24 พ.ย. 2020 เวลา 09:37 • ท่องเที่ยว
บันทึกความทรงจำแห่งมิตรภาพ ลาว-ไทย (The Memory of Lao-Thai Friendship)
ตอนที่ 4
Mr. Roger Green / กาแฟอาราบิก้า ทิปิก้า/บ้านหนองหลวง เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
ครั้งแรกที่เข้าไปบ้านหนองหลวง เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
ภาพป้ายชื่อบ้านหนองหลวง ที่หมู่บ้าน
ความเป็นมาในประวัติศาสตร์
บ้านหนองหลวง ตั้งขึ้นราวปี คศ.1977-1978 หลังจากปฏิวัติขับไล่ขบวนการจักรวรรดินิยมอเมริกา และประกาศอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว* 2 ธันวาคม คศ.1975 (2518) อันถือเป็น "วันปลดปล่อยชาติ"เป็นอิสรภาพ และสถาปนารัฐบาลแห่งชาติ โดยสภาประชาชนปฏิวัติแห่งชาติลาว มีเจ้าสุภานุวงศ์ (ເຈົ້າສຸພານຸວົງ) เป็นประธานประเทศ(ประธานาธิบดี) คนแรก นายไกรสอน พมวิหาน (ທ່ານໄກສອນ ພົມວິຫານ) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ให้ถือว่าวันที่ 2 ธค.ของทุกปีเป็นวันชาติ สปป.ลาว ในปัจจุบันด้วย
เจ้าสุภานุวง ณ เวียงจันทน์ ประธานประเทศ (บน) นายไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรี (ล่าง) คนแรกหลังการปฏิวัติ 1975
รัฐบาลแห่งพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้จัดตั้ง "นิคม 08" ขึ้นที่เมืองปากช่อง อยู่ในเขตบ้านภูหมากนาว ภูโอ่ย ภูหมากก่อ และบ้านหนองหลวงก็เป็นส่วนหนึ่งของนิคมแห่งนี้ด้วย โดยเป็นฐานที่ตั้งที่รวบรวมครอบครัวทหาร ตำรวจ พลเรือน และกองกำลังฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หรือฝ่ายอเมริกา ในยุคสงครามปลดปล่อยชาติ เพื่อปรับแนวคิดทัศนคติทางการเมืองใหม่เรียกว่า "สัมมนา" ให้หันกลับมาสวามิภักดิ์เป็น ฝ่ายเดียวกับฝ่ายประชาชนปฏิวัติลาว โดยมีกฎระเบียบควบคุมดูแลการเข้า-ออก การไป- มาอย่างเข้มงวดกวดขัน และมีหน้าที่เป็นกองผลิตเสบียงอาหารส่งให้ทางการ เริ่มจากการปลูกกาแฟ- ชา และพืชผักผลไม้ เรียกว่า กองผลิต นิคม 08
สำหรับกาแฟที่ปลูกจะมี 2 สายพันธุ์หลักคือ โรบัสต้า (กาแฟกลาง) กับอาราบิกาพื้นเมือง (กาแฟน้อย) สมัยนั้นยังไม่มีการปลูกสายพันธ์อาราบิกา คาติมอร์ แต่อย่างใด
บ้านหนองหลวง กับกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา ทิปิก้า (Arabica Typica)
ลักษณะของต้นและผล(หมาก) ของกาแฟ อาราบิก้า ทิปิก้า (ถ่ายจากบ้านพ่อเฒ่าจานนา มะนีวง ประชาชนบ้านหนองหลวง
ต่อมามีโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟของเยอรมันตะวันออก (ก่อนการรวมประเทศกับเยอรมันตะวันตก)ได้เข้ามาลงทุนโครงการรวบรวมเมล็ดกาแฟและแปรรูปกาแฟ มีลานตากกาแฟ โรงเก็บกาแฟ(ฉาง) โรงสี และแปรรูปกาแฟ (คั่วบด) ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บ้านภูหมากนาว เมืองปากช่อง เพื่อส่งออกอย่างเป็นล่ำเป็นสันอยู่นานนับสิบปี
