18 พ.ย. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
“จันทบุรี” อัญมณีที่ถูกละเลย
1
ชาวจันทบุรี มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GPP per Capita) ที่ 217,393 บาท ในปี 2561
สูงเป็นอันดับที่ 15 จากทั้งหมด 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ซึ่งหากสังเกตจังหวัดที่ติดอยู่ใน Top 15 ของประเทศไทยอย่างละเอียด
ถ้าไม่ใช่จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ
ซึ่งก็จะเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นศูนย์กลางการเงินและ การบริการต่างๆ
1
แต่สำหรับจันทบุรีกลับไม่ใช่ทั้ง 3 อย่าง..
1
แล้วจังหวัดเล็กๆ ในภาคตะวันออกที่มีเพียง 10 อำเภอแห่งนี้มีจุดเด่นอะไร
ทำไมถึงมีรายได้ต่อหัวสูงขนาดนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในแง่ประวัติศาสตร์ จันทบุรีเคยเป็นศูนย์รวบรวมกำลังพล และเสบียงของพระเจ้าตากสินมหาราชก่อนจะเดินทางไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา
และด้วยความที่ตั้งอยู่ติดชายแดนกัมพูชา จันทบุรีเคยถูกฝรั่งเศสยึดหลังจากวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เป็นเวลานานถึง 11 ปี จนสยามต้องยอมเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการรักษาเมืองแห่งนี้ไว้
ด้วยประวัติศาสตร์ที่เข้มข้น ทำให้จันทบุรีมีสถานที่สำคัญในยุคต่างๆ หลงเหลืออยู่มากมาย
แต่สิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนจังหวัดแห่งนี้มากที่สุดก็คือ “อัญมณี”
2
แหล่งพลอยน้ำงามของจันทบุรีมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2
โดยเฉพาะ “ทับทิมสยาม” ที่ดึงดูดเหล่าพ่อค้าพลอยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาซื้อขาย
จนกลายเป็นแหล่งซื้อขายพลอยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
Cr. ไทยรัฐ
นอกจากทับทิมแล้ว ยังมีพลอยอีกมาก ทั้งบุษราคัม โกเมน และเพทาย
การเป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน ทำให้จันทบุรีเป็นแหล่งรวมช่างฝีมือ
ทั้งด้านการเผาพลอย การเจียระไนพลอย ที่มีทักษะเป็นเอกลักษณ์
และรังสรรค์เป็นอัญมณีและเครื่องประดับที่งดงามยากจะมีที่ใดเหมือน
ถึงแม้ในวันนี้ แหล่งพลอยจะลดน้อยลงไปมาก แต่ด้วยทักษะและชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน
จันทบุรีจึงยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี เป็นแหล่งรวบรวมช่างเจียระไนฝีมือดี
และจะมีการซื้อขายอย่างคึกคักในช่วงสุดสัปดาห์ โดยมีศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าและส่งเสริมการวิจัยที่สำคัญ
แต่ธุรกิจซื้อขายอัญมณีก็ไม่ใช่ส่วนที่สร้างรายได้มากที่สุดให้จังหวัดจันทบุรี
เพราะภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของจังหวัดนี้ก็คือ “ภาคเกษตรกรรม”
4
เศรษฐกิจในจังหวัดจันทบุรี ประกอบไปด้วย
ภาคเกษตรกรรมและประมง 60%
ภาคบริการ การค้าและการท่องเที่ยว 34%
ภาคอุตสาหกรรมมีเพียง 6%
นับได้ว่าเป็นจังหวัดเดียวที่มีรายได้ต่อหัวสูงระดับ Top 15 ของประเทศ
แต่องค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจไม่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการท่องเที่ยว
ด้วยทำเลทางภูมิศาสตร์ จันทบุรีตั้งอยู่ติดอ่าวไทยที่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน
มีทิวเขาตั้งอยู่ทางทิศเหนือและตะวันออก ทำให้กลายเป็นเขตฝนตกชุก เป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำฝนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
1
ด้วยปริมาณน้ำที่มากกว่าที่อื่น และดินที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ปลูกไม้ผลได้ดี
จันทบุรีจึงกลายเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญ โดยเฉพาะผลไม้ที่ชอบความชื้น
อย่างทุเรียนที่มีฉายาว่า “ราชาแห่งผลไม้” และมังคุด ที่ได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งผลไม้”
จันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย
โดยผลผลิตทุเรียนในปี 2562 อยู่ที่ 340,000 ตัน สร้างรายได้สูงถึง 30,000 ล้านบาท
Cr. สยามรัฐ
เช่นเดียวกับมังคุดที่ปลูกในจันทบุรีมากที่สุด
