1 ธ.ค. 2020 เวลา 07:55 • ประวัติศาสตร์
บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษและกำเนิดเครื่องดื่มน่าอภิรมย์
ชีวิตอภิรมย์ของลูกจ้างบริษัท
น่าสงสัยทีเดียวว่า เหล่าลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษจำนวนหลายร้อยคน
เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลบ้าง พลัดที่อยู่อาศัยบ้าง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายบ้าง ฯลฯ เหล่านี้มีชีวิตกันอย่างไรในสมัยนั้น ลองมาดูกันว่าชีวิตของลูกจ้างบริษัทใหญ่ๆ ในเวลา
สองสามร้อยปีก่อนจะเหมือนกับในปัจจุบันหรือไม่
ก่อนอื่นยุคสมัยก่อนศตวรรษที่ 21 ของเรานั้นต้องยอมรับ ผู้คนไม่ได้มีชีวิตใน
ลักษณะ 'คลีน' อย่างพวกเราสมัยนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่าดำเนินควบคู่กับชีวิตของคนมาโดยตลอด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ยิ่งชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความ
เคร่งเครียดอย่างลูกจ้างของบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ แน่นอนว่าย่อมจะต้อง
อาศัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเหล้า เป็นเครื่องประทังชีวิตไม่มากก็น้อยทีเดียว
มีข้อมูลว่า ความเจ็บป่วยของลูกจ้างบริษัททั้งหมดนั้น หนึ่งในสามเป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับตับเป็นหลัก มีหลายเหตุผลอยู่เหมือนกันว่าทำไมคนดื่มเหล้ากันมาก
เช่นนี้ เหตุผลประการหนึ่งน่าฟังอยู่เหมือนกันนั่นคือ ในเวลานั้นน้ำดื่มสะอาดและมี
คุณภาพหาได้ยากมาก และความเชื่อโดยทั่วไปคือแอลกอฮอล์นั้นช่วยฆ่าเชื้อโรคได้อย่างชะงัด
ส่วนอีกเหตุผลก็คงจะมาจากการงานนั่นเอง สภาวะความน่าเบื่อที่จะต้องทำงานซ้ำๆ หรือสภาวะความเครียดของการทำงาน เหล่านี้ต่างก็นำไปสู่การใช้ 'เหล้าย้อมใจ'
ทั้งนั้น เหล้าส่วนใหญ่ที่บริโภคกันก็จะมี 'อารัค' (Arrack) ซึ่งทำด้วยข้าว เมล็ดพืช
หรือน้ำตาลเมาที่เรียกว่า 'toddy' ซึ่งมีราคาถูกแต่ดีกรีแรงถึงใจ ท่าการค้าหลาย
แห่งก็เป็นที่รู้กันในหมู่พ่อค้าว่ามีโรงเหล้ามากมาย อย่างท่าที่กวางโจว ตรอกฮอก 'Hog Lane' ก็เป็นที่โด่งดังของเหล่าพ่อค้า
ยิ่งถ้าเป็นเหล่าทหารของบริษัทยิ่งเป็นพวกคอทองแดง ทหารที่เข้ายามกลางคืนจะมี
เหล้าสองขวดประจำกายตลอดคืน นี่หากมีงานเลี้ยงก็ยิ่งหนักข้อ มีงานเลี้ยงหนึ่งมี
ผู้เข้าร่วม 14 คน แต่สามารถจัดการเหล้าได้ 42 ขวด!
เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มปกติ ประโยคที่ว่ากันว่า 'ดื่มเบียร์เป็นน้ำ' นี้มีมูลความจริง
เป็นอย่างยิ่งในกรณีของบริษัทนี้ เนื่องจากเบียร์ถือเป็นน้ำดื่มที่ปลอดภัยที่สุด เนื่อง
จากผ่านการต้มกลั่นเป็นที่เรียบร้อย กองเรือค้าขายของบริษัทจึงมีเบียร์ติดไปเป็น
จำนวนมากเพื่อเอาไว้บริโภคแทนน้ำ
กำเนิดอินเดียเอล
เบียร์ประเภทหนึ่งที่มักจะนำลงเรือไปด้วยคือ 'พอร์เตอร์' (Porter) ดำเข้ม และเอาไว้สำหรับเดินทางไปค้าขายตามท่าต่างๆ สมชื่อ แต่พอยิ่งบริษัทต้องค้าขายกับดินแดนในเขตร้อนมากขึ้น การดื่มพอร์เตอร์ที่เคยได้รับความนิยมก็ไม่ค่อยอร่อยนัก
เพราะอากาศร้อนไม่เหมาะกับการดื่มพอร์เตอร์
ดังนั้นการปรุงเบียร์จึงพยายามหาสูตรเบียร์ที่เบาลง และมาลงตัวกันที่ 'อินเดีย เอล' (India Ale) ซึ่งอ่อนกว่าและซ่ากว่าพอร์เตอร์ โดยมีผู้เสนอว่าเริ่มต้มกันในปี
ค.ศ. 1752 โดยนักต้มเบียร์ชาวลอนดอนนาม 'จอร์จ ฮอดจ์สัน' ซึ่งมีโรงบ่มเบียร์อยู่
ใกล้ๆ ที่ทำการของบริษัทอินเดียตะวันออกนี่เอง
.
