19 ธ.ค. 2020 เวลา 04:07 • บันเทิง
ด้วยจิตคารวะ : The Name of The Rose
เพิ่งได้ยินข่าวมรณะกรรมของประพันธกรในดวงใจนามอุโฆษ Umberto Eco
cr. wikipedia.org Umberto Eco
เสียดายมากเพราะแม้จะรู้มาก่อนว่าประพันธกรท่านนี้อายุมากแล้วแต่ไม่ทราบว่าท่านป่วยด้วยโรคร้าย
เคยตามอ่านงานของท่านมาไม่เยอะ แต่ชอบสไตล์การเขียน
สนุก ขบขัน เสียดสี
ที่สำคัญ ลุ่มลึก แม่นเปรี๊ยะด้านข้อมูล มีชีวิตชีวา เขียนแต่ละเรื่องราวกับมันมีอยู่จริงไม่ใช่แต่งขึ้นเองหรือจินตนาการมันขึ้นมา
ถามว่าทำไมถึงรู้จักผลงานของท่านผู้นี้ ก็ต้องตอบว่าเป็นไปโดยบังเอิญมากกว่า
ผ่านแผงหนังสือที่เรียงกันเป็นตับ มองหาเล่มที่คิดว่าน่าสนใจก็สะดุดกับหนังสือปกขาว!
ขออภัยเล็กน้อยครับ ^^"
เล่มนี้ปกเป็นสีขาวจริงๆ แต่มีลายเป็นรูปแปลกตาประกอบบนปกพร้อมชื่อ "สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ"
cr. google.com แปลไทยครับ ปกขาว
(ชื่อโรแมนติกเป็นบ้า)
ชื่อหนังสือทำไมคุ้นจังวะ
แต่ ยัง ยังไม่โดน
วันหนึ่งเกิดไปค้นหนังสือเกี่ยวกับการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่มีอยู่ในบ้านเข้าเล่มหนึ่ง เปิดอ่านบทแรกก็เจอ
The Name of The Rose...
สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ...
ชื่อคุ้นมาก เคยเห็นที่ไหนหว่า
นึกได้ก็รีบกลับไปที่แผงอีกรอบ เจอว่าเหลืออยู่2เล่ม เลือกเล่มที่สภาพดีกว่า จ่ายเงิน กลับบ้าน
เช้ามาก็ไม่รอช้า เปิดอ่านทันที
รู้ตัวครั้งที่1ก็เที่ยงครึ่ง ครั้งที่2บ่ายสี่
หมดไปครึ่งเล่มกว่าเลยต้องขอพักสายตาที่ล้าเพราะเล่มนี้
วันต่อมาอ่านจบด้วยความรู้สึกว่า กูไปมัวมุดหัวอยู่ที่ไหนมาวะถึงละเลยเล่มนี้ไปได้ ดีนะที่ยังกลับไปหามาอ่านทันก่อนจะวายจากแผง
หลังจากนั้นลองเดินตามดูงานของประพันธกรท่านนี้ตามแผงหนังสือฝรั่งที่คุ้นเคย ไม่ปรากฎว่ามีงานของท่านอยู่ในหมวดNovel(นวนิยาย)หรือFiction(เรื่องแต่ง)
หาจนอ่อนใจก็วกกลับไปหาที่หมวดอื่นดูเพราะยังมีประพันธกรในดวงใจท่านอื่นอยู่อีก
หมวดLiterature(วรรณคดี)...
แล้วก็ปะหน้าเข้าให้จังเบอร์
cr. google.com ปกฉบับภาษาอังกฤษ
มือไม้สั่นด้วยความตื่นเต้นเหมือนเจอขุมทรัพย์ใหญ่ ไล่ไปเรื่อยก็เจอเล่มที่ว่า แต่อ่านไปได้ไม่กี่หน้าก็ต้องขอยกธงขาวยอมแพ้เพราะว่าไม่มีเชิงอรรถอธิบายเหมือนฉบับแปลไทยทำให้อ่านยากมาก ฝรั่งน่าจะเข้าใจแต่คนไทยอย่างข้าพเจ้าไม่เก็ทครับ
ฉบับภาษาอังกฤษแปลจากต้นฉบับภาษาอิตาเลี่ยนอีกทีเพราะUmberto Ecoเป็นชาวอิตาเลี่ยน หนังสือเล่มนี้จึงเขียนด้วยภาษานี้ ผมมีปัญญาอ่านแค่ฉบับแปลแถมยังอ่านไปเปิดเชิงอรรถที่ผู้แปลเขียนอธิบายไว้ประกอบด้วย ไม่งั้นมีหวังอ่านไม่จบแน่เพราะตามท้องเรื่องมีทั้งภาษาละติน บทสนทนาเกี่ยวกับศาสนาและเทววิทยาในยุคกลาง แถมด้วยความรู้ด้านต่างๆอีกหลายแขนงที่ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก
แต่ถ้าตัดส่วนต่างๆออกโดยใช้ใบมีดโกนของออคคัม(Ockham's Razor) หนังสือเล่มนี้คือนิยายนักสืบในยุคกลางดีๆนี่เองครับ
แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ Umberto Eco เล่าว่าท่านเกิดความคิดอยากจะฆ่าบาทหลวงสักรูปหนึ่งขึ้นมาเลยลองเขียนเรื่องนี้โดยเดินเรื่องแบบนี้โดยตัวเอกในตอนแรกท่านกะว่าจะให้เป็นวิลเลียมแห่งออคคัม แต่ก็เปลี่ยนใจให้เป็นวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์แทน
ชื่อออกจะคุ้นหูนะครับ แฟนนิยายนักสืบน่าจะจำได้
บาสเกอร์วิลล์
.
