17 พ.ย. 2020 เวลา 08:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปักกิ่งกำลังส่งสัญญาณ ไม่ปลื้ม บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทอย่าง Alibaba และ Tencent มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และอย่างมีอิสรภาพเต็มที่ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาลจีน แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังส่งสัญญาณไปยังบริษัทเหล่านี้ว่า รัฐบาลจีนไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่บริษัทเหล่านี้กำลังดำเนินการอยู่
ที่มา Financial Times
ตัวอย่างที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกจากการที่รัฐบาลจีนสั่งระงับการทำ IPO ของบริษัท ANT มูลค่า 37 พันล้านเหรียญสหรัฐ และตามด้วยการออกแนวทางหรือข้อกำหนดเพื่อป้องกันการผูกขาดออกมาควบคุมธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะมีมาตรการควบคุมออกมาอีกในอนาคต
หลายฝ่ายมองว่าเป้าหมายหลักของรัฐบาลจีนอยู่ที่ Alibaba ซึ่งครอบครองตลาด 3 ใน 4 ของมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในจีนทั้งหมด รัฐบาลจีนมองว่ากลยุทธ์ที่ดำเนินการโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่เป็ฯการดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าปลีกภายในประเทศ รัฐบาลจีนไม่ต้องการเห็นการค้าปลีกถูกครอบงำโดยบริษัท 1 หรือ 2 หรือ 3 บริษัท แต่ต้องการเห็นการกระจายในส่วนแบ่งการตลาด นี่เป็นการพลิกเกมในเชิงนโยบายของรัฐบาลจีนต่อการค้าปลีกของจีน
1
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เมื่อมีส่วนแบ่งในตลาดและเป็นผู้ครองตลาดมักจะสร้างข้อจำกัดในการใช้แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้เกิดการผูกขาด เช่น Wechat จะไม่อนุญาตให้ผู้ใช้แชร์วิดีโอจากแอพ Douyin และ Tiktok หรือแม้กระทั่งผู้ใช้ที่ต้องการซื้อของจาก Ailbaba website เช่น Tmall และ Taobao ไม่สามารถใช้ Wechat ในการจ่ายเงินได้ หรือ JD.com ที่มีบริษัท Tencent เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่รับการจ่ายเงินด้วย Alipay
ร่างกฏหมายควบคุมที่กำลังจะออกมายังครอบคลุมถึงการทำการแบ่งแยกราคารขายโดยใช้ข้อมูลของลูกค้า โดยการจองโรงแรมเดียวกัน ลูกค้าแต่ละคน อาจจะถูกชาร์ทในราคาที่แตกต่างกัน ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและการกีดกันการแข่งขัน
ในปีที่แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไมโครเวฟของจีน Galanz Group ร้องเรียน Alibaba ว่าหลังจากบริษัทขายสินค้าออนไลน์ที่เว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่ Tmall ยอดขายของบริษัทในเว็บของ Alibaba ก็ตกลง เนื่องจากอาจมีการบังสินค้าของบริษัทในเว็บไซต์ของ Alibaba
ในอนาคตบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะโดนเข้มงวดจากรัฐบาลจีนเพิ่มมากขึ้นภายใต้กฏหมายป้องกันการผูกขาด หลังจากที่รัฐบาลปล่อยให้บริษัทเหล่านี้ดำเนินการได้โดยอิสระมาหลายปี รวมทั้งการควบรวม หรือเข้าซื้อกิจการจะต้องรายงานต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของรัฐบาลจีนด้วย
หวังว่าคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของจีนจะมีแนวทางที่ยึดหลักการเท่าเทียมกันในการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคนะครับ
เรียบเรียงจาก The Financial Times ฉบับวันที่ 16 พย 63
โฆษณา