ต่อมารัฐบาลได้ยุบกองผลิตเสบียงนิคม 08 ควบรวมเข้ากับโครงการของเยอรมัน ประชาชนผู้ผลิตเดิมก็ถือว่าเป็นสมาชิกของโครงการไปโดยอัตโนมัติ โดยจะต้องส่งผลผลิตทั้งหมด(ผูกขาด)ให้กับโครงการนี้ แต่ประชาชนบางคนที่มีความรู้ มีการศึกษาดี เช่น ครู แพทย์ วิศวกร ช่างสาขาต่างๆ จะได้รับอนุญาตให้กลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อไปประกอบอาชีพทำประโยชน์ที่บ้านเกิดของตนได้โดยสมัครใจ
ภาพกำแพงเบอร์ลิน พรมแดนกั้นระหว่างเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก ที่เหลืออยู่บางส่วนในปัจจุบัน หลังการรวมประเทศ คศ.1991
ต่อมาปี 1991 โครงการของเยอรมันตะวันออกถูกยกเลิกไป เนื่องจากประเทศเยอรมันตะวันตกกับตะวันออกรวมประเทศ ภายหลัง “การล่มสลายกำแพงเบอร์ลิน”* เมื่อ 9 พย.1991 (2534) จึงส่งมอบโครงการให้รัฐบาลรับไปดำเนินงานต่อ โดยตั้งบริษัท กาแฟ-ชา เป็นผู้ดูแลบริหารกิจการแทน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากผู้เขียนเข้าไปทำงานที่เมืองปากเซแล้ว 2 ปี (1989) เคยมีโอกาสไปแวะเยี่ยมบริษัทกาแฟ-ชา ราวปี 1992 จำได้ว่าผู้อำนายการบริษัท ชื่อ ท่านสีเมฆ ซึ่งเคยทำงานกับบริษัทเยอรมันมานาน แต่ช่วงที่ไปแวะเยี่ยมนั้นเป็นช่วงที่บริษัทตกอยู่ในภาวะตกต่ำย่ำแย่แล้ว เพราะขาดเงินทุนสนับสนุนนับแต่เยอรมันถอนตัวไป
ในที่สุดก็เลิกกิจการไปในอีกไม่กี่ปีต่อมา สถานที่ตั้งบริษัทกาแฟ-ชา สมัยนั้นก็คือที่ตั้งกองบัญชาการป้องกันความสงบ (ปกส.) เมืองปากช่องในปัจจุบัน ส่วนที่ดินอาคารลานตากกาแฟ ฉางกาแฟ โรงสีกาแฟ ปัจจุบัน ท่านอดีตประธานประเทศ พลเอกคำไต สีพันดอน ได้ขอสัมปทานไว้
แม้โครงการของเยอรมันจะยุบเลิกไป แต่ชาวเมืองปากช่อง และชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนภูเพียงดงบอละเวนส่วนใหญ่ ก็ยังยึดการปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักเรื่อยมา ทั้งมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากปี คศ.1989 อันเป็นปีที่ระบอบสังคมนิยมโซเวียตล่มสลาย* สปป.ลาว (ช่วงเดียวกับผู้เขียนเข้าไปลาวครั้งแรก เมื่อ 29 พย.2532 หรือ คศ.1989) ได้ประกาศตัวเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มตัว แบบสาธารณรัฐ จึงเกิดพ่อค้าผู้รับซื้อกาแฟรายใหญ่เพื่อส่งออกไปทั่วโลกอย่างเสรีหลายราย โดยเฉพาะตลาดยุโรป และอเมริกา
แต่สมัยนั้นวิธีการผลิตของประชาชนยังสืบทอดวิธีการและพฤติกรรมเดิมๆ ในอดีต คือ เก็บหมากดิบ หมากสุกและเก็บเมล็ดกาแฟหลายชนิดปะปนกัน ตากเมล็ดกาแฟกับพื้นดิน ตากยังไม่แห้งดีก็เอาไปสีเพื่อให้ได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีสิ่งเจือปนเช่นทรายกรวด ทั้งโดยเจตนาและอาจไม่เจตนา ทำให้ผู้ซื้อก็ต้องซื้อในราคาต่ำ การส่งออกจึงไม่ได้ราคาต้องขายในตลาดระดับล่าง
โครงการกาแฟดาว (บน) และสีหนุก (ล่าง) ที่เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก
ต่อมาราวปี 1993-1994 มีโครงการวิจัยและพัฒนากาแฟภูเพียงดงบอละเวน โดยทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชนฝรั่งเศส (เรียกย่อว่าโครงการภูเพียงฯ) ได้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์และขบวนการผลิตกาแฟ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากล ที่ตั้งโครงการอยู่บ้านหลัก 35 (บ้านอีตู้) ซึ่งช่วงนั้นมีการปลูกกาแฟสายพันธุ์ โรบัสต้า (กาแฟกลาง) เป็นส่วนใหญ่ มีอาราบิก้า ทิปิก้า (กาแฟน้อยพื้นเมือง) เป็นส่วนน้อย
โครงการภูเพียงฯ ได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์คาติมอร์จากบราซิล เข้ามาทดลองปลูกที่ศูนย์วิจัยอีตู้แห่งนี้ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ซึ่งกาแฟพันธุ์นี้มีข้อดีคือ ต้นไม่สูงใหญ่ ทรงพุ่มเตี้ย กิ่งก้านแข็งแรง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ให้ผลผลิตเร็วภายหลังปลูกเพียง 2-3 ปี ให้ผลผลิตต่อต้นมากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยปลูกใน สปป.ลาว ราคาในตลาดโลกสูงกว่าโรบัสต้าใกล้เคียงกับทิปิก้า แม้จะมีข้อเสียบ้างคืออายุการเก็บเกี่ยวได้ราว 20-30 ปี ขณะที่โรบัสต้าและทิปิก้า สามารถเก็บเกี่ยวได้มากกว่า 50-60 ปี หรือหากตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมออาจให้ผลผลิตต่อเนื่องได้ถึง 100 ปี
แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของการปลูกคาติมอร์ เพราะสามารถวางแผนการปลูกชดเชย หรือทดแทนต้นที่ให้ผลผลิตต่ำ หรือไม่ให้ผลผลิตแล้ว เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อเนื่องระยะยาวนานได้ รัฐบาลจึงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ส่งเสริมให้ประชาชนปลูก จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ในปี 1989 ลาวได้มีการปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุนภายในและต่างประเทศฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิและประโยชน์แก่นักลงทุนมากขึ้น ทันสมัยขึ้น จึงมีโครงการส่งเสริมการลงทุนทำสวนกาแฟขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น บริษัท สีนุก บริษัท เดลต้า บริษัท อินทะวง รวมทั้งบริษัทดาวเรือง ฯลฯ ทำให้ปริมาณผลผลิตกาแฟเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมาเท่าตัว
ในช่วงก่อนปี 1995 (2538) ปริมาณผลผลิตกาแฟลาวเท่าที่จำได้ไม่เกิน 15,000 ตันต่อปี เปรียบเทียบกับข้อมูลจากสภาหอการค้าไทย ปี 2018 (2561) ผลผลิตกาแฟลาวทั้งหมดราว 30,000 กว่าตัน มูลค่าส่งออกเกือบ 70,000,000$ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มากกว่า 70% เป็นกาแฟอาราบิก้า คาติมอร์ รองลงมาเป็น โรบัสต้า (กาแฟกลาง) ส่วนอาราบิก้า ทิปิก้า (กาแฟน้อยพื้นเมือง) ที่มีปริมาณปลูกลดลงมาก จนระยะหลังๆ ชาวสวนมักจะขายปะปนไปหรือราคาเดียวกับกาติมอร์
หลังจากโครงการภูเพียงฯ เข้ามาแนะนำการผลิตกาแฟคุณภาพ ทำให้การผลิตกาแฟในยุคหลังจากนั้นได้มาตรฐานดีขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ ให้เลือกเก็บเฉพาะเมล็ดสุก แยกสายพันธุ์ไม่ปะปนกัน สีเอาเปลือกนอกออกเหลือเปลือกชั้นในสีขาว (เรียกว่าหมากขาว) ล้างและคัดเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งเนื่องจากเป็นเมล็ดลีบ การตากใช้ผ้าพลาสติกปูรองก่อน หรือตากบนแค่ไม้ไผ่ เมล็ดจะแห้งเร็วและสะอาด เมื่อแห้งดีวัดความชื้นไม่เกิน 15% ก่อนเก็บ การเก็บเป็นหมากขาวแห้งไว้รอราคาขาย เมื่อจะขายก็สีเปลือกขาวออก หรือบางตลาดก็รับซื้อแบบหมากขาว เป็นต้น
