15 พ.ย. 2020 เวลา 01:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
งานวิจัยพบว่าข่าวเท็จแพร่กระจายได้ไกลและเร็วกว่าข่าวจริงมากๆ!
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
7
- เรื่องราวต่างๆ ที่อยู่บนโซเชียลมีเดียเชื่อถือได้ขนาดไหน?
- ประเทศหนึ่งสามารถเข้ามาแทรกแซงให้คุณให้โทษกับสถานการณ์การเมืองของอีกประเทศหนึ่งผ่านสื่อออนไลน์ได้หรือไม่?
- สิ่งที่อ่านแล้วดูเหมือนเป็นวิทยาศาสตร์ จริงๆแล้วเป็นวิทยาศาสตร์หรือเปล่า?
- ผู้ที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลเท็จมีจุดประสงค์อะไรแอบแฝง?
- คนที่คล้อยตามข้อมูลเท็จเขาคิดอะไรอยู่?
- บ็อตปัญญาประดิษฐ์หรือมนุษย์ขี้หงุดหงิดกระจายข่าวปลอมมากกว่ากัน?
ฯลฯ
3
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาเสมอเวลาพูดถึงการแพร่กระจายของข่าวจริงและข่าวปลอมในโลกออนไลน์ งานวิจัยที่พยายามออกมาให้คำตอบก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่งานที่อิงข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาคือผลงานของโซรูช โวซูกิ (Soroush Vosoughi) เด็บ รอย (Deb Roy) และสินัน อาราล (Sinan Aral) นักวิจัยแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Science
2
งานวิจัยนี้ศึกษาการแพร่กระจายข่าวปลอมออนไลน์ เพื่อตอบคำถามสองคำถามที่งานวิจัยที่มีมาก่อนหน้านี้ยังไม่เคยตอบได้มาก่อนคือ
(1) ข่าวปลอมกับข่าวจริงแพร่กระจายต่างกันอย่างไร
(2) องค์ประกอบใดของวิจารณญานที่ส่งผลต่อความต่างเหล่านี้
1
กล่าวคือ หากต้องการควบคุมการแพร่กระจายของข่าวปลอม ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าข่าวปลอมแพร่กระจายอย่างไร อันที่จริงการศึกษาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ว่าในยุคไหนๆ การตัดสินใจ การสร้างความร่วมมือ การสื่อสาร และการตลาด ล้วนแล้วแต่อิงอาศัยความเข้าใจที่มาที่ไปที่ถูกต้องและเที่ยงตรงทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ใหม่คือ สื่อสังคมออนไลน์ทำให้การศึกษาเรื่องนี้มีมิติและความซับซ้อนใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้น
4
คนหันมาสนใจเรื่องข่าวปลอมกันมากขึ้นเพราะเรื่องประชาธิปไตย การเมือง ตลาดหุ้น และการลงทุน ข่าวปลอมทำให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์รอบตัวอย่างผิดเพี้ยนไปหมด ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย
โซเชียลมีเดีย ช่วยให้ข้อมูลไหลพรั่งพรูไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จ เพราะเหตุนี้คนจึงคิดว่า ถ้าจะแก้การแพร่กระจายของข่าวปลอม ก็ต้องแก้ที่สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ แต่จริงๆ เราไม่รู้แน่ชัดว่า เราต้องโทษเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน งานวิจัยที่มีมาแล้วส่วนใหญ่ ก็ศึกษาข่าวลือเป็นเรื่องๆ ไป (เช่น การค้นพบฮิกส์โบซอน แผ่นดินไหวในเฮติ หรือเหตุระเบิดในบอสตันมาราธอน) แต่ไม่ได้ศึกษาเปรียบเทียบหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน หรือศึกษาถึงธรรมชาติพื้นฐานว่าเหตุใดข่าวปลอมจึงแพร่กระจายไม่เหมือนข่าวจริง
