18 พ.ย. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)” หอคอยแห่งความตาย” ตอนที่ 2
สงครามและหอคอยที่เปื้อนเลือด
หอคอยแห่งลอนดอนได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้กษัตริย์และครอบครัว ได้ประทับ หากแต่ในเวลาต่อมา หอคอยแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นเรือนจำอีกด้วย
1
นักโทษที่นำมาคุมขังยังหอคอยแห่งนี้ไม่ใช่นักโทษทั่วๆ ไป หากแต่เป็นนักโทษทางการเมือง ผู้ที่กษัตริย์ทรงคิดว่ากำลังท้าทายอำนาจหรือเป็นภัยต่อพระองค์
นักโทษส่วนมากเป็นบุคคลระดับสูง มีฐานะร่ำรวย ห้องขังก็ไม่ใช่ห้องขังโทรมๆ ทั่วไป หากแต่เป็นห้องพักอย่างดี มีคนรับใช้ และนักโทษยังสามารถออกไปเดินเล่นในสวนอีกด้วย
1
นักโทษรายแรกที่ถูกบันทึกไว้คือนักบวชที่ชื่อ “รานูลฟ์ แฟลมบาร์ด (Ranulf Flambard)”
แฟลมบาร์ดนั้นทำงานรับใช้ “พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 แห่งอังกฤษ (William II of England)” พระราชโอรสในพระเจ้าวิลเลียมที่ 1
พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 เป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายและละโมบ พระองค์ทรงรีดเงินภาษีจากราษฎรเป็นจำนวนมาก โดยแฟลมบาร์ดเป็นหนึ่งในผู้เก็บภาษีของพระองค์
พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 แห่งอังกฤษ (William II of England)
วันหนึ่ง ขณะออกล่าสัตว์ พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 ทรงถูกลูกธนูจากคนของพระองค์ยิงจนสวรรคต ซึ่งผู้คนก็คิดกันว่าเป็นอุบัติเหตุ
เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 2 สวรรคต พระอนุชาของพระองค์ ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระองค์ นั่นคือ “พระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Henry I of England)”
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 ทรงตระหนักดีว่าประชาชนนั้นเกลียดแฟลมบาร์ด เนื่องจากแฟลมบาร์ดเป็นผู้เก็บภาษีของพระเชษฐา คอยรีดไถเงินของประชาชน
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 ทรงต้องการจะซื้อใจประชาชน พระองค์จึงมีรับสั่งให้จับกุมแฟลมบาร์ด และนำไปคุมขังยังหอคอยแห่งลอนดอน
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Henry I of England)
แฟลมบาร์ดถูกคุมขังเป็นเวลานานถึงหกเดือน ซึ่งต่อมา เขาก็ได้คิดแผนที่จะหนี
แฟลมบาร์ดให้คนแอบซ่อนเชือกไว้ในถังที่ใส่หอยนางรม จากนั้นก็จัดงานเลี้ยงให้แก่เหล่ายามที่เฝ้าดูเขา เลี้ยงเหล้า มอมพวกยามจนหลับ จากนั้นก็ใช้เชือก ปีนหนีทางหน้าต่าง
แฟลมบาร์ดให้คนนำม้ามารอในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นเมื่อลงมาถึงพื้น เขาก็ขึ้นม้า หนีไปได้อย่างปลอดภัย
เท่ากับว่านักโทษที่สำคัญรายแรกของหอคอยแห่งลอนดอน ยังเป็นนักโทษรายแรกที่หนีออกไปจากหอคอยแห่งนี้ได้อีกด้วย
นักโทษบางรายก็คือกษัตริย์จากประเทศอื่น
เมื่อกษัตริย์ถูกจับกุม รัฐบาลอังกฤษจะเรียกค่าไถ่องค์จากดินแดนนั้นเป็นจำนวนเงินมหาศาล
หากนักโทษเป็นระดับกษัตริย์ ถึงแม้จะถูกจับ แต่ชีวิตในเรือนจำก็ไม่ได้ลำบากนัก กษัตริย์หลายองค์ที่ถูกควบคุมองค์จะถูกเลี้ยงดูอย่างดี พระกระยาหารพรั่งพร้อม มีชีวิตที่หรูหรา
ไม่เพียงเป็นที่คุมขัง หากแต่บางครั้ง หอคอยแห่งลอนดอนก็ยังทำหน้าที่เป็นป้อมปราการ ป้องกันภัยแก่กษัตริย์
“พระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 แห่งอังกฤษ (Henry III of England)” ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ ทำสงครามกับลอร์ดผู้ครองที่ดินทั้งหลายในอังกฤษ
1
ค.ศ.1267 (พ.ศ.1810) ได้มีกลุ่มลอร์ดผู้ทรงอำนาจ ได้รวมตัวกัน พยายามจะเข้าโจมตีหอคอยแห่งลอนดอน หากแต่ก็ไม่สำเร็จ
นักรบที่ช่วยปกป้องกษัตริย์ในสงครามครั้งนี้ ส่วนมากคือชาวยิว
ด้วยความที่คริสตจักรไม่อนุญาตให้ชาวคริสต์ปล่อยเงินกู้ แลกดอกเบี้ย มีเพียงชาวยิวเท่านั้นที่สามารถปล่อยเงินกู้ได้ ชาวยิวที่ปล่อยเงินกู้ จึงได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ หอคอยได้
