16 พ.ย. 2020 เวลา 15:10 • ท่องเที่ยว
บันทึกความทรงจำแห่งมิตรภาพ ลาว-ไทย
(The Memory of Lao-Thai's Friendship)
ตอนที่ 3
ด่านช่องเม็ก จ.อุบลฯ ถึงเมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
ด่านช่องเม็ก - ข้ามโขง – ปากเซ - ปากช่อง
ที่ทำการด่าน ตม.ช่องเม็ก อ.สิรินธร /ด่านชายแดนวังเต่า เมืองโพนทอง / สะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น
การเดินทางจากด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ผ่านด่านวังเต่า เมืองโพนทอง (เมืองเก่า)สปป.ลาว บนถนนหมายเลข 16 W ระยะทางราว 44 กิโลเมตร เส้นทางสายนี้สร้างในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส เป็นถนนลาดยางปูทับ (Topping) ด้วยหินกรวดแม่น้ำโขงบดอัดอย่างดี ตั้งแต่ด่านชายแดนวังเต่าจนถึงท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำโขง (ท่าบัก) เมืองเก่าหรือเมืองโพนทองในปัจจุบัน
แต่หลังจากที่ลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2497 ตามสนธิสัญญาเจนิวา (1954) ถนนสายนี้ไม่ได้บูรณะซ่อมแซม จึงแทบไม่เห็นสภาพของถนนเดิมอยู่เลย พื้นผิวก็ขรุขระเป็นหลุมบ่อเกือบทั้งสาย
ตลอดเส้นทางสายนี้มีสะพานไม้อยู่ 4-5 แห่ง อยู่ในสภาพผุพัง ไม้พื้นหลุดแหว่งเป็นร่องเป็นรู ราวสะพานก็พังเกือบหมด ต้องใช้ความระมัดระวังในการข้ามสะพาน ทั้งเป็นสะพานแคบรถวิ่งสวนทางไม่ได้ ต้องหยุดรอสลับกัน ทั้งๆ ตลอดทั้งวันมีรถบรรทุกท่อนซุง ที่ขนไปที่จุดรวมกอง หรือเข้าโรงเลื่อย หรือข้ามชายแดนไปไทยทางด่านช่องเม็กวันละนับร้อยเที่ยว
ครั้งแรกที่เดินทางจากด่านช่องเม็กถึงท่าเรือข้ามฟากเมืองเก่า โดยรถจิ้บรัสเซีย (กะเตี๋ยน) แหนบตาย จึงถูกกระแทกกระทั้นเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาเพราะต้องขับรถหลบหลุมบ่อตลอดทาง 40 กม.เศษ ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง
ต่อมาถนนเส้นนี้ได้รับเงินช่วยเหลือและเงินกู้จาก ธนาคารพัฒนาเอเซีย หรือ ADB ( Asian Development Bank)และจากรัฐบาลจีน โดยก่อสร้างเป็นทางลาดยางใหม่ตลอดสายไปเชื่อมกับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ที่ได้รับทุนช่วยเหลือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) สะพานนี้เปิดใช้เมื่อปี 2000
ต่อมาราวปี 2016-2017 ได้ขยายถนนสายนี้เป็นทางสี่เลน ตามโครงการพัฒนาร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (Asian Community Countries _AEC)
จากนั้นข้ามสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำโขงไปยังตัวเมืองปากเซ (3 ภาพบน) ปัจจุบันเมืองปากเซได้ยกฐานะขึ้นเป็นนครปากเซ เมื่อ 31ธค.2561 (2018)
โรงแรมจำปาสัก แกรนด์/วงเวียนปลาข่า/ตลาดดาวเรือง/สามแยกไฟแดงถนน 16W และถนนหมายเลข 13A
หลังจากข้ามสะพานไปฝั่งเมืองปากเซ อันเป็น อ.เมืองของแขวงจำปาสัก จะผ่านหน้าโรงแรม Champasak Grand (ทางขวา) ซึ่งเป็นอาคารสูง 14 ชั้น ซึ่งสูงที่สุดของลาวใต้ขณะนี้ โรงแรมแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งโขงใกล้หัวสะพานช่วงข้ามเมืองปากเซ ตรงต่อไปนิดเดียวก็ถึงสี่แยกวงเวียนปลาข่า(โลมาน้ำจืด) ผ่านหน้าตลาดดาวเรือง ตรงไปอีกราว 120 เมตร ถึงสามแยกข้างหน้า ถนนที่ขวางหน้าอยู่คือถนนหมายเลข 13 A หากเลี้ยวซ้ายจะเข้าสู่ตัวเมืองปากเซ (3 ภาพบน) ถนนสายนี้ จะผ่านวัดพระบาท สี่แยกสะพานเซโดน โรงแรมจำปาสักพาเลซ (Champasak Palace Hotel)
โรงแรมจำปาสักพาเลซ/สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเซโดน/สนามบินนานาชาติ ปากเซ
โรงแรมแห่งนี้ เรียกว่า เรือนใหญ่ประชาชน หรือวังเจ้าบุญอุ้ม ที่ผู้เขียนเป็นผู้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)ของโครงการ รวมทั้งผู้ประสานงานเพื่อขออนุญาตลงทุนปรับปรุงให้เป็นโรงแรมชั้น 1 และเป็นผู้ตั้งชื่อโรงแรมนี้ว่า "จำปาสักพาเลซ" ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นโรงแรมหรูแห่งแรกของเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ราวปี 1994 (2537)
จากวังเจ้าบุญอุ้ม ตรงต่อราวเกือบ 1 กม. จะถึงสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเซโดน เป็นสะพานเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส ปัจจุบันถูกรื้อออกแล้วสร้างสะพานคอนกรีตแทน ราวปี 2013 ตรงต่อไปราว 4 กม.เศษ จะผ่านสนามบินนานาชาติปากเซ ต่อไปถึงแขวงสะหวันนะเขต (240กม.)แขวงบอลิคำไซ (100 กม.) แขวงคำม่วน (185 กม.) ปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ (175 กม.) รวมระยะทางราว 700 กม.
