17 พ.ย. 2020 เวลา 05:51 • ประวัติศาสตร์
EP 1 : Hayabusa เหยี่ยวพิฆาตสัญชาติไทย
กิ-43 ฮายาบูซะ เครื่องบินรบทันสมัยที่สุดของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
สวัสดีครับ ผมขอประเดิมเพจ "หยิบโมมาเล่า" ซึ่งจะนำโมเดลเครื่องบินรบรุ่นต่างๆ ทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ ของไทยและของเทศ ทุกรุ่นทุกแบบ ซึ่งผมประกอบและ ลงสีมากับมือมาถ่ายทอดในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะโมแต่ละแบบ แต่ละรุ่นล้วนมีที่มาที่ไปเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง และความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคนั้นซ่อนอยู่ เผื่อสร้างแรงบันดาลใจ แทรกด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้กับผู้ที่สนใจคิดว่าจะเข้าสู่วงการนี้ ได้ศึกษาพอเป็นน้ำจิ้ม
นี่คือ กิ-43 Hayabusa แต่ฝ่ายตะวันตกจะเรียกว่า Oscar ซึ่งก็หมายถึงเหยี่ยวชนิด หนึ่งนั่นเอง ตัวนี้เป็นสเกลขนาด 1/48 ยี่ห้อ ฮาเซกาวะ ซึ่งเป็นผู้ผลิตโมเดลที่ได้รับ การยกย่องแพร่หลายว่า งานดี ส่วนประกอบทุกชิ้นทำมาละเอียด ประกอบได้ลงล็อค ไม่ต้องนั่งขัดนั่งเหลาให้เสียเวลามาก ประกอบเสร็จไม่ต้องลงสี ยังสวยเลย
ธงช้างไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพที่เห็นคือ ธงรูปช้าง ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกฝ่าย ซึ่งเครื่องบินไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาติดที่ปีก ลำตัว และหาง ความจริงก่อนสงครามโลกเริ่มขึ้น ไทยใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์เป็นวงกลม แดง ขาว น้ำเงิน ขาว แดง แต่พอเข้า สงครามไปคล้ายๆกับเครื่องหมายของอังกฤษ ซึ่งเป็นสีแดง ขาว น้ำเงินเหมือนกัน
ภาพจริงของธงรูปช้างที่แพนหางดิ่งของฮายาบูซะ
ผมใช้เวลาประกอบโมเครื่องบินลำนี้นานพอควร ไม่ใช่เพราะทำยาก แต่เป็นเพราะทำๆหยุดๆ เนื่องจากนิสัยชอบข้ามไปทำเครื่องบินลำอื่น ทั้งๆที่ของเก่าก็ยังประกอบไม่ เสร็จ จึงค้างๆคาๆ แต่ในที่สุดก็กัดฟันทำจนเสร็จ
ลำขวามือ คือ กิ-27 ออตซึ รุ่นพี่ของกิ-43 กองทัพอากาศไทยก็มีใช้เหมือนกัน ดูดีๆจะเห็นเลขไทยหมายเลข ๗ อยู่ข้างลำตัว
กิ-43 (ตัวซ้าย) เป็นเครื่องบินขับไล่แบบมาตรฐานของกองทัพบกญี่ปุ่นในสมัยนั้น ทัพเรือญี่ปุ่นมีเครื่องบินซีโร่เป็นตัวชูโรง ทัพบกก็มีกิ-43 โดยมียอดการผลิตสูงพอๆกับซีโร่ จะมากจะน้อยต่างกันไม่มาก ข้อดีของกิ-43 คือ ใช้สนามบินบนบก คล่องแคล่ว เร็ว ใช้งานง่าย แต่ข้อเสียก็มากมาย เช่น ติดอาวุธได้น้อย เปราะบาง ถังน้ำมันไม่สามารถอุดรูรั่วได้เองเมื่อถูกยิง นักบินฝ่ายพันธมิตรที่เคยเผชิญหน้ากับกิ-43 บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ฮายาบูซะว่องไวมากจับเป้าได้ยาก แต่ถ้ายิงโดนไม่กี่นัดก็ระเบิดลุกเป็นไฟแล้ว
โฉมหน้าของเครื่องบินซีโร่ ซึ่งจะอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นส่วนใหญ่
ข้อมูลของ กิ-43 ในกองทัพไทยมีไม่มากและหายาก ส่วนมากก็น่าจะถูกทำลายไป หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี 1945 ชาติพันธมิตรที่ชนะสงครามสั่งให้รื้อทำลาย อุปกรณ์การทหารทั้งหมดที่เคยเป็นของญี่ปุ่นหรือชาติพันธมิตรของญี่ปุ่น จะพอ หลงเหลืออยู่บ้างก็คือ แฟ้มภาพจากสถานีโทรทัศน์ NHK ซึ่งถ่ายทำให้เห็นการนำ กิ-43 ประจำการในไทย เพราะมีธงช้างเผือกที่แพนหางดิ่งและที่ปีกอย่างชัดเจน พร้อมกับลายพรางยึกยือที่น่าจะพอเดาได้ว่าเป็นสีเขียวเข้มและน้ำตาลเข้ม มีสีโลหะแซม ซึ่งใช้กับเครื่องบินกองทัพบกลูกพระอาทิตย์