ภายในเวลาไม่นาน ชุมชนชาวยิวจึงได้เกิดขึ้นรอบๆ หอคอย และได้รับการดูแล ปกป้องอย่างดี
เมื่อเกิดภัยอันตราย ชาวยิวจะเข้าไปหลบในหอคอย หากเกิดสงคราม ชาวยิวก็พร้อมจะร่วมรบกับเหล่าทหาร
แต่ต่อมา ค.ศ.1290 (พ.ศ.1833) ชาวยิวก็ถูกขับไล่ออกจากอังกฤษ
ค.ศ.1380 (พ.ศ.1923) รัฐบาลได้เกิดถังแตก เนื่องจากที่ผ่านมา ต้องนำเงินไปลงกับสงครามที่ชื่อว่า “สงครามร้อยปี (Hundred Years' War)”
สงครามร้อยปี (Hundred Years' War)
เมื่อไม่มีเงิน กษัตริย์พระองค์ใหม่ นั่นคือ “พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (Richard II of England)” จึงได้เรียกเก็บภาษี โดยกำหนดให้บุคคลที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ต้องจ่ายภาษีคนละหนึ่งชิลลิงส์
พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (Richard II of England)
เงินจำนวนหนึ่งชิลลิงส์ไม่ถือว่าเป็นเงินมากอะไรสำหรับผู้ที่มีอันจะกิน แต่สำหรับชนชั้นแรงงาน หาเช้ากินค่ำ เงินจำนวนนี้เท่ากับค่าแรงทั้งเดือนเลยทีเดียว
ชาวนาชาวไร่ที่ยากจนนั้น ที่ผ่านมาก็ยากจนและหิวโหยมามากพอแล้ว และในที่สุดก็หมดความอดทน
กองทัพชาวนาจำนวน 20,000 คน นำโดยชายที่ชื่อ “วัต ไทเลอร์ (Wat Tyler)” มุ่งหน้าสู่ลอนดอน
วัต ไทเลอร์ (Wat Tyler)
ไม่เพียงแค่กองทัพของไทเลอร์ หากแต่อีกกองทัพหนึ่ง นำโดยชายที่ชื่อ “แจ๊ค สตรอว์ (Jack Straw)” มีกำลังกว่า 70,000 คน ก็มุ่งหน้าสู่ลอนดอนจากอีกด้าน
1
ในเวลานั้น พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา และได้หลบหนีเข้าไปในหอคอยแห่งลอนดอน
กองทัพชาวนาได้บุกมาถึงลอนดอน และทำการเผาพระราชวังและอาคารที่ขวางหน้า รวมทั้งยังฆ่าทุกคนที่ดูร่ำรวยและทรงอำนาจ
แต่ถึงจะมีกำลังมาก แต่หอคอยแห่งลอนดอนก็แข็งแกร่งเกินกว่าที่พวกเขาจะโค่นลงได้
การลุกฮือของชาวนาในค.ศ.1381 (พ.ศ.1924)
เมื่อเรื่องดูจะไปกันใหญ่ พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ก็ได้ทรงมีรับสั่งว่าจะออกไปพบกองทัพชาวนานอกเมืองลอนดอน
พระองค์เสด็จออกจากหอคอย เพื่อไปยังจุดนัดพบกับชาวนา
หากแต่เมื่อทหารกำลังจะทำการปิดประตูเมือง กองทัพชาวนาก็ลุกฮือ บุกเข้าไปในหอคอย และกองทัพชาวนาจำนวน 400 คนก็บุกเข้ามาในหอคอยแห่งลอนดอนได้สำเร็จ
เป็นครั้งแรกที่หอคอยแห่งลอนดอนเต็มไปด้วยศัตรูที่บุกเข้ามาได้
เมื่อบุกเข้ามาได้ กองทัพชาวนาก็ได้ไปลากตัวขุนนางที่พวกตนเกลียดจำนวนสี่คน และนำไปตัดหัว
ในขณะเดียวกัน พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ทรงพยายามจะเจรจากับกองทัพชาวนา โดยพระองค์ได้พระราชทานคำสัญญาว่าจะยอมทุกอย่างเท่าที่ยอมได้
แต่ขณะเสด็จกลับ พระองค์ก็ได้รับข่าวเรื่องที่กองทัพชาวนาบุกเข้าไปในหอคอยแห่งลอนดอน ทำให้พระองค์ทรงกริ้วมาก
พระองค์ทรงนัดเจรจากับกองทัพชาวนาอีกครั้ง แต่คราวนี้ พระองค์ไม่ทรงยอมแล้ว และก็เกิดการต่อสู้ในที่สุด ทำให้ไทเลอร์ถูกฆ่า
ไทเลอร์ถูกฆ่า
เมื่อสูญเสียผู้นำ กองทัพชาวนาก็ตัดสินใจจะเลิกทัพ กลับบ้าน โดยพวกเขาก็หวังว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 จะทรงรักษาสัญญา
แต่พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ก็ไม่ทรงทำตามสัญญา พระองค์อ้างว่าพระองค์ถูกบังคับให้สัญญา พระองค์ไม่ได้ทรงเต็มใจ
ต่อมา ค.ศ.1399 (พ.ศ.1942) พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ก็ได้กลับมาที่หอคอยแห่งลอนดอนอีกครั้ง แต่คราวนี้ พระองค์กลับมาในฐานะของนักโทษ
1
พระองค์ถูกชิงบัลลังก์ โดยผู้ที่ชิงบัลลังก์คือ “พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 แห่งอังกฤษ (Henry IV of England)”
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 แห่งอังกฤษ (Henry IV of England)
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 ทรงนำองค์พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 มาคุมขังในฐานะของนักโทษ และบังคับให้ยกบัลลังก์ให้พระองค์
เรื่องราวของสถานที่แห่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา