25 พ.ย. 2020 เวลา 16:23 • ไลฟ์สไตล์
ฮ่อมกับคราม ความเหมือนที่แตกต่าง
หม้อฮ่อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ....
ครูประถมบอกเราท่องจำให้ขึ้นใจ เราท่องได้ แต่ไม่ค่อยจะอินเท่าไหร่ คำขวัญเมืองผ่าน เอ้ย เมืองแพร่ ที่จริงแล้วเมืองแพร่มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ใช่เมืองผ่านไปน่าน อย่างที่หลายคนเข้าใจ วันนี้จะชวนคุยถึง หม้อฮ่อม หรือผ้าเมืองท้องถิ่นของชาวไทพวน ซึ่งอพยบมาจากประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360 -2380) มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านทุ่งโฮ้ง และได้นำเอาการย้อมฮ่อม และตีนจก ซึ่งถือว่าเป็นวิถีชีวิตชายตีเหล็ก หญิงทอผ้ามาด้วย วัฒนธรรมดังกล่าวสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หม้อฮ่อม และผ้ามัดย้อมเป็นงานหัตกรรมส่งออกที่ทรงคุณค่า มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ
เหตุผลหลักในการเขียนครั้งนี้มี 3 ประการด้วยกันคือ 1 มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฮ่อมและครามว่าทั้งสอง คือพืชชนิดเดียวกัน และ 2 เรามีความนิยมชมชอบในผ้าพื้นเมืองมาก และ 3 ทำอย่างไรจึงจะสืบสานงานหัตถศิลป์นี้อย่างยั่งยืน
ถึงแม้จะใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการย้อมผ้าดิมเหมือนกัน สีที่ได้มีความใกล้เคียงกัน แต่แท้จริงแล้วฮ่อมและครามต่างกันอย่างมากเพราะเป็นคนละจีนัสกัน ฮ่อมหรือ ห้อม (Strobilanthes cusia (Nees) Bremek.) เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีความสูง ประมาณ 1.50 เมตร รูปร่างของใบเป็นแบบหอกกลับ ปลายแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกสีม่วง ออกเป็นช่อ เจริญเติบโตได้ดีในป่าดิบชื้นพื้นที่ที่มีแสงรำไร และไม่ชื้นแฉะ พบมากที่จีน เวียดนาม พม่า ลาว และไทย ส่วนคราม (Indigofera tinctoria L.) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กอยู่ในวงศ์ Leguminosae หรือพืชตระกูลถั่ว ฝักตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อสีชมพู ทั้งฮ่อมและครามถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้าดิบซึ่งจะมีขั้นตอนและวิธีการย้อมที่คล้ายคลึงกัน แต่ใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไปโดย การย้อมครามที่มีชื่อเสียงจะพบที่จังหวัดสกลนคร ส่วนการย้อมฮ่อมเป็นที่นิยมมากกว่า จากการศึกษาการหมักใบฮ่อมเพื่อทำโคลน (ก้อน) สีฮ่อมนั้นในการหมักใช้ใบสดในปริมาณน้ำหนักเท่ากันกับต้นคราม ต้นฮ่อมสามารถให้ปริมาณก้อนสีมากกว่าครามถึง 3-4 เท่า จึงเป็นที่นิยมมากกว่า
พืชทั้งสองชนิดนี้มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้ประโยชน์ เคียงคู่วัฒนธรรมชาวล้านนาและชาวที่ราบสูง ทั้งฮ่อมและคราม ถือเป็นยาเย็นนำมาใช้ในการลดไข้ โดยนำต้นสดๆ มาทุบพอกหัวจะช่วยลดไข้ได้ดี เอาใบและรากมาต้ม ดื่มแล้วช่วยลดไข้ แก้เจ็บคอ แก้ทอมซิลอักเสบ ใบและลำต้น นำไปต้มดื่มแก้อาการท้องร่วง ไม่เพียงเท่านั้น ฮ่อมยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส (HIV) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเอดส์ นอกจากนี้นำมาทำเป็นส่วนผสมของสบู่ สีย้อมผม แชมพูสระผม หรือจะปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับก็ได้เพราะมีใบและดอกที่สวยงาม
อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราเองเป็นคนชอบผ้าพื้นเมืองมาก ชอบดูเพราะมีความสวยงามเหมือนเป็นงานศิลปะ ยิ่งมีปักลายด้วยแล้วถือว่าเป็นงานหัตถศิลป์เลยก็ว่าได้ ยิ่งมีรายละเอียดประณีตมากเท่าใดก็มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากดูแล้วยังชอบใส่ เราจะใส่ผ้าเมืองทุกวันศุกร์เนื่องจากมหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็นวันที่แสดงถึงการสืบสานศิลปะและวัฒนธรรม เนื้อฝ้ายสามารถระบายอากาศได้ดี ช่วยให้สวมใส่สบายไม่อับชื้น ป้องกันยูวี มีฤทธิ์ยับยั้ง ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โดยฮ่อมที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค แต่ไม่ว่าจะย้อมฮ่อมหรือย้อมคราม ก็สวยด้วยกันทั้งคู่ สีคราม (indigo blue) เป็นน้ำเงินเฉดเข้ม ดูภูมิฐาน สุขุม และสง่างาม และสิ่งที่ทำให้เราชอบมากที่สุดก็คือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิต
ในปัจจุบันการออกแบบเสื้อผ้าค่อนข้างมีความหลากหลาย และดูทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ประกอบกับพื้นที่ป่าลดลงทำให้ฮ่อมที่ขึ้นในธรรมชาติเหลือน้อยลง จึงต้องนำเข้าฮ่อมสดจากประเทศเพื่อนบ้าน และด้วยการปลูกต้นฮ่อมยังมีข้อจำกัดในสภาพพื้นที่ปลูก จำเป็นที่ต้องปลูกในพื้นที่สูงตามภูเขาที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี อีกทั้งผู้ปลูกขาดความเข้าใจต่อการพัฒนาหาแหล่งปลูกที่เหมาะสมจนทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตผ้าหม้อฮ่อม ทำให้มีการนำสารเคมีมาใช้ย้อมผ้าทดแทนฮ่อม ส่งผลกระทบต่อผู้สวมใส่ที่แพ้สารเคมี ส่วนน้ำย้อมที่เหลือจากการย้อมผ้าซึ่งมีความเป็นพิษจะปนเปื้อนในดินและน้ำ ทำให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมได้ ความท้าทายในอนาคตของอุตสาหกรรมผ้าหม้อฮ่อมคือ ทำอย่างไรที่จะตอบสนองความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าคราม จะให้ปริมาณก้อนสีน้อยกว่าฮ่อม ในวิตถุดิบที่เท่ากัน และมีเทคนิควิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า แต่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ภาพลักษณ์ที่ดีจะช่วยส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ดังเช่นที่จังหวัดสกลนคร ได้รับการรับรองจาก สภาหัตถศิลป์โลก (World crafts council เป็นนครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ ทั้งนี้ยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: Geographical indication) ของจังหวัดอีกด้วย แต่หากไม่ใช้พืชทดแทน ก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิต และ การจัดการการปลูกเพื่อผลิตเชิงธุรกิจซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อจะได้คงความเป็นเอกลักษณ์ของการใช้ฮ่อมย้อม หากสามารถบริหารจัดการการผลิตผ้าหม้อฮ่อมด้วยภาพพจน์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว เชื่อแน่ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเกิดความยั่งยืน
โฆษณา