15 พ.ย. 2020 เวลา 04:46 • ประวัติศาสตร์
ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ปีแห่งการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
ปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) นับเป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนบทหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
ปีนี้เป็นปีที่คอมมิวนิสต์ทั่วยุโรปตะวันออกล่มสลาย
ที่โปแลนด์ ประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ได้เริ่มจะมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการค้าเสรี
มิถุนายน ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ได้มีการเลือกตั้งในโปแลนด์ และโปแลนด์ก็กลายเป็นรัฐบริวารแห่งแรกของสหภาพโซเวียตที่มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์
ปีต่อมา “เลค วาเลซา (Lech Walesa)” ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตยคนแรก
เลค วาเลซา (Lech Walesa)
ก่อนหน้านั้น ในปีค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ฮังการี ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ก็ได้เริ่มอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปตะวันตกได้แล้ว
พฤษภาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) เริ่มมีการนำรั้วลวดหนามและเครื่องกีดขวางต่างๆ ออกจากแนวชายแดนออสเตรีย
ชาวเยอรมันตะวันออก ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปตะวันตก ก็ใช้ประโยชน์จากการณ์นี้
ชาวเยอรมันตะวันออกนับพันได้เดินทางไปพักผ่อนที่ฮังการี ก่อนจะหนีไปเยอรมนีตะวันตกทางออสเตรีย
ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฮังการี ก็ได้ออกมาแถลงว่าจะไม่มีการยับยั้งชาวเยอรมันตะวันออกที่เดินทางไปออสเตรีย
ช่วงต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) “มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)” ผู้นำสหภาพโซเวียตได้เดินทางมาเบอร์ลิน
ในช่วงเวลานี้เอง ชาวเยอรมันตะวันออกได้เดินขบวนบนท้องถนนในกรุงเบอร์ลิน และเมืองอื่นๆ เรียกร้องอิสรภาพและสิทธิในการออกจากประเทศคอมมิวนิสต์
1
กอร์บาชอฟซึ่งเล็งเห็นถึงผลที่จะตามมา ได้เตือนผู้นำคอมมิวนิสต์ อย่าเพิกเฉยต่อสิทธิของประชาชน
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)
เวลาผ่านไป การเดินขบวนเรียกร้องของประชาชนก็มีแต่มากขึ้นทุกวัน ทำให้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) สถานีโทรทัศน์ของเยอรมนีตะวันออกได้ออกมาประกาศว่าประชาชนทุกคนสามารถเดินทางไปเยอรมนีตะวันตกได้
หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ประชาชนนับพันก็ได้ออกเดินทางไปยังชายแดน มุ่งสู่ตะวันตก และในวันต่อมา ก็ได้มีการทลายกำแพงเบอร์ลิน กำแพงที่สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) เพื่อหยุดยั้งชาวเยอรมันตะวันออก ไม่ให้เดินทางไปตะวันตก
รัฐบาลเยอรมันตะวันออกไม่ทราบเลยว่าทุกอย่างมาถึงจุดจบแล้ว ภายในเวลาไม่กี่เดือน รัฐบาลและผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ก็ได้ถูกถอดถอน และในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) เยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ก็ได้รวมกันเป็นชาติเดียวกัน
การทลายกำแพงเบอร์ลิน
ทางด้านเชโกสโลวาเกีย ก็ได้เกิดจลาจลขึ้นในปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) เช่นกัน เกิดการเดินขบวนและปฏิวัติ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องลาออก และเกิดการเปลี่ยนผู้นำประเทศ
ธันวาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ที่โรมาเนีย ก็ได้เกิดการเดินขบวน ต่อต้านคอมมิวนิสต์
ชาวโรมาเนียนับพันเดินขบวนประท้วง ทำให้ผู้นำต้องสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุม มีผู้ชุมนุมประท้วงบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
แต่การประท้วงก็ได้เข้มข้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด กองทัพก็ได้หันมาเข้าข้างประชาชน
รัฐบาลล่มสลาย ผู้นำต้องหนีออกนอกประเทศ หากแต่ก็ถูกจับกุมได้ในเวลาต่อมาและนำตัวขึ้นศาล และถูกตัดสินประหารชีวิต
ทางด้านบัลแกเรีย การเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองนั้น เป็นไปอย่างสันติ
ผู้นำคอมมิวนิสต์ของบัลแกเรียได้ลงจากตำแหน่ง หลังจากครองอำนาจมานานกว่า 34 ปี ก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้งอย่างเสรีในเวลาต่อมา
นับว่าปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) เป็นอีกปีหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกจริงๆ
โฆษณา