ในที่สุดอินเดียเอลก็ติดตลาด ในปี ค.ศ. 1800 โรงบ่มเบียร์ของนายฮอดจ์สันส่ง
เบียร์อินเดียเอลไปกับเรือ ไปสำหรับการบริโภคของผู้ที่อยู่ทางเขตร้อนกว่า
พันบาร์เรล และอีกเพียงสิบกว่าปีถัดมาตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า! ทั้งนี้เพราะการค้าที่เฟื่องฟูทำให้ภาษีการส่งลดลง การส่งเบียร์ไปกัลกัตตาเสียค่าธรรมเนียมและภาษี
เท่ากับที่ส่งไปเอดินเบอเรอะ
ความสำเร็จของอินเดียเอลก็ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภันฑ์ จนในที่สุดเกิด
'เพล เอล' (Pale Ale) และมีผู้พยายามพัฒนาสูตรนี้ต่อไป กระทั่งถึง
'นายจ๊อบ กูดเฮด' (Job Goodhead) ก็ได้ต้มเบียร์ด้วยสูตรหนึ่งที่เขาเรียกว่า
'อินเดียเพลเอล' (India Pale Ale) หรือที่เรียกย่อว่า 'ไอพีเอ' (IPA) อันเป็นที่โด่งดัง
จนถึงทุกวันนี้
โอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ดึงดูดให้นักธุรกิจหัวใสหลายรายพยายามหาส่วนแบ่งให้ได้ ตัวอย่างเช่น 'นายวิลเลียม เบทแมน' (Willliam Bateman) ก็ประมูลเอาสัมปทาน
การส่งเบียร์ให้แก่กองทัพอินเดีย ซึ่งก็ทำกำไรให้เขาได้อย่างงดงาม
เหล้าจินผสมโทนิค
มีน้อยคนที่จะรู้ว่า การผสมจินและโทนิคก็มีที่มาจากบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ
เช่นเดียวกันโดยเหล้าจินจะมีกลิ่นของสนจูนิเปอร์(Juniper) แรกสุดถูกใช้เป็นยา แต่ต่อมาก็มีการดื่มกันอย่างแพร่หลายแข่งกับเบียร์ เพราะราคาของเหล่าจินนั้นถูกมาก
ในที่สุดจินก็ถูกส่งไปกับเรือค้าขายที่มุ่งไปทางตะวันออกทั้งหลาย และยิ่งอยู่ในเรือมีการบ่มไปด้วยในตัว รวมทั้งคลื่นลมที่ทำให้การบ่มออกฤทธิ์ออกชาติพิเศษ ร่วมเข้ากับอากาศร้อนของอินเดีย ทั้งหมดนี้ก็เลยทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เหล้าจินที่มีรสชาติและ
กลิ่นเฉพาะตัวเรียกว่า 'อีสต์อินเดียจิน' (East India gin)
การกระดกจินเพียวๆ ได้รับความนิยมไปสักพักก็เสื่อมลง เพราะแทนที่จะเป็นยากลับทำให้ผู้ดื่มสุขภาพย่ำแย่ลงไป จึงมีการนำเอาน้ำโทนิคอินเดียเข้าผสม น้ำโทนิคนี้มี
ส่วนผสมของเปลือกไม้ cinchona จากอเมริกาใต้ ซึ่งมีตัวยาสำหรับนำไปใช้ทำยา
ควินิน ซึ่งป้องกันโรคมาลาเรียได้
คราวนี้การดื่มจินจึงกลับมาใหม่พร้อมกับการผสมน้ำโทนิค พร้อมทั้งความเห็นทั่วไปว่า เครื่องดื่มนี้สามารถป้องกันมาลาเรียได้ เพราะในเขตร้อนตั้งแต่อินเดียยาวไปจนถึงสิงคโปร์ โรคมาลาเรียถือเป็นภัยถึงตายได้
ในที่สุดจึงมีการนำต้น cinchona จากอเมริกาใต้มาปลูกในอินเดียด้วยเป็นผล
สำเร็จ สุดท้ายจินผสม โทนิคจึงกลายเป็นเครื่องดื่มแห่งจักรวรรดิอังกฤษไปโดย
ปริยาย สำหรับเจ้าหน้าที่อาณานิคมที่ต้องการความตื่นตัวกลางแดดจ้า
จินและโทนิคเป็นคำตอบสำหรับพวกเขาเป็นความอภิรมย์ท่ามกลางอากาศร้อน
เรื่อง : ปรีดี หงษ์สต้น
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
โฆษณา