ในภาพบนตรงสามแยกไฟแดง ถนนสาย 13 A ตัดกับถนนสาย 16 W สนามกีฬาปากเซ อยู่ตรงข้ามกับสามแยกพอดี ทางขวาต่อไปถึงชุมทาง กม.8 (หมายเลข 2 ในแผนที่ 1) ตรงต่อไปเมืองปากช่อง เลยไปแขวงเซกอง แขวงอัตตะปื สิ้นสุดที่ชายแดนภูเกลือ ของ สปป.ลาว เข้าสู่ด่านเปออี แขวงกอนตูม สป.เวียดนาม ส่วนแยกทางขวาที่ชุมทาง กม.8 ไปเมืองปะทุมพอน เมืองโขง สิ้นสุดที่ชายแดนลาวที่ด่านเวินคาม เข้าสู่ด่านสตึงแตรง หรือ เชียงแตง ของกัมพูชา (แผนที่ 1)
แผนที่ 1
การเดินทางจากตัวเมืองปากเซไปยังเมืองปากช่อง นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งคือ เลี้ยวขวา ตรงเวียนปลาข่า(หมายเลข 2 ในแผนที่ 1) จะไปเชื่อมต่อกับเส้นทางแรก ที่ กม. 9 (หมายเลข 1 ในแผนที่ 1) เข้าเป็นเส้นทางเดียวกัน จากนั้นวิ่งตรงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านสามแยกหลัก กม. 21 (บ้านหลักซาวเอ็ด) แยกซ้ายจะเป็นเส้นทางไปเมืองบาเจียง ตาดผาส้วม ไปเมืองเหล่างาม และเข้าสู่แขวงสาละวัน (180 กม.)
ส่วนทางตรงจากแยกหลัก 21 จะไปเมืองปากช่อง ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อีกราว 30 กม.ถึงตัวเมืองปากช่องที่ กม.ที่ 50 ซึ่งเป็นที่ราบเพียงบนที่ราบสูงดงบอละเวนในเขตตัวเมืองระดับความสูงราว 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่หน้าห้องว่าการปกครองเมืองปากช่องพอดี (แผนที่ 1)
จากตัวเมืองปากช่อง เริ่มต้นที่ กม.50 (ถนนสาย 16 E )ที่หน้าสำนักงานปกครองเมืองปากช่อง หรือที่ว่าการอำเภอปากช่องทางขวา เยื้องๆ กันเลยไปหน่อยทางซ้ายเป็นทางเข้าตลาดเมืองปากช่อง มีอนุสาวรีย์ลุงไกสอน พมวิหาน อยู่ทางขวาตรงปากทางเข้าตลาดราว 100 เมตร
ถ้าวิ่งตรงต่อไปบนถนนหมายเลข 16 E จากห้องว่าการเมืองฯ จะผ่านหน้าโรงพยาบาลเมืองปากช่อง (อยู่ทางซ้าย) โรงพยาบาลแห่งนี้ รัฐบาลไทยเคยให้เงินช่วยเหลือปรับปรุงต่อเติมอาคารหลังเก่า รวมทั้งก่อสร้างหลังใหม่เพิ่มเติม และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ผู้เขียนได้รับเกียรติ์จากผู้รับเหมาโครงการนี้ คือ บริษัท ไทยวัชระก่อสร้าง จำกัด (ท่านธนกฤต ทะนัทวัชระพล) ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ด้วย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ (พระยศขณะนั้น) ได้เดินทางเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อ 2560 (2 ภาพล่าง)
สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ (พระยศขณะนั้น) ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารใหม่ รพ.เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก เมื่อ 2560
จากนั้น เดินทางตรงต่อไปราว 300 เมตร จะถึงทางขึ้นโรงแรมภูเทวดา เลยทางขึ้นโรงแรมไปหน่อยจะเห็นสถูปรูปเจดีย์คู่สีขาวอยู่ทางซ้าย สถูปแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรกรรมการร่วมขับไล่อเมริกาของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม เมื่อ 1975 องค์ทางซ้ายเป็นของ สปป.ลาว ส่วนองค์ทางขวาเป็นของ สส.เวียดนาม ภาพขวาสุดสร้างขึ้นภายหลัง (ราว 2015) เป็นแท่นสีทอง เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของการสร้างสถูปเจดีย์คู่แห่งนี้
