3 ม.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
คิดก่อน พูดก่อน ทำก่อน ได้ก่อน...
ทุกคนที่เกิดมาล้วนแสวงหาความสำเร็จความสมหวัง ทั้งในด้านหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน ด้านครอบครัวหรือเรื่องที่พึงปรารถนา ผู้ที่ประสบความสำเร็จและความเจริญที่แท้จริง ต้องประกอบด้วยความเจริญทางด้านจิตใจ เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกคือสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ส่วนในทางธรรมก็มีธรรมะหล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มชื่นเบิกบานแจ่มใส มีใจแช่อิ่มอยู่ในกลางพระธรรมกายภายในตัวตลอดเวลา ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ ย่อมได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม
มีธรรมภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน อรรถกถาสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ความว่า...
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ข้าพระองค์ถวายตลอด ๗ วัน เป็นทานที่ประกอบด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาเทพสมบัติ หรือสักกสมบัติ และพรหมสมบัติแต่อย่างใด ด้วยทานนี้ และกุศลกรรมของข้าพระองค์นี้ ขอจงสัมฤทธิผลทุกประการ แห่งความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓"
ที่หลวงพ่อยกมากล่าวข้างต้นนั้น เป็นวาจาที่เปล่งออกมาจากปากอันเป็นมงคลของผู้ที่เป็นบัณฑิต ซึ่งมีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความทระนงอาจหาญ แน่วแน่ที่จะทำในสิ่งที่ตนปรารถนา ให้สำเร็จ เป็นผู้ที่คิดได้แล้วตัดสินใจทำในสิ่งที่ใครก็คิดไม่ถึง เมื่อคิดแล้วก็พูด พูดแล้วก็ลงมือทำให้สำเร็จ ความสำเร็จนั้นอยู่ที่ใจ และเมื่อตั้งใจทำแล้ว ต้องอาศัยความเพียร และความอดทนที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ สำหรับผู้ที่มีใจมั่นคงแน่วแน่
ดังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ครั้งที่พระบรมศาสดาพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้น ขณะนั้นทรงประทับอยู่ ณ เขมมฤคทายวัน ในเมืองหังสวดีนคร ในเมืองนั้น มีกุฎุมพีชื่อว่า เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก หลังจากเวเทหะบริโภคอาหารแล้ว ได้อธิษฐานอุโบสถศีล จากนั้นจะถือดอกไม้ของหอม เป็นต้น ไปยังพระมหาวิหารเพื่อบูชาพระบรมศาสดา
ขณะนั้น พระบรมศาสดาทรงกำลังแต่งตั้งพระเถระชื่อมหานิสภเถระ ในตำแหน่งเอตทัคคะ ท่ามกลางหมู่สงฆ์นั้น พระบรมศาสดาทรงกล่าวว่า "พระมหานิสภะนั้นเป็นผู้เลิศในการกล่าวสอนธุดงค์"
อุบาสกท่านนั้นได้ฟังแล้ว เกิดความเลื่อมใส เมื่อสิ้นสุดการแสดงธรรมิกถา มหาชนกลับกันหมดแล้ว เวเทหะได้เข้าไปถวายนมัสการพระบรมศาสดาและกราบทูลถามว่า "วันพรุ่งนี้ ขอพระองค์ทรงเมตตารับภิกษาของข้าพระองค์เถิด"
พระบรมศาสดาตรัสว่า "อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก ท่านจะรับไหวหรือ"
อุบาสกทูลถามว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์มีประมาณเท่าไรพระเจ้าข้า"
พระบรมศาสดาตรัสว่า "มี ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป"
แม้จะมีพระภิกษุสงฆ์มากมายถึงเพียงนี้ อุบาสกก็ไม่วิตกกังวล กลับมีความปีติเบิกบานใจ ที่จะได้ถวายทานแด่ภิกษุจำนวนมากมายถึงเพียงนั้น อุบาสกได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับนิมนต์ภิกษาของข้าพระองค์พร้อมภิกษุทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่สามเณรเพียงรูปเดียวด้วยเถิดพระเจ้าข้า" พระศาสดาจึงทรงรับนิมนต์
อุบาสกรีบกลับ และสั่งให้บริวารเตรียมปัจจัยไทยธรรมเพื่อถวายมหาทานครั้งยิ่งใหญ่นี้ โดยจัดเตรียมกันอย่างสนุกสนาน เบิกบานจนถึงวันรุ่งขึ้น เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว จึงให้คนไปกราบทูลนิมนต์พระบรมศาสดา พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของอุบาสกผู้นั้น
ขณะนั้น พระมหานิสภเถระได้บิณฑบาตมาถึงถนนหน้าบ้านของอุบาสก อุบาสกเห็นท่านแล้ว รีบลุกขึ้นไหว้พระเถระ พลางกับกล่าวว่า "ขอพระคุณเจ้าจงให้บาตรแก่กระผมเถิด"
เมื่อพระเถระได้ให้บาตรแล้ว อุบาสกก็อาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าให้เข้าไปในบ้าน พระเถระกล่าวว่า "ไม่เป็นการสมควรหรอก อุบาสก"
อุบาสกจึงเพียงรับบาตรของพระเถระและใส่บิณฑบาต จนเต็มน้อมนำไปถวายท่าน จากนั้นอุบาสกได้ไปส่งพระเถระ แล้วกลับไปนั่งในสำนักของพระศาสดา แต่ด้วยความสงสัยที่พระเถระไม่เข้ามาในบ้าน อุบาสกจึงทูลถามพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านมหานิสภเถระนั้นแม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในบ้าน ก็ยังไม่เห็นพระเถระปรารถนาจะเข้ามาเลยพระเจ้าข้า"
เนื่องจากความตระหนี่ในคำสรรเสริญย่อมไม่มีในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสสรรเสริญว่า "มหานิสภเถระนั้น มีคุณยิ่งใหญ่ รู้กาลอันควร เรานั่งรอภิกษาอยู่ในบ้าน มหานิสภะนั้นไม่นั่งรอภิกษาของใคร เราอยู่ในเสนาสนะท้ายบ้าน มหานิสภะนั้นอยู่ในป่า เราอยู่ในที่มุงบัง มหานิสภะนั้นอยู่ในที่แจ้ง"
พระบรมศาสดาตรัสประดุจยัง มหาสมุทรให้เต็มว่า "นี้แหละ คุณของมหานิสภะสูงส่งด้วยประการฉะนี้"
อุบาสกได้ฟังดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปจนหาประมาณไม่ได้ เหมือนประทีปอันสว่างอยู่ตามปกติ และราดน้ำมันเข้าไปอีกย่อมสว่างเพิ่มมากขึ้น และคิดว่า "สมบัติอื่นใด ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับเราแล้ว เราจะกระทำความปรารถนาเพื่อให้ได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ผู้ซึ่งกล่าวสอนธุดงค์ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต" เมื่อคิดได้อย่างนั้น ท่านก็ทำก่อนใครทีเดียว ไม่ปล่อยให้ความตระหนี่หรือสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง
ท่านกราบอาราธนานิมนต์พระศาสดาอีกครั้ง โดยถวายทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายผ้าไตรจีวรแด่ภิกษุทั้งหมด ขณะถวายก็มีจิตเลื่อมใสทับทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ คิดดูว่า ภิกษุมากมายตั้ง ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป นั่งเรียงกันพรึบจะงดงามเพียงใด เห็นแล้วเกิดมหาปีติทีเดียว จากนั้นท่านกราบทูลแทบพระบาทพระบรมศาสดาว่า...
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ข้าพระองค์ถวายตลอด ๗ วันนี้ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาทิพยสมบัติ หรือสมบัติของท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ในดาวดึงส์ หรือพรหมสมบัติ แต่ด้วยอานุภาพมหาทานของข้าพระองค์นี้ ขอจงสัมฤทธิผลให้ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับที่พระมหานิสภเถระได้รับในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตด้วยเถิด"
เป็นธรรมดาว่า พระดำรัสของพระพุทธองค์ย่อมเป็นจริงเสมอ ไม่มีแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ฐานะอันอุบาสกนี้ปรารถนา จักสำเร็จหรือไม่หนอ เมื่อทรงเห็นความสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า "ฐานะที่ท่านปรารถนาจะสมหวังในที่สุดอีกแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้า พระนามว่าโคตมะจักอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระองค์นั้น มีชื่อว่า มหากัสสปเถระ"
อุบาสกได้ฟังดังนั้น คิดว่า ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีพระดำรัสเป็นสอง จึงเกิดมหาปีติราวกับได้สมหวังในวันรุ่งขึ้น จากนั้นท่านรักษาศีลเจริญภาวนาตลอดอายุ ครั้นละโลกแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
จะเห็นได้ว่า ...ความปรารถนาทุกอย่างจะสำเร็จได้เพราะบุญ ในสมัยนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งสาวกผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ ย่อมมีคนเห็นและรับรู้มากมาย แต่ผู้ที่คิดก่อนเพื่อความเป็นเลิศในด้านนั้นๆ เป็นคนแรก เป็นสิ่งที่หาได้ยาก เมื่อคิดแล้วพูดก่อน ทำก่อนจึงได้รับสิ่งที่พึงปรารถนาก่อนใครๆ เพราะตำแหน่งเป็นเลิศนั้น ย่อมต้องหมายความว่า มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น สำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นเลิศจริงๆ ที่มีจิตใจที่อาจหาญกล้าคิด คิดแล้วไม่คิดเฉยๆ หรือพูดเฉยๆ แต่ท่านทำด้วยความเด็ดเดี่ยวและเชื่อมั่น ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม มีใจเบิกบานผ่องใสเสมอ จึงสำเร็จได้ดังประสงค์ พวกเราก็ เช่นเดียวกัน เมื่อคิด พูด และทำอะไรในสิ่งที่ดีงามแล้ว ให้ มุ่งมั่นเอาชีวิตเป็นเดิมพันทำให้สำเร็จ หากทำได้เช่นนี้ เราย่อมจะสมปรารถนากันทุกๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๒๔๑ - ๒๔๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
มโนรถปูรณี เล่ม ๓๒ หน้า ๒๗๘
โฆษณา