1
ในงานวิจัยที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ แพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ให้การสนับสนุนโดยอนุญาตให้เข้าถึงข้อความทั้งหมดที่เก็บไว้ตั้งแต่เปิดให้บริการมา หนึ่งในคณะวิจัยซึ่งคือ เด็บ รอย เป็น chief media scientist ของทวิตเตอร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006-2017
เรื่องๆ หนึ่งอาจเป็นต้นตอของกระแสข่าวได้หลายกระแส
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนเขียนข่าวเรื่อง "ก" 10 คน คนละข้อความ โดยเป็นอิสระจากกัน และแต่ละข้อความมีคนรีทวีต 100 คน ให้นับว่าข่าวเรื่อง "ก" นี้มี 10 กระแส โดยแต่ละกระแสมีความยาวเป็น 100 เป็นต้น
งานวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อความบนทวิตเตอร์ตั้งแต่เริ่มเปิดตัว คือในปี ค.ศ. 2006-2017 ซึ่งนับแล้วพบว่ามีประมาณ 126,000 กระแสข่าวที่แพร่กระจายโดยคนประมาณ 3 ล้านคน การจำแนกว่าแต่ละข่าวนั้นจริงหรือเท็จ อาศัยข้อมูลจากองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง 6 องค์กร โดยโปรแกรมประมวลผลแบบอัตโนมัติ หากข้อความบนทวิตเตอร์เป็นรูปภาพ ก็แปลงเป็นตัวอักษรด้วยเทคโนโลยี optical character recognition
3
หากกำหนดให้ ความลึก (depth) คือ ความยาวของการรีทวีตต่อๆ กันตั้งแต่ต้นตอจนมาถึงทวีตนั้นๆ เช่น สมมุติว่า นาย ก เขียนทวีตต้นตอ นาย ข รีทวีตข้อความนาย ก และนาย ค รีทวีตนาย ข อีกต่อหนึ่ง ความลึกของข้อความรีทวีตนาย ข คือ 3
1
ผลการวิเคราะห์น่าสะพรึงเลยทีเดียว อาทิ
(1) ข่าวจริงต้องใช้เวลามากกว่าข่าวปลอม 6 เท่าในการเข้าถึงคน 1,500 คน
(2) ข่าวจริงใช้เวลามากกว่าข่าวปลอม 20 เท่าในการแพร่ไปจนถึงการรีทวิตความลึก 10
(3) เวลาที่ข่าวปลอมใช้แพร่ไปจนถึงความลึกระดับ 19 น้อยกว่าเวลาที่ข่าวจริงใช้แพร่ไปจนถึงความลึกแค่ระดับ 10 เกือบ 10 เท่า
(4) ข่าวปลอมแพร่เป็นวงกว้างกว่าข่าวจริงอย่างมีนัยสำคัญ ทุกระดับความลึก
(5) ข่าวปลอมมีความน่าจะเป็นในการถูกรีทวีตมากกว่าข่าวจริง 70%
2
ข่าวประเภทที่แพร่ลึกกว่า กว้างกว่า และเร็วกว่าข่าวประเภทอื่นๆ คือข่าวการเมือง ข่าวการเมืองใช้เวลาในการเข้าถึงคน 20,000 คนเร็วกว่าข่าวอื่นใช้เวลาในการเข้าถึงคน 10,000 คนเกือบ 3 เท่า
สมมุติฐานหนึ่งของที่มาของปรากฏการณ์นี้คือ มนุษย์ชอบความแปลกใหม่ ความแปลกใหม่ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้ดีและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ข้อมูลใหม่มีค่ามากกว่าข้อมูลเก่า เพราะทำให้ผู้เสพรู้สึกว่า "ทันโลก"
1
งานวิจัยนี้ทดสอบสมมุติฐานนี้ด้วย กล่าวคือ พิจารณาเฉพาะข่าวปลอมที่มีความแปลกใหม่เมื่อเทียบกับข่าวจริง แล้วดูว่าคนมีแนวโน้มจะรีทวีตข่าวปลอมจำพวกนี้มากกว่าปกติหรือไม่ ผลคือพบว่าใช่จริงๆ
สุดท้ายข่าวเท็จต่างๆจะกระจายไปได้มากน้อยแค่ไหน
คงอยู่ที่ตัวพวกเราว่าจะยั้งใจไม่รีบแชร์ ของหาข้อมูลด้านอื่นๆรอบด้าน รวมทั้งเพิ่มวิจารณญาณได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
สนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โฆษณา