การจ่ายภาษี และความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ เป็นองค์ประกอบเชิงบวกสำหรับธุรกิจของอินโดนีเซีย”
6.) นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้
ในปี 2558 ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินในอินโดนีเซียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ การสร้าง (Hak Guna Bangunan) การเพาะปลูก (Hak Guna Usaha) และการใช้ (Hak Pakai)
Hak Pakai อนุญาตให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติซื้อบ้านและอพาร์ตเมนต์ในประเทศและเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรหรือชั่วคราว หรือแม้กระทั่งทำธุรกิจซื้อเพื่อปล่อยเช่าและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะผู้ประกอบการที่มีบริษัทหรือมีใบอนุญาตทำงาน (KITAS) อย่างถูกต้องเท่านั้นที่สามารถยื่นขอ Hak Pakai ได้
7.) ชนชั้นกลางกำลังเติบโต
อินโดนีเซียมีการเติบโตของชนชั้นกลางที่เร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากข้อมูลของ McKinsey คาดว่าชาวอินโดนีเซีย 90 ล้านคนจะเข้าสู่ “ชนชั้นผู้บริโภค” ภายในปี 2573 หากประชาชนมีรายได้และรสนิยมที่สูงขึ้น โอกาสใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าโภคภัณฑ์ ผู้ที่พึ่งพาการนำเข้าจะได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าเป็นอย่างดี World Meters ระบุว่าอายุเฉลี่ยของชาวอินโดนีเซียคือ 28.3 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร สำหรับธุรกิจในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
8.) อุปสรรคในการเข้ามาทำธุรกิจในอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียยังคงมีความท้าทายสำหรับธุรกิจที่กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาด ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงยึดติดกับเส้นทางเดิม ๆ เช่น การขยายไปยังจีนหรือญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้จะเป็นตัวกีดกันธุรกิจที่ไม่มีวิสัยทัศน์และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเติบโต
คิดว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค หากมีธุรกิจตะวันตกเข้าสู่ตลาดน้อยแสดงว่ามีการแข่งขันน้อย ทำให้คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น หลักสำคัญคือต้องมีความอดทนและมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เพื่อแนะนำคุณตลอดการดำเนินการขยายธุรกิจ
9.) ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
ถึงแม้อินโดนีเซียจะมีมากกว่า 700 ภาษาและผู้คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอินโดนีเซีย แต่ข่าวดีก็คือโลกธุรกิจให้การยอมรับภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในเมืองใหญ่ ๆ เช่น จาการ์ตา คุณสามารถติดต่อและทำธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นหรือลงทุนกับล่าม แม้ว่าคุณควรที่จะเรียนรู้และเข้าใจถึงวัฒนธรรมทางธุรกิจของอินโดนีเซียซึ่งอาจแตกต่างไปมากจากทางตะวันตก
10.) การทำธุรกิจในอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียมีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าสี่ล้านคนต่อปี ด้วยจำนวนประชากรวัยทำงานจำนวนมาก รวมถึงโอกาสและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย ทำให้ประเทศเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับการขยายธุรกิจของคุณ
ติดตามช่องทางสำหรับรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่
Youtube: Interloop Solutions & Consultancy
โฆษณา