16 พ.ย. 2020 เวลา 05:13 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
In the Mood for Love
Wong – Kar Wai, 2000, Hong Kong / China
ภาพยนตร์รางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปี 2000 เรื่องราวของชายหนุ่มกับหญิงสาวที่มีห้องพักติดกัน ระหว่าง “คุณนายเฉิน”(จางม่านอวี้) กับ “โจวหมู่หวัน”(เหลียงเฉาเหว่ย) ทั้งสองพบว่าคู่รักของตนเองต่างลักลอบเป็นชู้กัน ความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดระหว่างคุณนายเฉินกับโจวหมู่หวันจึงเกิดขึ้น เป็นห้วงปรารถนาแสนสั้นของฮ่องกงท่ามกลางความแออัด ชุดกี่เพ้า และแว่วดนตรี
ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ของผู้กำกับชาวฮ่องกง “หว่อง กาไว” ที่ขึ้นชื่อเรื่องการนำเสนอความเหงาของปัจเจก ผู้หญิง และการเมือง ผ่านกรอบสไตล์งานภาพแบบผู้กำกับชาวเยอรมัน “วิม เวนเดอร์ส” สำหรับ In the Mood for Love นับได้ว่าเป็นผลงานที่เป็นจุดตัดของการมองโลกแบบจุลภาคและมหภาค สำหรับจุลภาคคือการเน้นไปที่ปัจเจกบุคคลผู้มีความสัมพันธ์หลบซ่อนหลีกเร้นต่อสังคมทั่วไป มหภาคคือการมองโลก มองประเทศของตนเอง ซึ่งในที่นี้คือฮ่องกง จากบทสัมภาษณ์ของหว่องกาไวเองเขาได้บอกว่านี่เป็นงานที่เค้าทำเพื่อรำลึกถึงบรรยากาศในอดีตของฮ่องกงยุค 60’s ซึ่งหว่องกาไว ได้มาอาศัยอยู่ตั้งแต่ 5 ขวบ
ก่อนหน้านี้ผมได้ไปอ่านรีวิวภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวของอาจารย์ มโน วนเวฬุสิต ที่เขียนให้ทางเว็บไซต์ Beartai.com อาจารย์มโนก็ได้วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจสำหรับกรอบแบบมหภาคหรือการมองโลกแบบเป็นการเมืองของหว่องกาไว ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองตัวละครระหว่างคุณนายเฉินและโจวหมู่หวันนั้นเป็นภาพแทนของกระแสแนวคิด / กระแสของรูปแบบการเมืองสองขั้ว นั่นคือคุณนายเฉินเป็นตัวแทนของแนวคิดแบบจีนคอมมิวนิสต์ – ฮ่องกง ที่ลักลอบสร้างความสัมพันธ์ กับโจวหมู่หวัน ซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันตก / เสรีนิยม โดยรายละเอียดของตัวละครจะไปขยายในพารากราฟถัดไป
หว่องกาไว เป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทำงานที่ไม่เป็นระบบระเบียบเหมือนผู้กำกับทั่วไป In the Mood for Love เป็นหนังที่ใช้เวลาการถ่ายทำถึง 15 เดือน จนผู้กำกับภาพที่ร่วมหัวจมท้ายอย่าง “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ต้องถอนตัวไปทำโปรเจ็กต์อื่น ทั้งตอนส่งเข้าไปในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ก็เกือบตัดต่อเสร็จไม่ทันเดดไลน์ แต่ผลลัพธ์สำหรับหนังเรื่องนี้ก็คือรางวัลปาล์มทองคำอย่างที่กล่าวไปในข้างต้น BBC ให้ In the Mood for Love เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ของลิสต์ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลสำหรับศตวรรษที่ 21
ทีนี้เรามาดูองค์ประกอบกันว่าทำไม In the Mood for Love ถึงเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์ขนาดนั้น อย่างแรกคือการถ่ายภาพโดยคริสโตเฟอร์ ดอยล์ และ หลี่ปิงบิง (หลี่เข้ามาหลังจากการถอนตัวของดอยล์) สำหรับเรื่องนี้จัดได้ว่ามีงานภาพที่แปลกประหลาด อย่างแรกคือมุมกล้อง หากเราสังเกตุก็จะพบเห็นมุมกล้องที่จับตัวละครทั้งเรื่อง ล้วนเป็นไปด้วยการจัดองค์ประกอบภาพแบบมุม “แอบมอง” คือจะมีสิ่งของที่เข้ามาแทรกเฟรมภาพไม่ให้คนดูรู้สึกว่าภาพมันคลีนหรือปกติ หรือการถ่ายภาพที่ใช้พิมพ์เขียวของภาพยนตร์แบบฟิล์มนัวร์เข้ามาสื่อสาร เช่น การจัดภาพแบบมีซี่กรงทาบทับตัวละคร งานภาพในลักษณะนี้ล้วนเป็นไปเพื่อการขับเน้น “ความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ / ความสัมพันธ์ที่ลอบเร้น” สำหรับภาพยนตร์ รวมทั้งการจัดแสงที่ได้รับอิทธิพลงานของวิม เวนเดอร์ส ที่เป็นลักษณะแบบ Bisexaul Lighting สำหรับงานอื่นๆของหว่องกาไวอาจใช้รูปแบบของแสงดังกล่าวเพื่อขับเน้นความเหงาของปัจเจก แต่ In the Mood for Love กลับใช้แสงนี้เพื่อขับเน้นความไม่ปกติ จนเลยเถิดกลายเป็นประหลาดในบางที! โดยเราจะเห็นสีหลักในเรื่องก็คือ “สีแดง” แต่สีแดงที่ใช้ในที่นี้กลับไม่ให้ความรู้สึกที่เซ็กซี่ (อย่างเดียว) แต่มันแดงจนแผดเผาเกินอารมณ์แห่งความลุ่มหลงจนกลายเป็นน่ากลัว
นักแสดงระดับแม่เหล็กของฮ่องกงอย่าง เหลียงเฉาเหว่ย และ จางมั่นอวี้ นี่ถือเป็นงานที่มาสเตอร์พีซของทั้งสอง เหลียงเฉาเหว่ยได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ส่วนจางมั่นอวี้สิ่งที่เธอแสดงกลายเป็นคาแรคเตอร์ที่น่าจดจำบนโลกภาพยนตร์ สำหรับตัวละครนั้น เหลียงเฉาเหว่ยแสดงเป็นโจวหมู่หวัน นักหนังสือพิมพ์ที่มีความฝันอยากเขียนนวนิยายกำลังภายใน โจวหมู่หวันจะสวมสูทหรือเสื้อเชิ้ตทำงานตลอดเวลา เขาเป็นคนพูดน้อย มีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่นแบบพองาม จางมั่นอวี้แสดงเป็นคุณนายเฉิน ผู้หญิงที่มีสถานะเป็นแม่บ้านรอสามีอยู่ที่บ้าน เธอก็เป็นคนพูดน้อย และมีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่นแบบพองามเช่นกัน จางมั่นอวี้เธอเป็นตัวแทนของผู้หญิงแบบจีน (ฮ่องกง) อยู่บ้านรอสามีที่ไปทำงานนอกบ้าน ในเรื่องเธอจะสวมชุดกี่เพ้าตามแบบฉบับของผู้หญิง (โดยส่วนตัวให้การสร้างตัวละครหญิงนี้เป็นมุมมองของจินตนาการแบบผู้ชาย)
การใช้ภาษาภาพแบบภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ในการเล่าเรื่อง
ความคะนึงถึงฮ่องกงของหว่องกาไวอยู่ที่ว่าเราคนดูจะมองเค้าในแง่ไหน บางคนบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นจดหมายรักถึงบรรยากาศของฮ่องกงในยุคนั้น แต่บางคนก็บอกไปอีกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอฮ่องกงที่เป็นของจีน แต่ลักลอบสานสัมพันธ์กับตะวันตก ทั้งบริบททางสังคมที่ครอบงำให้ตัวละครต้องทำตามกรอบประเพณีอยู่เสมอ เสมือนการที่คนฮ่องกงมีแนวคิดนิยมตะวันตกเป็นเรื่องที่ผิดในฐานะกฎหมาย (ซึ่งตามสนธิสัญญาที่ทำกับอังกฤษ ฮ่องกงถือเป็นเกาะของจีน) อันแสดงออกผ่านมุมภาพ “แอบมอง” ที่ถ่ายโดยคริสโตเฟอร์ ดอยล์ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ In the Mood for Love เป็นหนังที่ฉายในปี 2000 โดย 3 ปีก่อนหน้านั้น เกาะฮ่องกงได้คืนจากอังกฤษสู่ประเทศจีนอีกครั้ง (ปี 1997) ซึ่งก็มีกระแสความไม่พอใจของผู้คนและประชาชนฮ่องกงเป็นอย่างมาก โดยพวกเขาถือว่าตัวเองเป็นคนฮ่องกง ไม่ใช่คนจีน ดังนั้น In the Mood for Love จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนรักกันที่โหยหากัน แต่ยังเป็นฮ่องกงที่โหยหาอังกฤษอีกต่างหาก
ยังมีเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่น่าสนใจสำหรับนักแสดงคือจางมั่นอวี้นางเอกของเรื่อง เธอยังไปปรากฏตัวในภาพยนตร์อีกเรื่องที่มีนัยยะทางการเมืองที่เกี่ยวกับเรื่องฮ่องกงเช่นกัน แต่คราวนี้เป็นจีนที่โหยหาฮ่องกง ใน Comrades, Almost a Love Story (1996) จึงนับได้ว่าเธอเป็นนักแสดงที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ภาพยนตร์ฮ่องกงอย่างสูงเลยทีเดียว
จางมั่นอวี้ในภาพยนตร์ Comrades, Almost a Love Story (1996)
วิลเลี่ยม จางซูผิง คืออีกหนึ่งคนที่เป็นกำลังสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้และอีกหลายเรื่องของหว่องกาไว สำหรับ In the Mood for Love จางควบตำแหน่ง Production Designer, Costume Designer และคนตัดต่อภาพยนตร์ด้วยตนเอง จางถือว่าเป็นคนที่ห้ามเจ็บห้ามตายโดยเด็ดขาด เพราะการถ่ายทำของหว่องกาไวนั้นมักจะใช้การด้นสดเป็นหลัก ดังนั้นการลำดับภาพเพื่อเล่าเรื่องก็จะเป็นเรื่องที่ยากมากเช่นกัน แต่จางทำได้! การตัดต่อของจางเป็นสไตล์งานแบบมิวสิควีดีโอในบางครั้ง หรือเป็น New Wave ในบางคราว จังหวะมีความรวดเร็วและเชื่องช้าอยู่ด้วยกัน ทั้งยังจะตัดเหตุการณ์ที่เป็นผลลัพธ์ของตัวละครที่ชัดเจนออกไป คงเหลือเพียงภาพเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นและภาพเหตุการณ์หลังจากนั้นให้คนดูปะติดปะต่อเอง อันมีผลดีคือสร้างความคลุมเครือให้กับเหตุการณ์ และรองรับไดเรคชันของภาพยนตร์อีกด้วย ทางด้านเสื้อผ้าก็เป็นที่น่าจดจำสำหรับชุดกี่เพ้าที่สวมใส่โดยจางมั่นอวี้ เธอต้องสวมใส่กี่เพ้าถึง 46 ชุดตลอดการถ่ายทำ และที่สำคัญคือเธอใส่แล้วขึ้นกล้องซะด้วย ทางด้านเหลียงเฉาเหว่ยกับชุดสูททำงานของเขาก็เป็นคาแรคเตอร์ที่ไปด้วยกันได้ดี จนเขาได้สวมใส่อีกในภาพยนตร์เรื่อง Lust, Caution (2007)
ดนตรีประกอบภาพยนตร์เป็นงานที่เป็นลักษณะ Jazz หรือฝั่งเอเชียก็จะเป็น Oldies ยุค 30’s – 40’s ทางฝั่งแจ๊สจะเป็นงานของ Nat King Cole เช่น Quizas Quizas Quizas หรืออีกเพลงหลักของเรื่องที่ขึ้นมาบ่อยอย่าง Yumeji’s Theme ก็โดดเด่นจากเสียงดับเบิ้ลเบสเช่นกัน รวมทั้ง Oldies เก่าๆอย่าง Hua Yang De Nianhua (Age of Bloom) อันทั้งหมดเป็นเพลงที่ให้อารมณ์ของการโหยหาแสนเศร้า
สุดท้ายไม่ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นเรื่องของปัจเจกหรือว่าเรื่องขนานใหญ่ของสังคม แก่นของเรื่องก็ยังคงเป็น ‘การโหยหา’ ของหว่องกาไวที่ร้าวรานเหมือนดั่งบทกวีที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ว่า
“He remembers those vanished years. As though looking through a dusty window pane, the past is something he could see, but not touch. And everything he sees is blurred and indistinct.
เขาจดจำวันคืนที่ผันผ่านประหนี่งมองไปยังแผ่นกระจกที่มีฝุ่นเกรอะกรัง อดีตคือภาพสะท้อนที่เพียงให้ประจักษ์แต่ไม่อาจสัมผัสได้ และมีเพียงภาพอันมัวหมองและไม่ชัดเจน”
โฆษณา