โรงแรมภูเทวดา/สถูปเจดีย์คู่ เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก
ตรงกันข้ามกับเจดีย์คู่ดังกล่าวจะเป็นปากทางเข้าหมู่บ้านหนองหลวง ผ่านบ้านภูหมากนาว ภูโอ่ย ภูหมากก่อ และบ้านหนองหลวงเป็นหมู่บ้านสุดท้ายของเส้นทางสายนี้ รวมระยะทาง 13.5 กม. (แผนที่ 2)
แผนที่ 2
หลังจากที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการในปลายปี 2004 เคยได้รับงบประมาณจัดทำป้ายขนาดใหญ่ติดตั้งตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน(ทางซ้าย) ติดกับถนนหมายเลข 16 E ใน 3 ภาพล่าง
ภาพแรกเป็นภาพที่จัดทำครั้งแรก (ภาพที่ 2 ขยายภาพอยู่ติดกันในภาพแรก) ส่วนภาพที่ 3 เป็นภาพที่ติดตั้งในภายหลัง (2005) แต่ทั้ง 3 ภาพได้ชำรุดทรุดโทรมมากแล้วจึงถูกรื้อไปเก็บไว้ที่หมู่บ้านหนองหลวง ในปัจจุบันไม่ทราบว่ามีการจัดทำป้ายใหม่หรือไม่อย่างไร
ในช่วงปี 2005-2006 ที่ท่านอดีตเจ้าแขวงสุกัน มะหาลาด (ตำแหน่งล่าสุดเป็นเจ้าครองกำแพงนครเวียงจันทน์ ) และท่านอดีตเจ้าแขวงสอนไช สีพันดอน ต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการ และการลงทุน (2019-2020)
ทั้งสองท่านได้อนุมัติงบประมาณพัฒนาเส้นทางจากตัวเมืองปากช่อง ผ่านบ้านภูหมากนาว ภูโอ่ย ภูหมากก่อ ถึงบ้านหนองหลวง ได้เริ่มปรับปรุงเส้นทางสายนี้ในเบื้องต้นมาบ้างแล้ว แต่หลังจากท่านทั้งสองได้ย้ายไปรับตำแหน่งสูงขึ้นดังกล่าว แผนการพัฒนาเส้นทางจึงหยุดชะงักไม่ต่อเนื่อง
ผู้เขียนได้เข้าไปใช้ถนนสายนี้ครั้งล่าสุดเมื่อธันวาคม 2018 (จัดทริปพิชิตภูป่ง เพื่ออำลาป่าลาว) เส้นทางสายนี้ยังทุรกันดาร แม้เป็นปลายฤดูฝนที่ยังมีฝนตก และน้ำยังท่วมขังสะสมมาตลอดช่วงฤดูฝน พื้นถนนจึงเป็นหล่มเป็นหลุมใช้การแทบไม่ได้ ส่วนในฤดูแล้งที่ฝนหยุดตกน้ำแห้งดีแล้ว ก็จะเป็นถนนฝุ่นคละคลุ้งกระจายตลบอบอวนตลอดสาย
แม้ในปัจจุบัน (2020)ก็คงยังไม่ได้ทำการพัฒนาต่อเนื่องให้สำเร็จ ถนนหลายช่วงจึงมีสภาพทรุดโทรมยิ่งกว่าเดิมมาก ซึ่งดูเหมือนว่าเส้นทางดั้งเดิมยังพอจะใช้การได้ดีกว่าแม้ในฤดูฝน (ภาพล่าง)
สภาพถนนดินแดงจากปากทางเข้า ที่เมืองปากช่องผ่านบ้านภูหมากนาว ภูโอ่ย ภูหมากก่อ ถึงบ้านหนองหลวง (ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2004-2006)
อ้างอิง
- ข้อมูลในแง่มุมต่างๆ สปป.ลาว
-เมืองปากเซ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นนครปากเซ
- สะพานมิตรภาพ ลาว-ญี่ปุ่น
#ติดตามต่อไป ตอนที่ 4 Mr.Roger Green กับ กาแฟอาราบิก้า ทิปิก้า เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
ปล.ภาพส่วนใหญ่ที่นำมาเผยแพร่ในบทความนี้ เป็นภาพที่ผู้เขียนบันทึกไว้เอง ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ มีหลายภาพที่มีผู้นำไปเผยแพร่ แต่อาจมีบ้างที่นำมาจากอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ทราบเจ้าของภาพแน่ชัด แต่เชื่อว่าเจ้าของภาพจะยินดีให้เผยแพร่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย อีกทั้งมิได้มุ่งหวังประโยชน์ทางการค้าหากำไร จึงขออภัยและขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
โฆษณา