ภาพที่ทรงคุณค่าจาก NHK ตอนที่ญี่ปุ่นส่งครูฝึกมาฝึกบินกิ-43 ให้กับไทย
มีเรื่องเล่าจากนายพลนากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในไทย ซึ่งน่าจะเกี่ยวโยงกับการได้กิ -43 มาประจำการในไทยมากที่สุด คือเหตุการณ์ตอนที่พลเอกฮิเดงิ โตโจ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่น มาเยือนไทยในช่วงปลายสงครามโลกและได้แวะชมความงามวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ท่านประทับใจมากกับศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ไม่อยากให้ถูกทำลายลงด้วยสงคราม หลังจากโตโจกลับไปไม่นานเราก็ได้ กิ-43 มา ประจำการประมาณ 20 เครื่อง
นายพลฮิเดงิ โตโจ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น
นายพลนากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นคนแรกและคนเดียวในไทยสมัย WW2
การได้กิ-43 มาประจำการในราวๆปี 1943-44 ซึ่งญี่ปุ่นกำลังล่าถอยในหลายสมรภูมิ ในไทยเองก็ถูกเครื่องบินฝ่ายพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดบ่อยครั้ง วีรกรรมที่เล่าขาน มากที่สุดของกิ-43 ของกองทัพไทยคือการสอยเครื่องบินทิ้งระเบิดบี –29 ร่วงไป 1 ลำ และก็มีหลายครั้งที่เราส่งกิ-43 ขึ้นต่อสู้กับเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยกว่าของ พันธมิตรไม่ว่าจะเป็น P-51 มัสแตง หรือกระทั่ง P-38 ซึ่งไม่ต้องพูดถึงว่าผลจะออก มาเป็นอย่างไร เพราะที่ทันสมัยที่สุดของเราก็ยังห่างไกลกับเครื่องบินพันธมิตรเหล่านั้นอยู่มาก จะมีแต่ใจเท่านั้นที่สู้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะพลิกผลของสงคราม
ภาพวาด กิ-43 ขับขี่โดยนักบินไทย ยิงบี 29 ของอเมริกาตก
น่าเสียดายที่หลังสงครามโลกจบลง ไทยยังมีกิ -43 หลงเหลืออยู่บ้าง แต่ด้วยการที่ขาดแคลนอะไหล่และคำสั่งของพันธมิตรผู้ชนะสงครามที่ให้ทำลายล้างอาวุธ ทุกชนิดของฝ่ายอักษะที่จะสามารถนำมาใช้งานได้ เราจึงไม่เห็นฮายาบูซะ หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่มันก็มีประวัติที่น่าจดจำไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฮอว์ค 75 ฮอว์ค 3 หรือกิ-27 ซึ่งเป็นรุ่นพี่
ฮอว์ค 75 หรือ ฮอว์คฐานแข็ง ทันสมัยที่สุดของไทยก่อน WW2 (ซื้อมาจากอเมริกา) แต่ล้าสมัยไปแล้วเมื่อไทยได้ กิ-43 มาประจำการ
ฮอว์ค 3 หรือ ฮอว์คพับฐาน (ซื้อจากอเมริกาก่อนฮอว์ค 75) ตอนนี้เหลืออยู่เครื่องเดียวในโลกที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศดอนเมือง
กิ-27 ไทยได้รับจากญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก สังเกตที่หางหลังจะพอมองเห็นแถบธงชาติไทย
ผมจบ EP 1 เครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศไทยสมัย WW 2 ไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ การได้ประกอบโม ได้ลงมือทำสี ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ทำให้งาน อดิเรกแบบนี้ดูมีคุณค่าขึ้นมากทีเดียว เอาไว้ EP หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงเครื่องบินแบบอื่นๆ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม อย่าลืมแชร์ถ้าเห็นว่าพอจะมีประโยชน์ สวัสดีครับ
โฆษณา