.
.
Baskervilles
.
.
.
The Hound of The Baskervilles
.
.
.
ปิ๊ง!
Sherlock Holmes ครับ
cr. google.com
เนื้อเรื่องจะเดินตามรอยแบบที่ว่าจริงๆแต่เรื่องทั้งหมดจะจบตามเวลาต่างๆที่ปรากฎแบบเรียลไทม์ เดินเรื่องได้สนุก เต็มไปด้วยความน่าทึ่งถึงภูมิความรู้ของผู้ประพันธ์ ฉากเปิดตัววิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์กับแอดโซแห่งเมลค์นี่เหมือนกับตอนเปิดตัวเชอร์ล็อค โฮล์มกับคุณหมอจอห์น วัตสันก็ปานกัน
เริ่มเรื่อง เกิดการฆาตกรรมบาทหลวงนิกายเบเนดิคทีนขึ้นในอารามใหญ่แห่งหนึ่งในอิตาลี ทางศาสนจักรจึงส่งบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันคือวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์และลูกศิษย์คือแอดโซแห่งเมลค์มาสืบคดี ซึ่งก็พบว่าการตายของบาทหลวงท่านนี้เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวกันว่าเป็นหนังสือที่หายากที่สุดและมีเนื้อความที่ออกจะท้าทายศาสนจักรอยู่มาก ระหว่างสืบสวนก็พบว่ามีบาทหลวงท่านอื่นๆตายในลักษณะแปลกๆตลอดเวลาเสียด้วย
ที่เหลือขออุบไว้ครับตามแบบคนอ่านนิยายนักสืบ อิอิ
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาต่างๆมากมายและได้รับความนิยมไม่ใช่น้อย สุดท้ายก็ได้ปรากฎตัวบนแผ่นฟิล์มโดยมีคุณฌอน คอนเนอรี่(ผู้เพิ่งล่วงลับไป)เป็นวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ และคริสเตียน สเลเทอร์เป็นแอดโซแห่งเมลค์ ตัวภาพยนตร์เคยดูผ่านแวบๆก็พอได้อยู่ครับ รายละเอียดหลายอย่างถูกลดทอนลงไปเพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อและเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่
cr. google.com ใบปิดภาพยนตร์
ปัจจุบันนี้เห็นว่าสร้างเป็นมินิซีรี่ย์8ตอน นัยว่าได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยครับ
ตัวUmberto Eco ยังเขียนภาคผนวกของเรื่องนี้เอาไว้ด้วยนะครับ เคยซื้อหามาอ่านป็นภาษาอังกฤษเลยต้องหลังขดหลังแข็งแกะภาษาเอาเอง แต่ตอนนี้หนังสือเรื่องนี้ตีพิมพ์ภาษาไทยใหม่อีกครั้งแล้ว คราวนี้รวมภาคผนวกไว้ด้วยครับ เล่มหนามาก ฝีมือการแปลยังคนเดิมผู้มากฝีมือ-คุณภควดี วีระภาสพงษ์ครับ ผู้แปลคนนี้นี่สุดโปรดเลยล่ะครับ
cr. google.com ปกพิมพ์ใหม่ล่าสุดรวมภาคผนวก
ก่อนจะจบความเรียงนี้ ผมขอไว้อาลัยให้กับประพันธกรท่านนี้อีกครั้งครับและขอยกบทร้อยกรองบทที่อยู่ในตอนจบของหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นการส่งท้าย
Stat rosa pristina nomine,
nomina nuda tenemes.
Yesterday's rose endures in its name,
we hold empty names.
นามนั้นหรือก็คือความว่างเปล่า
ด้วยจิตคารวะครับ
โฆษณา