20 พ.ย. 2020 เวลา 03:58 • สุขภาพ
อาการไหล่ติดกับลมดูดสะบัก อาการที่มีความคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกัน อาการยกแขนไม่ขึ้นบางครั้งก็ไม่ใช่อาการไหล่ติดเสมอไป เพราะฉะนั้นถ้ายกแขนไม่ขึ้นอย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองเป็นไหล่ติด
บทความโดย พท.กมลลาสน์ ชีวสาธน์เวชกุล
ส่วนใหญ่เวลายกแขนขึ้นไม่ได้ มักจะคิดว่าเป็นไหล่ติดเสมอ ๆ เพราะว่าเราถูกปลูกฝังว่าอาการยกแขนไม่ได้คืออาการไหล่ติด และพอคิดว่าเป็นไหล่ติดเวลานวดก็จะเน้นมันแต่ตรงหัวไหล่ตลอดเลย ผลก็คือการเคลื่อนไหวแขนดีขึ้นแต่อาการยกแขนไม่ขึ้นยังคงอยู่เหมือนเดิม ดีขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ดีขึ้นไปกว่านั้น
*** สาเหตุเพราะว่า บางครั้งที่อาการไม่ดีขึ้นเพราะการนวดยังไม่ตรงจุด อาการยกแขนไม่ขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากไหล่ติดเสมอไป แต่อาจเป็นอาการลมดูดสะบักที่ทำให้ยกแขนไม่ขึ้น
คนส่วนใหญ่สมัยนี้ไม่รู้จักโรคลมดูดสะบัก เพราะตำราสมัยนี้แทบไม่ได้มีเขียนชื่อโรคนี้เอาไว้ มันเป็นชื่อโรคทางหัตเวชกรรมไทยโบราณที่แพทย์แผนไทยโบราณเอาไว้นวดรักษา
ลักษณะของอาการลมดูดสะบักกับอาการไหล่ติดเหมือนกันอยู่อย่างคือ คนที่เป็นจะมีปัญหาเรื่องการยกแขน ไหล่ติดจะหนักกว่าเพราะแขนแทบจะยกไม่ขึ้น แต่ลมดูดสะบักยังจะพอยกได้
*******************************************
จุดเด่นของอาการลมดูดสะบัก คือ
- ยกแขนได้แต่จะเจ็บที่บริเวณไหล่ด้านหน้า ไหล่ด้านหลัง สะบัก โค้งคอ แล้วแต่ว่าจะเกิดอาการลมดูดสะบักที่จุดไหน เพราะลมดูดสะบักไม่ได้มีแค่จุดเดียว และไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อมัดเดียว
- ยกแขนพอขึ้นได้บ้าง ไม่ได้แขนเดี้ยงเหมือนไหล่ติด ไหล่ติดจะยกแขนแทบไม่ได้เลย (แขนเดี้ยงหนักมาก) ปวดที่หัวไหล่อยู่ลึก ๆ
- เวลายกแขนอาจมีอาการปวดร้าวชาลงแขนบ้าง
- คลำพบก้อนที่บริเวณเกิดลมดูดสะบัก ถ้าไม่ตรวจร่างกายจะไม่มีทางรู้
- เอามือไขว้หลังไม่ได้ หากพยายามเอามือไขว้หลังจะเกิดอาการปวดบริเวณที่เกิดลมดูดสะบัก
จากรูปด้านล่าง คือ จุดที่มักจะเกิดอาการลมดูดสะบักบ่อย ๆ 3 จุด และ 3 จุดนี้แสดงอาการไม่เหมือนกัน
(1) จุดบริเวณหัวไหล่ด้านหน้า
(2) จุดบริเวณมุมสะบักด้านบน
(3) จุดบริเวณโค้งคอด้าหน้า ใต้ไหปลาร้า
*******************************************
(1) ลมดูดสะบักที่หัวไหล่ด้านหน้า ตามรูปด้านล่างที่เห็น อาการเฉพาะตัวของลมดูดสะบักบริเวณนี้คือ
- เวลายกแขนขึ้นทางด้านหน้าของลำตัว อาจเกิดอาการปวดไหล่ด้านหน้า และมีอาการร้าวลงแขน แขนไม่มีแรง กล้ามเนื้อแขนสั่น
- เวลายกแขนขึ้นทางด้านข้างของลำตัว อาจเกิดอาการปวดร้าวชาเข้าที่บริเวณหน้าอก อาจเกิดอาการเสียดที่หน้าอกร่วมด้วย
- ถ้าพยายามยกแขนจะเกิด อาจเกิดอาการปวดร้าวตึงขึ้นถึงโค้งคอ
กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับอาการบริเวณนี้ ยกตัวอย่างเช่น
- Pectoralis Minor Muscle
- Pectoralis Major Muscle
- Coracobrachialis Muscle
อาการในข้อนี้คนเป็นกันเยอะ ถ้านวดรักษาตั้งแต่อาการเพิ่งเริ่มเป็นอาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าปล่อยอาการไว้คนเกิดอาการปวดร้าวขึ้นโค้งคอ จะยิ่งนวดรักษายากขึ้นเป็นเท่าตัว
*******************************************
(2) ลมดูดสะบักด้านหลัง อาการเฉพาะของลมดูดสะบักบริเวณนี้คือ
- มีอาการปวดตึงที่บริเวณมุมสะบักด้านบน บางคนมีอาการปวดร้าวเข้ามาที่สะบัก หนักกว่านั้นคือมีอาการปวดร้าวมาที่ไหล่ด้านหน้า
- อาการปวดตึงแทบจะมีอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการลุกลามเป็นอาการปวดร้าวขึ้นคอได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
- หากพยายามเอามือไขว้หลัง อาจเกิดอาการปวดร้าวขึ้นคอและปวดสะบักมาก จนไม่สามารถเอามือไขว้หลังได้
อาการในกลุ่มนี้มีกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ แต่กล้ามเนื้อที่เกิดอาการไม่ใช่กล้ามเนื้อต้นเหตุของอาการ เพราะฉะนั้นจะนวดตรงที่เกิดอาการปวดไม่ได้
ท่านใดต้องการปรึกษาอาการของตนเอง ติดต่อเราได้ที่ ชีวสาธน์เวชคลินิกการแพทย์แผนไทย หมู่บ้านบัวทองธานี อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
โทร 091 - 705 - 6938
Line ID : cvs.clinic
หรือติดต่อเราได้ที่ https://www.facebook.com/Kamollard
โฆษณา