14 พ.ย. 2020 เวลา 16:33 • ปรัชญา
"...อย่าตายใจในการปฏิบัติความดี..."
"...คิดดี...ปรารถนาดีที่จิต แต่ทำดีเพียงแค่กายวาจาเท่านี้ไม่ถึงดวงจิตก็ใช้ไม่ได้ เหมือนคนไม่มีศีล ๕ แต่ไปให้ศีล ๕ คนอื่นอย่างนี้ย่อมไม่มีอำนาจ ไม่ศักดิ์สิทธิ์แนะนำคนอื่นให้ทำดีแต่ตัวเองไม่ทำดี
อย่างนี้คนถูกสอนก็อ่อนใจ หมดกำลัง
เราต้องบำเพ็ญจิตใจของเราให้สงบระงับตามส่วนของข้อปฏิบัติ ในศีล สมาธิ ปัญญา นายทหารสอนลูกน้องแต่ตัวเองไม่ทำตาม เรียกว่า ไม่ใช่นักรบ
ถ้าเราทำบุญแค่กาย วาจา วัตถุ แต่ไม่ทำถึงจิตใจก็ย่อมจะเกิดท้อถอยศรัทธา เหนื่อยใจเพราะไม่เห็นผลของบุญที่ทำไป
เมื่อใครแสวงหาบ่อเกิดของอวิชชา เท่ากับผู้นั้นออกจากที่มืดที่ปิดบัง ย่อมเห็นเงาของตัวเองสั้นหรือยาวได้ถนัดตลอดจนพระอาทิตย์ (ตะวัน) ตกดิน คนฉลาดจะเห็นเงาของตัวเองได้ตลอดเวลา ๒๔ ชม. จนแสงไฟขึ้นก็ยังเห็น
คนฉลาด คือ ผู้ที่มีจิตประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
และจะต้องอาศัยเหตุเหล่านี้
๑.) อาศัยอยู่ในที่แจ้ง
๒.) อาศัยต้นไม้ที่มีร่มเงา
๓.) ต้องไปอยู่ในสถานที่มีไฟ
แม้เป็นกลางคืนก็สามารถมองเห็นเงาของตนได้
ข้อ ๑ อาศัยอยู่ในที่แจ้งนั้น ได้แก่ วัด
อันเป็นสถานที่อบรมเราให้เห็นความดีชั่ว อันเป็นบ่อเกิดแห่งความดีส่วนหนึ่ง
ข้อ ๒ ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงานั้น ได้แก่ ต้นไม้กลางทุ่งที่มีแต่แก่น เปลือกก็หลุด กิ่งก้านก็หักหมดนี้เปรียบกับพระภิกษุผู้ที่ท่านตัดความกังวลต่างๆทางฆราวาส
ความรกรุงรังต่างๆก็ไม่มี มีแต่ธรรมเป็นแก่นสาร
ถ้าเราอยู่ใกล้คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลสตัณหา (คือ ต้นไม้ที่มีกิ่งก้านร่มเงา) ก็จะทำให้เราโง่ไปทุกเวลา โ่ง่เพราะมีลูกให้เรากิน มีดอก มียอดให้เรากิน มีร่มเงาให้เราอาศัยสบายร่มเงานี้ทำให้เราโง่ เพราะตายใจว่า ดี (เหมือนอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ทำให้เราประมาทตายใจว่าเป็นที่พึ่งคุ้มภัยได้แล้ว)
เราต้องอยู่ใต้ต้นไม้แก่น ตากแดด ตากลม ไม่มีที่กำบังจะได้เห็นทุกข์เห็นโทษได้ถนัด
ท่านจะชี้ให้เราเห็นอันตรายของความทุกข์ต่างๆ
เราก็จะไม่ประมาท สร้างความดีให้ตัวเอง
ให้รู้บาปบุญคุณโทษ อันเป็นบ่อเกิดแห่งอวิชชา
ลักษณะของบุคคลนั้นมีหลายอย่าง บางคนเหมือนหญ้าเหมือนหนาม บางคนก็มีแก่น
คนทั้งหลายที่เราจะคบค้าสมาคมก็เช่นเดียวกัน
พระนั้นเปรียบเหมือนต้นไม้แก่น
ท่านจะแนะนำให้เราตัดอย่างนั้นอย่างนี้ ความรกรุงรังของเราก็จะหมดไป
ข้อ ๓ ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีไฟ คือ เราต้องสงบจิตจึงจะได้รับแสงสว่าง ถ้าจิตของเราท่องเที่ยวไปในสัญญาอารมณ์ก็จะเกิดความเหนื่อยใจ ถ้าสงบเมื่อใด ใจของเราก็อิ่ม..."
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
โฆษณา