หลังจากนั้น ราคากาแฟลาวก็ค่อยๆ ยกระดับขึ้นทั้งมาตรฐานคุณภาพ การผลิตและผลผลิตทำให้ขายได้ราคามากขึ้น ในปัจจุบันราคากาแฟคุณภาพดีของลาวสามารถขยับมาตรฐานขึ้นถึงระดับพรีเมี่ยม (Premium Grade) อย่างไรก็ตาม ราคากาแฟในตลาดโลกมีความผันผวนขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจของโลก ด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน สภาพดินฟ้าอากาศ ภัยธรรมชาติ ปัญหาการเมือง ฯลฯ
เจ้ดาวเรือง เจ้าของอาณาจักร Dao Coffee
โรงงานแปรรูปกาแฟดาว หลัก 20 เมืองบาเจียง
ในยุคนั้น กาแฟดาว ของเจ้ดาวเรือง หรือ เจ๊ เดื่อง ลิดดั่ง คนลาวเชื้อสายเวียดนาม เจ้าของธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีด่านชายแดนลาว-ไทย เพิ่งจะหันมาทำโครงการปลูกกาแฟขนาดใหญ่ เนื้อที่หลายพันไร่ที่เมืองปากช่อง ราวปี 1998 ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์อาราบิก้า กาติมอร์ จนกระทั่งขยายกิจการทำลานตากขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอลหลายสนาม โรงงานผลิตกาแฟดาว เพื่อขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ตั้งอยู่ที่ กม.20 เมืองบาเจียง ใกล้สามแยกหลัก 21 (หลักซาวเอ็ด) ทางไปเมืองปากช่อง จนมีชื่อเสียงโด่งดังกลายเป็น Imager ของกาแฟลาว ภายใต้แบรนด์ DAO Coffee และ Signature ของลาวอย่างหนึ่งที่ หากพูดถึงลาว คนส่วนใหญ่จะคิดถึงเบียร์ลาว และกาแฟลาว หรือ กาแฟดาว ที่เคยมีการโฆษณากาแฟลาวชื่อแคมเปญ #เอิ้นดาวกะได้” กลายเป็นแฮทแท็กที่ฮิตที่ติดปากกันระยะหนึ่ง
เบียร์ลาว - กาแฟดาว #เอิ้นดาวกะได้
ช่วงหลังปี 2000 เศษ กลุ่มเสี่ยเจริญจากไทยเริ่มเข้าไปลงทุนโดยร่วมมือกับนักธุรกิจใหญ่ที่มีผู้ใหญ่สายแข็งวงใน สปป.ลาว สนับสนุนซึ่ง
เดิมเสี่ยเจริญเป็นเจ้าของโรงงานเหล้าขาวที่บ้านบางเยาะ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ที่ผู้เขียนเป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาลกลาง จนได้รับอนุญาตตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน เมื่อปี 1991 ในนามบริษัทพาณิชย์เจริญ ลาว-ไทย 1991 (เล่ามาแล้วในตอนที่ 1-2 )
ต่อมาได้ย้ายโรงงานเหล้าไปตั้งที่นิคมอุตสาหกรรม หลัก กม. 11-12 ทางไปเมืองปะทุมพอน (โครงการลงทุนของญี่ปุ่น) แล้วขอขยายเนื้อที่สัมปทานของโรงงานเหล้าเดิมที่มีราว 200 ไร่ (30 เฮคต้า) เป็นพันกว่าไร่แล้วเปลี่ยนประเภทการลงทุนเป็นโครงการสนามกอล์ฟแทนในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ราวปี 2010-2011 เสี่ยเจริญได้เข้าไปเทคโอเวอร์โครงการ ปากช่อง ไฮแลนด์ (Paksong High Land) เดิมเป็นโครงการเลี้ยงวัว และปลูกสนสองใบของนักลงทุนชาวไทยรายหนึ่ง เนื้อที่มากกว่า 500 เฮคต้า หรือ กว่า 3,000 ไร่ ใกล้ตีนภูเทวดา (จุดสูงสุดของเมืองปากช่อง)
