Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยาม Siam
•
ติดตาม
1 ธ.ค. 2020 เวลา 17:32 • ประวัติศาสตร์
ปฐมบทที่๑ : ประวัติพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช
พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช
ชาติภูมิ
พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีนามเดิมว่าบุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ ๑ ได้ ๑ วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ ๒ และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ ๓ เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง ๓ วัน ได้เลื่อนชั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ ๒ เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบท่านจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 (ชั้นสูงสุด) ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ และได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบจมราชูทิศ) พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดต้องออกจากโรงเรียนมาพักรักษาตัวประมาณปีกว่า เมื่อหายเป็นปกติจึงคิดกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิม แต่ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และปีที่ ๓ กันหมดแล้ว ท่านจึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ โดยไปพักอยู่กับท่านพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงน้าที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) ท่านเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ได้เลขประจำตัว บ.บ. ๑๔๓๐ ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ท่านได้เรียนวิชามวย, ยูโด และยิมนาสติกด้วย จนมีความชำนาญในเชิงมวย ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงน้า (พระปลัดพลับ) ตั้งใจจะให้เรียนแพทย์ แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับมาถึงที่พักห้องพักโดนโจรงัดและเอาของไปหมด ทำให้ท่านเปลี่ยนใจมาเรียนตำรวจ เพราะต้องการจะปราบโจรผู้ร้าย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ (The Crocodile Creek Royal Police Cadet Academy) จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ ๕ ปี สำเร็จหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๗๒
4
พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช
ประวัติการทำงาน
หลังจากจบการศึกษาแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา เป็นนักเรียนทำการอยู่ ๖ เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไปเพราะมีฝีมือการปราบปรามที่เฉียบขาด โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญ ๆ เช่น เสื้อกลับ ดำทอง แห่งเมืองตรัง หรือเสือกลับ ๓๐๐ (เป็นฉายาเพราะมีรางวัลนำจับ ๓๐๐ บาท, เสือสังหรือเสือพุ่ม แห่งเมืองลุง เสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง หลังจากนั้นต่อมาอีก ๑ ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่น ๆ อีก ๑๖ คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบท่านจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช" และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุได้ ๓๓ ปี ได้รับเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจโท ท่านเล่าว่า "สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มีนายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นเจ้าพระยาศรีสุรเสนาไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรี พลตำรวจเผือก ชูด้วง ได้รับแต่งตั้งเป็นบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัลนำจับ ๔๐๐ บาท และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ ๑ พรรษา จึงลาสิกขาออกมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ย้ายไปเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายได้หลายราย เช่ย เสือสา เสือเอิบ เป็นต้น ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา ได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายที่สำคัญ ๆ คือ เสือโน้ม ทำให้ได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ที่นี้ได้ปะทะกับโจรร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น
1
พระบรมราชโองการโปรดเกล้าเป็นขุนพันธรักษ์ราชเดช
ย้ายกลับพัทลุง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงขุนพันธ์รักษ์ราชเดช นายตำรวจมือปราบ เพราะได้เห็นฝีมือมาแล้วจึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจโดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพัทลุงขอตัวท่านกลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย ทางกรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ท่านจึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญ ๆ สิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่น นอกจากงานด้านปราบปราม ซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศ เป็นพันตำรวจโทในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านอยู่พัทลุงได้ ๒ ปีเศษ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่ง หน้าที่มากมาย ในด้านชีวิตครอบครัวท่านมีภรรยา ๒ คนคือนางเฉลา พันธรักษราชเดช และนางสมสมัย พันธรักษราชเดช มีบุตรด้วยกัน ๑๒ คน ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และใกล้เคียงต่างเคารพรัก ยกย่องนับถือท่านเป็นอย่างมากด้วยเหตุที่ท่านเป็นนายตำรวจที่มีใจเด็ดเดี่ยว และเก่งกล้าด้านคาถาอาคม ปราบโจรผู้ร้ายที่ไม่เคยมีผู้ใดปราบได้จนสยบราบคาบ ครั้งหนึ่งเคยมีคำขวัญอันคมคายของกรมตำรวจอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" นี่เป็นถ้อยคำที่เกิดขึ้นในยุคอัศวินแหวนเพชรเฟื้อง ในสมัยของท่านอธิบดีฯ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ปกครองกรมตำรวจ วีรบุรุษผู้สร้างเกียรติประวัติให้กรมตำรวจนั้นมีอยู่มากมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่ในยุคสมัยที่ท่านอธิบดีกรมตำรวจหลวงอดุลย์เดชจรัสนั้นนามของ "ขุนพันธรักษ์ราชเดช" ระบือลือลั่นสุดยอดแผ่นดินด้ามขวานทอง แม้ท่านขุนพันธ์จะปลดเกษียณราชการไปนานปี แล้วก็ตามแต่ชื่อของท่านยังอยู่ในความทรงจำของกรมตำรวจและประชาชนทั่วไป นั่นเป็นเพราะผลงานอันน่าอัศจรรย์ของท่านกลายเป็นผลงานอันยากยิ่ง ที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ควรค่าแก่การบันทึกและจดไว้ในประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนเมืองใต้และคนของแผ่นดิน พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นราษฏรสุดท้ายของประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานทินนามว่าขุน ท่านถึงแก่อนิจกรรมด้ายโรคชรา ในวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ เวลา ๒๓.๒๗ น. ที่บ้านเลขที่ ๗๖๔/๕ ซอยราชเดช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ ๑๐๓ ปี
1
พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชกับพ่อท่านคล้าย
References :บรรณานุกรม
เกจิเมืองสยาม. (2561). ประวัติท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช. สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61, จาก
http://zeanpra.blogspot.com/2016/07/blog-post.html
ข่าวดังข้ามเวลา : ขุนพันธ์...มือปราบสะท้านแผ่นดิน. (2561). สืบค้นวันที่ 20 ก.ย. 61
เรียบเรียงโดย :สยาม siam
สามารถให้กำลังใจโดยกดกดไลค์กดแชร์และกดติดตามได้นะครับ ขอบพระคุณครับ
18 บันทึก
26
1
4
18
26
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย