19 พ.ย. 2020 เวลา 07:50 • สิ่งแวดล้อม
รู้จักวิธี "การวัดปริมาณน้ำฝน"
รู้จักวิธี "การวัดปริมาณน้ำฝน"
รู้จักวิธีการวัดปริมาณน้ำฝน
เคยสงสัยไหม...เวลาชมข่าวพยากรณ์อากาศ เรามักจะได้ยิน ผู้ประกาศข่าว
แจ้งปริมาณน้ำฝนในแต่ละวัน ฝนตกเล็กน้อย ปานกลาง ตกหนัก กรมอุตุนิยมวิทยา
แบ่งเกณฑ์การวัดอย่างไร และเราต้องทราบปริมาณน้ำฝนไปเพื่ออะไร...
อย่างที่ทราบกันดีว่า การวัดน้ำฝน เป็นส่วนหนึ่งของการพยากรณ์สภาพอากาศ เพราะปริมาณน้ำฝนในแต่ละวัน จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า พื้นที่แบบไหน เหมาะแก่การ
ทำการเกษตร หรือพื้นที่ฝนตกน้อย เสี่ยงต่อภัยแล้งที่จะตามมา และเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านและเกษตรกร เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
การตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ถือเป็นการตรวจวัดความสูงของน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ ซึ่งมีหน่วย เป็นหน่วยความสูง เช่น มิลลิเมตร นิ้ว เป็นต้น ส่วนการตรวจวัดใช้เครื่องมือ
วัดปริมาณน้ำฝน (Rain Gauge) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Non-recording
Rain Gauge)
2. เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบบันทึก (Recording Rain Gauge)
1.เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบธรรมดาหรือแบบไม่บันทึก (Non-recording Rain Gauge)
ประกอบด้วยขาตั้ง (Support) เพื่อรองรับถังรูปทรงกระบอกใหญ่ (Overflow Can)
ที่มีกรวยรองรับน้ำฝน (Collector หรือ Receiver) เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดมาตรฐาน
8 นิ้ว วางซ้อนทับอยู่ โดยปลายกรวย ใส่ลงในถังรูปทรงกระบอกเล็ก ที่บรรจุภาย
ในถังรูปทรงกระบอกใหญ่ (Overflow Can) น้ำฝนเมื่อตกลงในกรวยรองรับแล้ว จะ
ไหลลงเก็บไว้ไปในถังทรงกระบอกเล็ก เพื่อรอการตรวจวัดในเวลาประมาณ 07.00 น. ของแต่ละวัน โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเทปริมาณน้ำฝน จากถังทรงกระบอกเล็ก
ใส่แก้วตวง ซึ่งจะมีขีดแสดงขนาดการวัด (Scale) ขีดละ 0.1 มิลลิเมตร โดยหนึ่งแก้วตวง วัดปริมาณน้ำฝนได้ 10 มิลลิเมตร
1
2.เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนแบบบันทึก (Recording Rain Gauge)
เป็นเครื่องมือที่ทำการบันทึกลักษณะการตกของฝนลงบนกระดาษกราฟ ซึ่งมีทั้ง
ชนิดบันทึกแบบรายวัน รายสัปดาห์และรายเดือน โดยทุกแบบจะเริ่มบันทึกตั้งแต่
เวลา 07.00 น. (เวลาประเทศไทย) ซึ่งเทียบเท่ากับเวลามาตรฐานโลกที่ 00Z
ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยา ใช้เครื่องวัดน้ำฝนแบบบันทึก วัดปริมาณน้ำฝน
แบบอัตโนมัติ สามารถบันทึกปริมาณน้ำฝนได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรือตลอดสัปดาห์
โดยเป็นการบันทึกกราฟน้ำฝนแบบรายวัน (Daily Rainfall) ตั้งแต่เวลา 07.00 น.
ถึง 07.00 น. ของวันถัดไป ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจวัดจะต้องทำการเปลี่ยน
กราฟฝนทุกวันในเวลา 07.00 น. นั่นเอง
มาตรฐานเกณฑ์การวัดปริมาณน้ำฝนของไทย แบ่งออกได้ ดังนี้
- ปริมาณน้ำฝนต่อวัน ตั้งแต่ 0.1 มม. - 10.0 มม. ค่าฝนตกเล็กน้อย(Light Rain)
- ปริมาณน้ำฝนต่อวัน ตั้งแต่ 10.1 มม. - 35.0 มม. ค่าฝนตกปานกลาง
(Moderate Rain)
- ปริมาณน้ำฝนต่อวัน ตั้ งแต่ 35.1 มม. - 90.0 มม. ค่าฝนตกหนัก (Heavy Rain)
- ปริมาณน้ำฝนต่อวัน ตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป ค่าฝนตกหนักมาก (Very
Heavy Rain)
ซึ่งการวัดปริมาณน้ำฝน ของสถานีฝนที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อ
เก็บรวบรวมข้อมูลน้ำฝน สำหรับนำไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนาแหล่งเก็บน้ำ
ให้สามารถรองรับน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เกษตรกรเตรียมกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินสำหรับหน้าแล้ง รวมไปถึงการพยากรณ์ปริมาณน้ำ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน เตือนภัย ช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3q4LyYR
โฆษณา