22 พ.ย. 2020 เวลา 12:10 • ประวัติศาสตร์
โนราปักษ์ใต้
ช่วงนี้กำลังมีละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ออนแอร์ เรื่องพระสุธนมโนราห์ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าปกิณกะคือเล่ากันปากต่อปากในหมู่ชาวบ้านโดยมีเค้าเรื่องมาจากชาดกในพระพุทธศาสนาคือสุธนชาดกนั้นเอง สำหรับละครเรื่องนี้ถ้าใครตื่นเช้ามาดูจะได้ยินเสียงเพลงทำนองโนราปักษ์ใต้ ซึ่งไม่แปลกเพราะการละเล่นพื้นบ้านของภาคใต้ที่คุ้นหูก็หนีไม่พ้นหนังตะลุง โนรา (ขอใช้คำว่าโนรา ซึ่งถือเป็นคำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเนื่องจากคำใต้จะห้วนสั้นและตัดคำ) ที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือโนราปักษ์ใต้ โนราปักษ์ใต้เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาอย่างยาวนานจนไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนได้ แต่มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ หลายข้อถึงที่มาของโนรา
ท่าร่ายรำโนราตามท่าแม่บท (ผู้เขียนเป็นผู้ถ่าย)
ก่อนอื่นมาดูกันว่าโนราคืออะไร โนราคือการแสดงพื้นบ้านประเภทหนึ่งซึ่งจะมีท่วงท่าร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นแม่บทตายตัว หมายความว่าอะไรหมายความว่าถ้าคุณไปชมการแสดงโนราไม่ว่าจังหวัดใดหรือโนรานั้นเป็นการแสดงของคณะใดรูปแบบท่วงท่าการร่ายรำจะเหมือนกันต่างกันตรงฝีมือและความอ้อนช้อยในการรำของโนราแต่ละท่าน การแสดงโนรานี้ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้นแต่การแสดงโนราจะเป็นวิถีที่สืบทอดกันมาของคนใต้โดยเฉพาะในเรื่องของคุณธรรมพื้นฐานนั้นคือความกตัญญู ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้ เพราะโนรานั้นจะแสดงเพื่อระลึกถึงตายายบรรพบุรุษนั้นเอง ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่าโนราคือการจัดระเบียบสังคมรูปแบบหนึ่งของคนใต้มาแต่โบราณก็ไม่ผิดนัก
โรงแสดงโนรา (ผู้เขียนเป็นผู้ถ่าย)
การแสดงบทบาทตาพราน (ผู้เขียนเป็นผู้ถ่าย)
คราวนี้มาดูความเชื่อและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของโนราปักษ์ใต้กันบ้างโนรายังมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนปักษ์ใต้ในสมัยก่อนค่อนข้างมากเนื่องจากโนราไม่ใช่แค่การแสดงเพื่อความบันเทิงเพียงเท่านั้นแต่โนราถูกนำไปผูกโยงกับความเชื่อเรื่องคติธรรม ความดีความชั่วบุญและบาปของคนในชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย ดังนั้นหากจะกล่าวว่าความสำคัญของโนราอีกมิติหนึ่งคือเครื่องมือขัดเกลาทางสังคม เมื่อโนรายังสามารถทำหน้าที่ของตนได้ดี เราจึงยังเห็นว่าแม้ปัจจุบันสังคมจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่วิถีความเชื่อเรื่องโนรายังคงอยู่คู่สังคมชาวปักษ์ใต้เสมอมา
อ้างถึง โนราความบันเทิงโบราณถิ่นใต้
โฆษณา