ปัจจุบัน ทราบว่าได้ขอขยายเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกนับพันไร่ ในโครงการก็ปลูกกาแฟอาราบิก้า คาติมอร์ (Arabica Catimor) เป็นส่วนใหญ่ ทราบมาว่ามีการปลูกกาแฟเพื่อทดลองผลิตกาแฟขี้ชะมดด้วย
สวนกาแฟ Paksong High Land ของเสี่ยเจริญ
Arabica Typica -Ms.Theresa Kingston - Jhai Coffee Foundation _JCF & Mr.RogerGreen
Ms.Theresa Kingston & Mr.Roger Green ณ แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ราวปี 1999 ผู้เขียนมีโอกาสพบและรู้จักกับนักวิจัยสาวชาวสหรัฐอเมริกันโดยบังเอิญ ชื่อ Miss Theresa Kingston (ภาพบน) เพราะเธอได้เข้ามาใช้บริการถ่ายเอกสารและพิมพ์งานที่ร้าน PT Center ที่เมืองปากช่องของผู้เขียนหลายครั้ง จึงมีโอกาสพูดคุยกันจนสนิทสนมกัน ได้ทราบว่า Theresa มาทำงานวิจัยเรื่องกาแฟ อาราบิก้า ทิปิก้า (Arabica Typica) ที่เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก ของ มูลนิธิใจ (Jhai Coffee Foundation_JCF) ที่มี Mr.Lee Thorn* เป็นประธาน
กาแฟอาราบิก้า สายพันธ์ทิปิก้า ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบลาตินอเมริกาและอเมริกากลาง และที่รัฐฮาวาย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกของอเมริกา กาแฟสายพันธุ์นี้ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นกาแฟสายพันธ์ดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลกที่เจ้าพ่อกาแฟของโลกอย่าง Starbucks* ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกาแฟขายในอเมริกามานาน ปัจจุบันหายากมากแล้ว เพราะสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลผลิตลดลงมาก หลายพื้นที่ที่เคยปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้จึงหันไปปลูกสายพันธุ์อื่นแทน
Starbuck & Arabica Typica
ในระยะแรกๆ ที่ Theresa เข้ามาลาวใหม่ๆ ยังไม่มีล่ามประจำโครงการ ผู้เขียนจึงรับอาสาช่วยเหลือ โดยติดตามเธอไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ยังมีกาแฟ อาราบิก้า ทิปิก้า เช่น บ้านภูหมากนาว บ้านพูโอ่ย บ้านพูหมากก่อ รวมทั้งบ้านหนองหลวง ก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ยังอนุรักษ์กาแฟสายพันธุ์นี้อยู่จำนวนหนึ่ง
Mr.Lee Thorn ,The President of JCF
Mr.Lee Thorn ประธาน JCF* ในอดีตเคยเป็นทหารนาวิกโยธินอเมริกันที่เคยเข้ามา สปป.ลาว ในสมัยสงครามเวีตดนาม เป็นผู้ก่อตั้ง JCF เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้า ทิปิก้า ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ลาว กัมพูชา ลาว ไทย ท่านต้องการอนุรักษ์กาแฟสายพันธุ์นี้ไว้