ผลผลิตมังคุดในปี 2562 อยู่ที่ 126,000 ตัน และสร้างรายได้ราว 5,000 ล้านบาท
Cr. เกษตรพันธุ์
นอกจากราชาและราชินีแห่งผลไม้แล้ว พื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ของจันทบุรียังเป็นแหล่งผลิตผลไม้อีกมากมาย ทั้งลำไย เงาะ ลองกองและกล้วยไข่ รวมไปถึงพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา และมันสำปะหลัง
จันทบุรียังเป็นเขตปลูกพริกไทยกว่า 95% ของประเทศไทยอีกด้วย
ความนิยมผลไม้ไทยของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะชาวจีน ช่วยผลักดันราคาผลไม้ยอดนิยมให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
เกษตรกรบางส่วนเริ่มเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกยางพาราและมันสำปะหลังที่ราคาตกลง หันมาปลูกทุเรียน และมังคุดมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
โดยเฉพาะในปี 2563 ที่ฝนฟ้าอากาศเอื้ออำนวย
ผลผลิตของทุเรียนจันทบุรีเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 20%
ผลักดันให้ภาคการเกษตรของจันทบุรีเติบโตจากปี 2562 ถึง 6.5%
ซึ่งโดดเด่นมากท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด 19
1
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีอัตราเติบโตลดลง 0.1%
และภาคบริการที่หดตัว 3.7% โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกและการท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างหนัก
ด้วยความที่ภาคเกษตรกรรมเป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ
ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ของจันทบุรี มีแนวโน้มว่าจะเติบโตจากปีที่แล้ว 2.3%
นับว่าเป็นจังหวัดที่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
แม้ว่าประเทศไทยในตอนนี้จะต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาที่สุดในรอบหลายสิบปี..
ถึงแม้จะเป็นอัญมณีที่ส่องประกายสดใสในความมืดมิด
แต่จังหวัดจันทบุรีกลับขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมขนส่ง
2
ทำให้หนทางเดียวที่ชาวจังหวัดอื่นๆ จะสามารถเดินทางไปยังจันทบุรีได้ คือเดินทางไปด้วยรถยนต์หรือการเดินทางทางถนนเท่านั้น
จันทบุรีไม่มีทางรถไฟ ไม่มีสนามบิน และไม่มีท่าเรือสินค้า
1
ทั้งๆ ที่จังหวัดนี้ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
มีผลไม้ที่ต้องการการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกกว่าทางถนน
มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งชายหาด อุทยานแห่งชาติ วัฒนธรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้
มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ที่มีการค้าขายระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
1
ยังไม่รวมศักยภาพในด้านอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค ที่ต่อยอดจากภาคการเกษตร เช่น การนำเปลือกมังคุดมาพัฒนาเป็นสินค้าสมุนไพร ทั้งสบู่ และเครื่องสำอาง ไปจนถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
ถึงแม้จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟส 2 ที่เชื่อมต่อมาจากรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน
แต่ตามแผนจะแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดก็ในปี พ.ศ. 2571
Cr. unsplash
จึงนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย จังหวัดที่มีศักยภาพสูงมากในหลายภาคส่วนเศรษฐกิจ
กลับถูกละเลยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน จนขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น
เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ จังหวัด
บางจังหวัดมีผลผลิตทางการเกษตรโดดเด่น และสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้
บางจังหวัดเป็นแหล่งการค้าชายแดนที่คึกคัก
บางจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามที่สามารถดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
1
หากค่อยๆ ไล่เรียงไปบนแผนที่ประเทศไทย
เราจะพบว่า “อัญมณี” ที่ไม่ได้รับความสนใจ
อาจไม่ได้มีแค่จังหวัดจันทบุรี..
โฆษณา