30 พ.ย. 2020 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
สวัสดีเช้าวันจันทร์ชาว Futurist ผู้สนใจในศาสตร์แห่งอนาคตศึกษาทุกท่าน
สัปดาห์นี้เรายังคงอยู่กับบทความในซีรี่ส์ VUCA world ที่กล่าวถึงโลกในยุคของความผันผวน ความไม่แน่นอนความซับซ้อนและความคลุมเครือ โดยวันนี้เราจะพาท่านไปเจาะลึกถึง U ที่แทนความหมายของ Uncertainty หรือความไม่แน่นอน ถึงลักษณะสำคัญ และแนะนำวิธีการเรียงลำดับ “ความไม่แน่นอน (Uncertainty)” เพื่อนำไปสู่แนวทางการวางกลยุทธ์
มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันว่า ยิ่งไม่แน่นอน ยิ่งคาดเดาได้ยากจริงหรือไม่ แล้วนักอนาคตศาสตร์ต้องบริหารจัดการความไม่แน่นอนอย่างไรให้เท่าทันกับสถานการณ์โลก
ยิ่งไม่แน่นอนยิ่งคาดเดายากจริงหรือ?
ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้ยากในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ เพราะไม่มั่นใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในบทความก่อนกล่าวถึงความหมาย ผลกระทบและวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่มีความผันผวน (Volatility) ในบทความนี้จะกล่าวถึงสถานการณ์ที่สองของ vUca World หรือเรื่องของความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ความไม่แน่นอน คือ สถานการณ์ที่ยากจะคาดเดาว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ไม่มีข้อมูลหรือได้รับข้อมูลจำนวนมากเกินไป ไม่รู้ว่าต้องตอบสนองกับสถานการณ์อย่างไร รวมถึงไม่ทราบผลลัพธ์ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทราบว่าสาเหตุและผลกระทบที่ก่อให้เกิดสถานการณ์นั้น มีผลทำให้เกิดการชะงักหรือชะลอของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตและโอกาส
จินตนาการตามง่ายๆ อย่างเรื่องที่ว่าถูกในสมัยก่อน แต่กลับกลายเป็นผิดในปัจจุบัน เช่น ความเชื่อในหลายๆประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือทางตอนใต้ของไนจีเรีย เรื่องต้องฆ่าเด็กฝาแฝดทิ้งหนึ่งคน ไม่เช่นนั้นจะนำพาความโชคร้ายมาสู่ครอบครัว หรือในทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ความไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะตอบสนองอย่างไรกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของคู่แข่งทางการค้า ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะกระทบต่อยอดขายสินค้าของตนเอง อย่างกรณีอุตสาหกรรมรถแท็กซี่ Uber เป็นต้น
แนวทางการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวสามารถทำได้โดยอาศัยความเข้าใจ (Understanding)
ในโลกที่มีความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อสร้างความเด็ดขาดแน่วแน่ต่อการตัดสินใจสิ่งต่างๆ เป็นแนวทางแก้ไขสถานการณ์ความไม่แน่นอน ซึงความไม่แน่นอนมีทั้งหมด 4 ระดับ แบ่งเป็นอนาคตที่ชัดเจน อนาคตหลายทางเลือก อนาคตที่มองเห็นได้คร่าวๆ และอนาคตที่คลุมเครืออย่างแท้จริง ความไม่แน่นอนทั้งหมดล้วนสำคัญต่อการวางแผนเชิงกลยุทธ์
ระดับแรก อนาคตที่ชัดเจน เช่น การวิเคราะห์ความสามารถของคู่แข่งทางการค้า การวิเคราะห์ต้นทุน หรือความพยายามในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด
ระดับที่สอง อนาคตหลายทางเลือก เช่น การพิจารณา ดูแล คำตัดสินทางกฎหมาย
ระดับสาม อนาคตที่มองเห็นได้คร่าวๆ เช่น อัตราการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อุปสงค์ของสินค้าหรือบริการใหม่ๆ
ระดับสี่ อนาคตที่คลุมเครืออย่างแท้จริง เช่น วิวัฒนาการของตลาดที่เพิ่งเริ่มก่อตัว
สรุป ในฐานะของผู้นำองค์กร การสื่อสารกับพนักงานทุกระดับให้เข้าใจถึงวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกันคือสิ่งสำคัญในการเผชิญหน้ากับสภาวะความผันผวน แต่ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ผู้นำจะต้องใช้ความเข้าใจเพื่อแสวงหาโอกาสให้กับองค์กร หาเงื่อนไขหรือปัจจัยที่สามารถนำองค์กรไปสู่เป้าหมายได้
บทความโดย
สิริมา มหาเวทศาสตร์
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage : FuturISt@NIDA
Tel: 0803487505
โฆษณา