มีข้อมูลในอดีตพบว่า กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ทิปิก้า เคยมีประวัติการนำเข้ามาปลูกที่เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสควบรวมดินแดนอินโดจีนเป็นอาณานิคม ( French Indochina Colonial Empire) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น สหภาพอินโดจีน* (Indochina Union) ในปี 2430 ประกอบด้วยเวียดนาม และเขมร ต่อมาในปี 2436 รวมเอาลาวเข้ามาภายหลังด้วย
The young Navy solder Lee Thorn อดีตนาวิกโยธินอเมริกัน สมัยสงครามเวียตนาม
ขอบเขตการสำรวจข้อมูลและศึกษาวิจัยของ Theresa นับแต่เรื่องพื้นที่ปลูก ปริมาณการปลูก ความเหมือนและแตกต่างของแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมของชาวสวน จุดอ่อน-จุดแข็ง คุณภาพการผลิตและผลผลิต ขบวนการเก็บเกี่ยว ตาก สี การเก็บรักษาผลผลิตก่อนแปรรูป การแปรรูป นโยบายการส่งเสริม สนับสนุนของรัฐบาล และสภาวะทางการค้ากาแฟของเมืองปากช่อง ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น
หลังจากสำรวจและศึกษาจนได้ข้อมูลรายละเอียดมากพอสมควรแล้ว ได้เริ่มทำลองรับซื้อ เพื่อรวบรวมผลผลิตคุณภาพ ทดสอบคุณภาพ แล้วสรุปผลการสำรวจและการวิจัย
การเก็บกาแฟที่สุกดี สีเป็นหมากขาว แล้วตากบนวัสดุรอง ป้องกันการปนเปื้อน
ในการทดลองซื้อผลผลิตพื่อศึกษาวิจัย Theresa ได้กำหนดหลักเกณฑ์กติกาอย่างเคร่งครัด เน้นรับซื้อเฉพาะเมล็ดกาแฟอาราบิก้า ทิปิก้า อย่างเดียว เพื่อให้ชาวบ้านเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และยอมรับว่าหากชาวบ้านร่วมมือและปฏิบัติตามกฎกติกาแล้ว จะสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่พอใจ เพื่อให้ปรับพฤติกรรมวิสัย (Habitual Behavior) ซึ่งแรกๆ ชาวบ้านบางรายก็มีการลองของโดยคิดว่าจะตบตาได้ เช่น การเก็บกาแฟผสมกันหลายชนิด เก็บหมากอ่อนผสมหมากแก่ปะปนกัน มีสิ่งเจือปน เข่น ใส่น้ำ หิน ทรายปนมาเพื่อเพิ่มน้ำหนักฯ เป็นต้น
แต่ปรากฏว่าวิธีการซื้อของ Theresa ต้องคัดเลือกอย่างเข้มงวด พิถีพิถันแทบจะเลือกคัดทีละเมล็ดกันเลย หากพบว่าคนใดมีเจตนาไม่สุจริตก็จะไม่ซื้อ ทั้งยังบันทึกประวัติไว้ไม่รับซื้ออีก แรกๆ ชาวบ้านหลายคนก็บ่นแสดงความไม่พอใจ แต่เป็นเพราะการไม่รักษากฎกติกาของตนเองที่ทางโครงการได้ประชาสัมพันธุ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงต้องยอมจำนนกับหลักฐาน
ขณะเดียวกันก็มีชาวสวนหลายคนที่ปฏิบัติได้ หรือพออนุโลมได้เพราะไม่มีเจตนา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะได้ราคาที่สูงกว่าการซื้อขายปกติทั่วไปถึง 3-4 เท่า หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงยอมรับ เชื่อมั่นและให้ความร่วมมือ
Theresa ทำงานอยู่ราว 1 ปี ในช่วงหลังๆ ที่มีล่ามคนลาวประจำโครงการ ชื่อ ท้าวอาริยา ผู้เขียนจึงไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานของ Theresa นัก แต่ก็พบปะพูดคุยกันปรึกษาหารือกันอยู่เสมอ พองานวิจัยสำเร็จและสรุปงานส่งมอบให้ JCF แล้ว Theresa ก็เดินทางกลับอเมริการาวต้นปี 2000
