23 พ.ย. 2020 เวลา 09:53 • สุขภาพ
กินแกงบอนพึงระวังอาจเจอบอนพิษถึงตายได้
หลายคนคงเคยได้ยินข่าวมาบ้างว่ามีคนรับประทานแกงบอนแล้วเสียชีวิต เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น สำหรับพืชประเภทบอนนั้นมีอยู่หลายชนิดบางชนิดนำมารับประทานได้แต่บางชนิดก็มีพิษ และข่าวเช่นนี้ก็จะมีออกมาให้เราได้ยินได้ฟังกันเป็นระยะ เพราะว่าแกงบอนเป็นแกงที่อร่อยคนนิยมรับประทานกัน โดยเฉพาะอาหารปักษ์ใต้ ถ้ากล่าวถึงอาหารพื้นบ้านประจำถิ่นใต้ เมนูแรกที่นึกถึงของหลาย ๆ คนก็คือแกงส้มใต้ สำหรับคนภาคอื่นจะเรียกแกงเหลือง
แกงส้มใต้ใส่คูน (แกงส้มคูน)
สำหรับแกงส้มใต้จะเป็นอาหารประจำถิ่นที่อยู่คู่บ้านคู่ครัวคนใต้แทบจะทุกหลังคาเรือน เมนูแกงส้มใต้หรือแกงเหลืองนี้เป็นอาหารที่ทำได้ไม่ยาก ส่วนผสมก็หาง่าย หลัก ๆ ก็พริก กระเทียม กะปิ ขมิ้น เกลือ มะนาวหรือมะขาม บางคนอาจใช้อย่างอื่นมาชูรสให้เปรี้ยวตามแต่ชอบ ส่วนเนื้อสัตว์ที่นิยมกันก็ได้แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลา กุ้ง แต่หลัก ๆ ก็มักจะเป็นแกงปลา และจะเสริมด้วยผักตามแต่ชอบ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด เป็นต้น แต่ยังมีผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใส่ในแกง คือ ก้านคูน นั้นเอง สำหรับก้านคูน นี้จัดอยู่ในพืชประเภทบอนชนิดหนึ่ง ซึ่งพืชประเภทบอนจะมีหลายชนิดขึ้นได้ทั่วไปทั่วทุกภาค การจะนำบอนมารับประทานจะต้องแยกให้ดี เพราะมีบอนประเภทมีพิษที่อันตรายมากรับประทานเข้าไปอาจถึงกับเสียชีวิตได้ สำหรับบอนที่รับประทานได้ทางปักษ์ใต้จะเรียก ออดิบ โชน ทางภาคกลาง เรียกคูน ภาคเหนือเรียกกระดาษขาว ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกว่าออดิบตามภาษาถิ่นใต้
ออดิบ
สำหรับออดิบจัดอยู่ในพืชบอนกินได้ เวลากินก็จะตัดก้านมาลอกผิวออกล้างน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชูหั่นเป็นท่อน ๆ ขนาดพอดีคำใส่ลงในแกงส้มช่วงแกงใกล้จะสุก
ซึ่งจะช่วยเสริมรสชาติให้กับแกงได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่นิยมนำมารับประทานกันโดยทั่วไป แต่หลายท่านคงจะเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้วว่ามีคนรับประทานแกงส้มออดิบ ป่วยหรือเสียชีวิต นั้นเป็นเพราะรับประทานเอาบอนโหราเข้าไป สำหรับพืชประเภทบอนส่วนใหญ่จะเป็นบอนมีพิษ บอนมีพิษมีชื่อเรียกว่าบอนโหรา ลักษณะของบอนโหราจะมีรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับบอนออดิบมาก ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยจะสับสนได้ แม้แต่คนที่คุ้นเคยแล้วก็ยังพลาดได้เช่นกัน ยกตัวอย่างหากบอนโหราดันไปงอกเจริญเติบโตอยู่ใกล้เคียงกับบอนออดิบ ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็อาจพลาดได้ ดังที่มีตัวอย่างมาแล้วที่จังหวัดสตูล ไม่ขอเอยชื่อผู้เสียหายแต่ขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ คือ ผู้ป่วยได้ตัดบอนออดิบที่ปลูกไว้เพื่อมาใส่ในแกง แต่ด้วยความที่ฟ้ามืดแล้วทำให้มองไม่ชัด อีกอย่างกอบอนออดิบนั้นก็ปลูกขึ้นไม่ได้เก็บจากบอนที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ไปโดนเอาบอนโหราเข้าโดยไม่ตั้งใจ สันนิษฐานว่านกคงกินลูกบอนโหราแล้วถ่ายมูลลงในกอบอนออดิบ หลังรับประทานเข้าไปแค่คำแรกก็เหมือนมีเข็มจำนวนนับไม่ถ้วนทิ่มแทงช่องปากและลำคอได้รับความเจ็บปวดมาก จนต้องนำส่งโรงพยาบาล เดชะบุญที่รับประทานไปไม่มาก แต่ก็ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลอยู่หลายวัน
ต้นออดิบ (ผู้เขียนถ่ายภาพเอง)
คราวนี้เรามาดูพิษของบอนโหรากันบ้าง ทำไมตามข้อมูลผู้ป่วยจึงบอกว่ารู้สึกเหมือนเข็มนับไม่ถ้วนทิ่มแทงช่องปากและลำคอ ก็เพราะว่าพิษของบอนโหราจะอยู่ในรูปของผลึกเข็มไม่ละลายน้ำนั้นเอง เรามาดูจุดสังเกตกันบ้างว่าจะแยกระหว่างบอนโหราที่มีพิษกับบอนออดิบที่กินได้อย่างไร
บอนโหรา (ผู้เขียนถ่ายภาพเอง)
หลัก ๆ เลย บอนโหราต้นจะสูงใบจะใหญ่มักขึ้นเองตามคูน้ำ สำหรับใบจะใหญ่หนาเป็นมันลักษณะคล้ายกับพัดตาลปัตร ก้านจะใหญ่และหนาสำหรับก้านส่วนที่ติดกับใบจะอยู่ชิดริมขอบของใบเลย ส่วนบอนออดิบ ต้นจะเล็กเรียวกว่ามาก ทั้งต้นและใบจะมีสีอ่อนทั้งก้านทั้งใบจะมีนวลแป้งเคลือบ สำหรับก้านจะอยู่ห่างจะริมขอบใบ ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นความต่างได้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือหากนำมาตัดใบออกและหั่นก้านเป็นท่อน ๆ แล้วจะสังเกตไม่รู้เลยว่าคือออดิบหรือโหรา ดังนั้นข้อควรระวังไม่ควรซื้อบอนตัดสำเร็จมารับประทาน เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าบอนนั้นคือบอนออดิบหรือบอนโหรา
อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา