25 พ.ย. 2020 เวลา 15:09 • การศึกษา
ตอน คุณน่าสนใจหรือเปล่า น่าสนใจหรือเปล่านะ?
#Toolsสะเด็ด #careerseries
#######################################################
เชื่อมั้ยคะว่าการรู้จักตัวตน รู้จุดอ่อน จุดแข็งและจุดมุ่งหมายเป็นสิ่งที่เซ็กซี่ที่สุดแล้ว ความเซ็กซี่ในที่นี้คือ ความน่าดึงดูด (attractiveness) ที่คนสัมภาษณ์งานๆ หรือใครๆที่คุยอยู่กับคุณก็รู้สึกว่า คุณน่าสนใจเพราะชัดเจนและมีจุดยืนในตัวเอง
ไม่ว่าจะสมัครงานที่ไหน บริษัทไทยหรือต่างชาติ ทุกคนต่างมองหาความน่าสนใจของคุณในจุดนี้อยู่ค่ะ ในบริษัทต่างชาติ(โดยเฉพาะชาติตะวันตก)จะประทับใจมากถ้าเจอคนสามารถโชว์ความเป็นตัวตนได้อย่างเป็นธรรมชาติและรู้จักตัวเองจริงๆ
อย่างไรก็ตาม สไตล์คนไทยอย่างเราๆมักจะรู้สึกไม่สะดวกใจนักที่จะพูดถึงทักษะตนเองทำได้ดี จุดเด่นและสิ่งที่ต้องพัฒนาของตัวเองเพราะมันเหมือนการโอ้อวด ถ้าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนไหนคิดแบบนี้ เราจะบอกว่าเราเข้าใจและเคยเป็นมาก่อนค่ะ
อยากจะชวนให้มองการพูดถึงจุดเด่นของตัวเองเหมือนเราเป็นสินค้าแบรนด์ใหม่ที่ยังไม่มีคนรู้จัก ถ้าเอาไปวางขายโดยไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ (packaging)สวยๆออกแบบมาดีๆ ไม่มีกลยุทธ์การตลาดเลย คนซื้อก็ไม่มั่นใจใช่มั้ยคะว่าเค้ากำลังจะซื้ออะไรอยู่?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - การสมัครงานก็เช่นกันค่ะ - - - - - - - - - - - - - - - -
วันนี้เราอยากจะพูดถึง การสร้างความชัดเจนในตัวเองก่อนค่ะ
ที่อยากแชร์เรื่องนี้วันนี้ก็เพราะว่านึกถึงเจ้าน้องสาวคนเก่งที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาจะครบปี เราเคยชวนน้องใช้ Mind map เพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้นและพูดถึงตัวเองได้ฉะฉานมั่นใจ น้องถามว่า หนูจะเริ่มยังไงดี หนูว่าหนูไม่เก่งอะไรเลย ไม่กล้าบอกว่ามีทักษะโน้นนี้ พูดจบนางก็หัวเราะแหะๆ -->> คำตอบคลาสสิคของเด็กปอตรีมากกกกก
ในฐานะของคนที่ผ่านความคิดแบบนี้มาก่อนและค้นพบมาเรื่อยๆว่าตัวเองมีทักษะอะไร เราอยากบอกน้องๆและทุกคนที่อ่านอยู่ตรงนี้อย่างที่เราเคยบอกน้องสาวเราค่ะ ว่า "เชื่อเถอะค่ะว่าทุกๆคนมีความเก่ง มีทักษะเด่นๆอยู่ มันอาจจะไม่ได้อยู่ในวิชาเอกที่เราเรียนในคณะ แต่แฝงอยู่ในหลายๆอย่างที่เป็นตัวเรา มีโอกาสฉายแสงออกในสถานการณ์ประจำวันที่เราไม่ค่อยได้คิดถึงมันบ่อย"
ทีนี้ เราจะรู้ได้ไงว่าเราเก่งอะไร?
เราแนะนำให้ลองทำแบบนี้ค่ะ
#1 การหากระดาษเปล่าแผ่นใหญ่ๆมา กับปากกาสีที่ชอบสองแท่ง (คนละสี)
#2 เขียนสิ่งที่ตัวเองคิดว่าตัวเองถนัดในกรอบก้อนเมฆด้วยปากกาสีที่หนึ่ง กระจายไปตรงไหนก็ได้ในกระดาษ ไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่ลิสต์ออกมามันจะซ้ำกันนะ อย่าลืมนึกถึงงานอดิเรกหรือสิ่งที่ชอบทำต่างๆ เช่น เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ปลูกต้นไม้ แต่งคอสเพลย์ วิ่ง ว่ายน้ำ ร้องเพลง บลาๆๆ ลิสต์มันออกมาค่ะ
#3 เขียนสิ่งที่ตัวเองได้รับคำชมจากคนอื่นด้วยปากกาสีอีกแท่ง ไม่ว่าเรื่องไร้สาระหรือไม่ก็เขียนลงไปให้หมดค่ะ ทำแบบเดียวกับ#2 จะเป็นอันที่ซ้ำก็#2ก็ช่างมัน ตัวอย่างเช่น พูดเก่ง เข้ากับคนง่าย อดทน ชอบค้าขาย ชอบทำให้คนยิ้มมีความสุข ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น
#4 ให้ดูว่าข้อ 2 กับ 3 ซ้ำกันไหม ถ้าซ้ำให้ลิสต์ออกมาในกระดาษอีกใบ แล้วต่อที่ข้อ 5
#5 ถ้าไม่ซ้ำกันเลย ให้ลองดูทักษะที่นายจ้างมองหาในตัวคุณในลิ้งค์ด้านล่าง (Credit: JobsDB ค่ะ) แล้วดูว่ามีกิจกรรมอะไรที่เคยทำที่มันใช้ทักษะพวกนี้บ้างค่ะ
#6 ลองหากลุ่มคนหลายๆกลุ่มดังนี้มาช่วยเราค้นความถนัดค่ะ หน้าที่ของคนกลุ่มนี้คือโหวตว่าเค้าเห็นด้วยกับข้อไหนที่เราเขียนบ้าง มีข้อไหนที่อยากจะเติมบ้าง คนที่แนะนำให้เลือกมาดูลิสต์ของเราคือ พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนๆ 3-4 คน ครู 2-3 คน
มุมมองจากคนอื่นที่มองเราเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะมันอาจจะสะท้อนคุณสมบัติ ทักษะที่เราไม่ได้นึกถึงหรือไม่รู้ตัวว่าเรามี ถ้าสิ่งที่เค้าโหวตตรงกับที่เราคิด และที่หลายๆคนโหวตมันตรงกันก็ให้ถือเป็นจุดเริ่มว่าเรามีทักษะนั้นๆค่ะ แล้วเราค่อยๆคิดต่อกันว่าทักษะนั้นๆจะโยงไปหางานที่สมัครไว้ยังไง
ลองดูนะคะ
โฆษณา