หลังจากนั้นไม่นานนัก ผู้เขียนได้รับอีเมลจาก Theresa ว่าได้แนะนำผู้เขียนกับ Mr.Lee Thorn ประธาน JCF เพื่อให้ช่วยดูแลโครงการในลำดับต่อไป เช่น แนวทางการบริหารจัดการ การให้ความรู้และคำแนะนำด้านการสร้างมาตรฐานคุณภาพการผลิตและผลผลิต รวมถึงการรับซื้อกาแฟเพื่อส่งออกไปอเมริกา แต่ช่วงนั้นผู้เขียนไม่สะดวกเพราะต้องเดินทางเข้า-ออกระหว่างไทย ลาว อยู่เสมอ จึงปฏิเสธความหวังดีครั้งนั้นด้วยความเสียดายยิ่ง
ต่อมา Mr.Lee Thorn ได้แต่งตั้งให้ท้าวอาริยะ ล่ามคนลาวเป็นผู้ดูแลไปพลางก่อน จนกว่าจะมีผู้บริหารของมูลนิธิฯ จากอเมริกามาดำเนินงานต่อ ซึ่งทราบว่าต่อมามีการรับซื้อกาแฟส่งออกไปอเมริกาต่อเนื่องมาหลายปี โดยให้แต่ละหมู่บ้านรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ชาวสวนกาแฟ ชื่อ Jhai Coffee Farmer Cooperative (JCFC) โดยมีว่าคำขวัญว่า “สหกรณ์การค้าที่เป็นธรรม” หรือ Fair Trade Cooperative _FTC เคยมีการส่งผู้นำสหกรณ์ FTC หลายคนไปทัศนศึกษาดูงานการผลิต และการตลาดกาแฟในสหภาพยุโรป ( European Union _EU) ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี่ด้วย
ผู้นำสหกรณ์ JCFC ทัศนศึกษาการค้ากาแฟ ณ Venice ,Italy.
ต่อมา JCF ก็ขยายการรับซื้อกาแฟทุกชนิดของเมืองปากช่อง เพื่อส่งออกไปอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีด้วย เพราะปริมาณกาแฟอาราบิก้า ทิปิก้า มีจำนวนน้อยไม่คุ้มค่าการขนส่ง
จากเหตุการณ์นี้เช่นกัน ที่มีส่วนทำให้กาแฟ อาราบิก้า ทิปิก้า เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก กลับมาเป็นที่รู้จักแพร่หลายโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง จนเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ทำให้มีราคาสูงกว่ากาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งผลงานวิจัยของ Theresa ยืนยันว่าเป็นกาแฟคุณภาพชั้นยอดเทียบเท่ากับระดับเดียวกับสุดยอดกาแฟอันดับ 1-10 ของโลก และเป็นแรงบันดานใจชาวสวนกาแฟของเมืองปากช่อง พยายามยกระดับและรักษามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพระดับสากลมาจนถึงปัจจุบัน
“เหตุการณ์ที่เล่ามาข้างต้นเป็นการเข้าไปบ้านหนองหลวงเป็นครั้งแรกของผู้เขียน”
ติดตามต่อตอนที่ 5 #จุดเริ่มต้นของการสำรวจแหล่งท่องเที่ยว บ้านหนองหลวง เมืองปากช่อง
ของผู้เขียน
ปล.ภาพส่วนใหญ่ที่นำมาเผยแพร่ในบทความนี้ เป็นภาพที่ผู้เขียนบันทึกไว้เอง ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ มีหลายภาพที่มีผู้นำไปเผยแพร่ แต่อาจมีบ้างที่นำมาจากอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ทราบเจ้าของภาพแน่ชัด แต่เชื่อว่าเจ้าของภาพจะยินดีให้เผยแพร่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย อีกทั้งมิได้มุ่งหวังประโยชน์ทางการค้าหากำไร จึงขออภัยและขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
อ้างอิง
- กาแฟคุณภาพดีที่สุดแพงที่สุด 10 อันดับของโลกhttps://undubzapp.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9F-%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81/
โฆษณา